รัฐบาลเผย 13 รายชื่อ ครม.ส่วนหน้า กรรมการขับเคลื่อนแก้ปัญหาแดนใต้

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2016.10.03
กรุงเทพฯ และ ภาคใต้
TH-prayuth-1000 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงการพูดคุยสันติสุข ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 2 กันยายน 2559
เบนาร์นิวส์

ในวันจันทร์(3 ตุลาคม 2559)นี้ นายกรัฐมนตรีเปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ได้อนุมัติหลักการเบื้องต้นสำหรับการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้(คปต. ส่วนหน้า) หรือที่สื่อมวลชนเรียก ครม.(คณะรัฐมนตรี)ส่วนหน้าแล้ว โดยรายชื่อ คปต.ส่วนหน้านั้นไม่มีรายชื่อตัวแทนเอกชนร่วมด้วย สำหรับขั้นตอนต่อไปของการจัดตั้ง คปต.ส่วนหน้าคือ การจัดทำแผนดำเนินงาน และเสนอชื่อให้ ครม.ลงมติเห็นชอบต่อไป ขณะที่ความเห็นของนักวิชาการ และประชาชนในภาคใต้มองว่า การตั้ง คปต.ส่วนหน้าอาจมีทั้งข้อดีและข้อเสีย

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเปิดเผยต่อสื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ได้เซ็นรับรองรายชื่อผู้ที่จะทำหน้าที่ คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้(คปต. ส่วนหน้า) แล้ว โดยยืนยันว่า มีจำนวน 13 คนตามที่เป็นข่าวในช่วงที่ผ่านมา

“ยังไม่เข้า(ครม.) เขาไปทำโครงสร้างภายในก่อน อนุมัติหลักการไปเฉยๆ อนุมัติหลักการไปข้างต้น เขาต้องไปร่างวิธีทำงานเข้า ครม. ไม่งั้นเดี๋ยวมันซ้ำซ้อน 13 คนก็ 13 คนก็มีแค่นั้น ก็ตามนั้นผมเซ็นไปแล้ว” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พลเอกประยุทธ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามข่าวก่อนหน้านี้ที่จะมีการเสนอให้ ครม. อนุมัติรายชื่อและแผนการดำเนินงานของ ครม.ส่วนหน้า ในวันอังคารนั้น จะยังไม่มีการเสนอจนกว่าจะดำเนินการวางแผนการทำงานเสร็จสิ้น

โดยรายชื่อที่ถูกเปิดเผยว่าจะทำหน้าที่ คปต.ส่วนหน้านั้นประกอบด้วย พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นหัวหน้า, พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นรองหัวหน้า, พล.อ.อักษรา เกิดผล อดีตเสนาธิการทหารบก และหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ, พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4, พล.อ.สกล ชื่นตระกูล อดีตแม่ทัพภาคที่ 4, พล.อ.ปราการ ชลยุทธ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4, พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4, พล.อ.จำลอง คุณสงค์ อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4, พล.อ.มณี จันทร์ทิพย์ อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4, พล.ต.ท.ไพฑูรย์ ชูชัยยะ อดีตผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้, นายภาณุ อุทัยรัตน์ อดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.)เป็นเลขาธิการ, นายจำนัล เหมือนดำ อดีตรองเลขาธิการ ศอ.บต. และ นายพรชาต บุนนาค อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

ในวันเดียวกัน พันเอกปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ ผ่านทางโทรศัพท์ว่า การกำหนดกรอบเวลาการทำงานของ คปต.ส่วนหน้านั้น ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นการเตรียมการ ไม่ได้มีการกำหนดที่ชัดเจน โดยความชัดเจนน่าจะมีมากขึ้นหลังที่ผ่านความเห็นชอบของ ครม.

“ในรายละเอียดมันจะต้องผ่าน ครม.ก่อน ต่อไปก็คงจะต้องมีแผนการปฎิบัติงานว่า เรื่องที่ต้องปฎิบัติ เจ้าหน้าที่ทีมงานที่เกี่ยวกับกระทรวง ทบวง กรม แนวทางการประสานงาน การดำเนินงาน เพื่อทำให้งานขับเคลื่อนไปได้ตามนโยบายของรัฐบาล” พ.อ.ปิยพงศ์กล่าว

“ขั้นตอนหลังจากนี้อาจจะเป็นการพูดคุยกันไว้ ถึงการปฎิบัติงานตามกรอบนโยบายว่าจะต้องดำเนินการยังไง มีผลสัมฤทธิ์ในกรอบระยะเวลาเท่าไหร่อย่างไร มีแนวทางในการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานที่ปฎิบัติงานในพื้นที่อยู่แล้ว” พ.อ.ปิยพงศ์เพิ่มเติม

ความเห็นหลายฝ่ายต่อแผนตั้ง คปต.ส่วนหน้า

ผศ.ดร.สามารถ ทองเฝือ ผู้อำนวยการสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา และนักวิชาการรัฐศาสตร์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า การจัดตั้ง คปต.ส่วนหน้า อาจมีทั้งข้อดี และข้อกังวล

