นักสิทธิมนุษยชน: มาตรา 44 เป็นปัญหาต่อสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย
2017.03.08
กรุงเทพฯ

ในวันพุธ (8 มีนาคม 2560) นี้ นักสิทธิมนุษยชน ได้ร่วมอภิปรายปัญหาสิทธิและเสรีภาพในประเทศไทย โดยระบุว่า การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 และการจำกัดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ยังเป็นประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชนที่สำคัญของประเทศไทยภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร
การอภิปรายปัญหาและข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยครั้งนี้ จัดขึ้นก่อนที่รัฐบาลไทยจะส่งตัวแทนไปร่วมประชุม “กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง” (ICCPR) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-14 มีนาคม 2560 ที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ โดยอภิปรายภายใต้หัวข้อ “ภารกิจที่ยังไม่บรรลุเป้าหมาย: ความสอดคล้องในการปฏิบัติของรัฐบาลไทยต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง” จัดโดยองค์กรฟอร์ตี้ฟายไรต์ (Fortify Rights) ที่สมาคมนักข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย
นายสุณัย ผาสุข จากองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ หนึ่งในผู้ร่วมอภิปรายกล่าวว่า มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เป็นหนึ่งในกฎหมายสำคัญที่รัฐบาลไทยควรแก้ไข เพราะเป็นรากฐานของปัญหาสิทธิมนุษยชนที่กำลังดำเนินอยู่ในประเทศไทย
“สิ่งที่รัฐบาลไทยสามารถแสดงท่าทีให้เป็นรูปธรรม เพื่อไปชี้แจงต่อเวทีไอซีซีพีอาร์คือ ควรประกาศยุติการใช้อำนาจตามมาตรา 44 และทบทวนการบังคับใช้ประกาศและคำสั่งที่ออกมาภายใต้มาตรา 44 อันนั้นจะเป็นการแสดงความมุ่งมั่นที่จะปฎิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิทางการเมือง” นายสุณัยกล่าว
“รวมถึงเป็นการยืนยันว่ากระบวนการโรดแมปเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยโดยพลเรือน เพราะตราบใดที่ประเทศยังอยู่ภายใต้การใช้อำนาจที่กว้างขวาง ตรวจสอบ และเอาผิดไม่ได้ของคนเพียงคนเดียว มันไม่ใช่สัญญาณที่ดีว่าประเทศนั้นเตรียมตัวไปสู่ประชาธิปไตย” นายสุณัยกล่าวเพิ่มเติม
นางอังคณา นีละไพจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า รัฐบาลได้พยายามสร้างกฎหมายที่ดี เพื่อแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชน เช่น พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย แต่ยังมีปัญหาหลายข้อที่น่ากังวลอยู่ โดยเฉพาะการใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่โดยขาดความรู้
“กรรมการสิทธิเองกังวลในเรื่องของการปฎิบัติตามกฎหมาย แม้เราจะมีกฎหมายที่ดี แต่ว่าบางครั้งการปฎิบัติของเจ้าหน้าที่ที่ขาดความรู้ความเข้าใจก็ยังทำให้เกิดปัญหา เรากังวลเรื่องการใช้กฎหมายพิเศษ เรากังวลเรื่องการสอบสวนคดีการซ้อมทรมานโดยใช้กำลังที่เกิดกว่าเหตุ และเรากังวลเรื่องของการส่งตัวไปยังประเทศต้นทางที่อาจเป็นอันตราย” นางอังคณากล่าว
น.ส.สุธารี วรรณศิริ จากองค์กรฟอร์ติฟายไรท์ กล่าวว่า ยังพบประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชนหลายเรื่องในปี 2559 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการละเมิดสิทธิการแสดงความคิดเห็น และการแสดงออกที่ถูกจำกัดสิทธิ ด้วยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เลขที่ 3/2558 และ 13/2559
“ประเด็นที่เรากังวลเป็นพิเศษคือ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเข้าตรวจค้นและจับกุมผู้ต้องสงสัยโดยไม่ต้องใช้หมายศาล ซึ่งเป็นคำสั่งที่ขัดแย้งต่อกฎหมายปกติ และข้อตกลงสากล รวมทั้งการที่เจ้าหน้าที่สามารถกักตัวผู้ต้องสงสัยได้ถึง 7 วัน ในที่ซึ่งไม่ใช่สถานที่ควบคุมตัวแบบปกติ” น.ส.สุธารีกล่าว
ด้าน น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวในฐานะตัวแทนรัฐบาลว่า ปัญหาที่นักสิทธิมนุษยชนตั้งคำถามหรือแสดงความกังวลทุกปัญหานั้น รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจ และได้นำเอาไปประชุมเพื่อหาวิธีแก้ไขเช่นกัน เพียงแต่จำเป็นต้องใช้เวลาในการหาทางออกของปัญหา
“ร่าง พ.ร.บ.ต่อต้านการอุ้มหายโดยไม่สมัครใจ ที่ทุกคนบอกว่าตกไปแล้ว จริงๆ ยังไม่ตก ต้องเรียนว่ารัฐบาลให้ความสำคัญเป็นกฎหมายสำคัญลำดับที่ 18 เพียงแต่ว่า วิป สนช.กำลังศึกษา ก็มีข้อคิดเห็นให้มีการปรับปรุง และแก้ไขเพิ่มเติม (จะแล้วเสร็จและบังคับใช้) เมื่อใดไม่รู้ แต่ต้องโดยเร็ว เพราะ สนช. จะให้การเห็นชอบในการเป็นภาคีอนุสัญญาการหายตัวโดยไม่สมัครใจ ถ้าเป็นภาคีแล้วมันก็ต้องมีกฎหมายภายในรองรับ” น.ส.ปิติกาญจน์กล่าว
หลังจากเสร็จสิ้นการอภิปรายประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชน ตัวแทนชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยขอกล่าวเรียกร้องให้ตัวแทนรัฐบาลไทย ให้ความสำคัญกับปัญหาผู้อพยพ และขออย่าให้รัฐบาลพยายามผลักดันผู้อพยพกลับประเทศ และพระลูกวัดพระธรรมกายก็ได้เรียกร้องต่อรัฐบาล ผ่านนักสิทธิมนุษยชน และอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพให้ยกเลิกการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฯ ในการควบคุมพื้นที่วัดพระธรรมกายด้วย
ซึ่งในวันนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าควบคุมตัวพระครูปลัดเสกสรรค์ อัตตทโม พระลูกวัดพระธรรมกาย ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กฎหมายอาญามาตรา 116 และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ โดยตำรวจได้ปฎิเสธการให้ประกันตัวชั้นสืบสวน ก่อนส่งตัวไปยังศาลจังหวัดธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี และศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราวด้วยวงเงินประกัน 2 แสนบาท
พระครูปลัดเสกสรรค์ อัตตทโม (รูปซ้ายมือ) ขณะเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตลาดกลางคลองหลวง วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 (เบนาร์นิวส์)