“การตั้ง ครม.ส่วนหน้า มีนายทหารเป็นส่วนใหญ่ มองว่ามีทั้งข้อที่ดี และข้อน่ากังวล ข้อดี คือ คณะครม.ส่วนหน้าตั้งขึ้นมาเพื่อประสานงานระหว่างในพื้นที่กับรัฐบาลให้รวดเร็วซึ่งที่ผ่านมาเกิดความล่าช้า” ผศ.ดร.สามารถกล่าว

ในส่วนของข้อกังวลในพื้นที่ มีกอรมน.4 ส่วนหน้า กับ ศอ.บต. เป็นหลักแล้ว การทำหน้าที่ของ ครม.จะมาทับซ้อนกันหรือไม่ ซึ่งถ้าสามารถมีความชัดเจนในภาระหน้าที่และไม่ทับซ้อนกันก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี” ผศ.ดร.สามารถเพิ่มเติม

นายมะแอ สะอะ อดีตแกนนำกลุ่มพูโล เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า การที่ คปต.ส่วนหน้า ไม่ให้คนจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วม หรือแม้แต่ผู้นับถือศาสนาอิสลามอาจทำให้การแก้ปัญหาไม่ประสบความสำเร็จ

“ดูจากคำสั่ง ครม.ส่วนหน้าจะมาเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ แต่เมื่อดูรายชื่อบุคคลที่จะมาไม่มีใครเลยที่เป็นคนพื้นที่ และนับถือศาสนาอิสลามอย่างน้อยขอให้มีจังหวัดละ 1 คนก็ยังดี เป็นแบบนี้แล้วจะทำงานอย่างไร ทั้งที่อดีตผู้ว่าจากสามจังหวัด ก็มีหลายคน นายพลก็มีหลายคน  คิดว่าคงมีแค่ชื่ออย่างเดียวไม่สามารถทำอะไรได้” นายมะแอกล่าว

นายสมเกียรติ อมรแก้วกล่ำ ประชาชนชาวยะลาแสดงความคิดเห็นว่า เป็นเรื่องที่ดีที่จะมีองค์กรหลายองค์กรร่วมแก้ปัญหา

“ปัญหาในพื้นที่ มีความซับซ้อนมากกว่าที่จะสามารถแก้ปัญหาจากคนๆเดียวจากองค์กรเดียวหรือจากหน่วยใดหน่วยหนึ่ง การที่มีคนหลายคนมาร่วมกันแก้ปัญหามาร่วมกันพัฒนา ถือเป็นเรื่องที่ดีมากสำหรับพื้นที่นี้ ขออย่างเดียวอย่ามาแค่ตำแหน่งอย่างเดียวก็พอ” นายสมเกียรติกล่าว

นายอับดุลเลาะ เจะตาเละ ประชาชนชาวปัตตานีกล่าวเช่นกันว่า ความหวังสูงสุดของประชาชนในพื้นที่ต่อคณะทำงานของรัฐบาล คือ ทำให้พื้นที่มีความสงบ

“ชาวบ้านในพื้นที่ต้องการความสงบสุข และอาชีพที่มั่นคง สามารถให้ลูกมีการศึกษาที่ดี ใครจะมาใครจะไปก็ไม่ว่า ขอให้มาร่วมกันแก้ปัญหาจริงๆ อย่ามาสร้างเงื่อนไขเพิ่ม มั่นใจว่าทั้ง 13 คน สามารถทำอะไรได้มากถ้าจะทำ เพราะต่างคนผ่านงานในพื้นที่และรู้ปัญหาในพื้นที่เป็นอย่างดี อยู่ที่ว่าจะทำหรือไม่ทำแค่นั้นเอง” นายอับดุลเลาะกล่าว

เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองด้านความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ผู้หนึ่งเปิดเผยว่า การจัดตั้ง คปต.ส่วนหน้าของรัฐบาลนั้นถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะที่ผ่านมามีความพยายามดำเนินการในลักษณะนี้มาแล้วกับรัฐบาลอื่น แต่อย่างนี้ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี

“การจัดตั้งเพื่อมาทำหน้าที่ร่วมกันแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ให้มาทำหน้าที่ประสานงานระหว่างหน่วยปฏิบัติในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสื่อสารโดยตรงกับนายกรัฐมนตรี เพราะต้องการแก้ปัญหาการทำงาน แก้ไขปัญหาที่ล่าช้า ให้สามารถมีความรวดเร็วถือเป็นเรื่องที่ดี”

เจ้าหน้าที่คนเดิมยังคาดการณ์อีกว่า สถานที่ตั้ง สำนักงาน คปต.ส่วนหน้าอาจตั้งอยู่ในค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี และ กองพลทหารราบที่15 ปัตตานี หรือ ค่ายสิรินธร อ.ยะรัง จ.ปัตตานี

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง