มาเลเซียจับผู้ต้องสงสัยคาดอยู่ในกลุ่มบีอาร์เอ็น: เจ้าหน้าที่ไทยและมาเลเซีย
2017.02.02
กรุงเทพฯ และกัวลาลัมเปอร์

เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทย และเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซีย ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม ระบุว่า ในกลุ่มชายหกคน ที่ถูกตำรวจมาเลเซียจับกุม ในอำเภอปาเซมัส รัฐกลันตัน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศมาเลเซีย พร้อมด้วยวัสดุและอุปกรณ์ทำระเบิด เมื่อกลางเดือนมกราคมนี้ มีสามรายเป็นคนไทย โดยเจ้าหน้าที่ไทย ได้ระบุลงไปอย่างชัดเจนอีกว่า หนึ่งในสามคนไทยนั้น เป็นสมาชิกกลุ่มแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็น
“มาเลเซียให้รายชื่อทั้งหกคนมาว่าเป็นชื่อคนมาเลเซีย แต่มีสามรายที่เราระบุได้แน่ชัดว่าเป็นคนไทย หนึ่งในสามรายนั้นเป็นสมาชิกบีอาร์เอ็น ส่วนที่เหลือ ในเบื้องต้นระบุได้คร่าวๆ ว่าเป็นคนไทย” เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไทยในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้รายหนึ่ง กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
เจ้าหน้าที่ฯ รายดังกล่าว กล่าวอีกว่า ในขณะนี้ ฝ่ายไทยไม่สามารถระบุได้ว่า ทางการมาเลเซียได้ดำเนินการกับทั้งหกรายอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ ทางการไทยได้ติดต่อกับหัวหน้าสถานีตำรวจปาเซมัส แต่ได้รับคำตอบเพียงว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลมาเลเซีย (Malaysian Special Branch – MSB) เป็นผู้ดำเนินการจับกุม ตนจึงไม่สามารถให้คำตอบได้โดยตรง และทางการไทยต้องติดต่อกับตำรวจสันติบาลส่วนกลางในกัวลาลัมเปอร์
“เท่าที่ทราบ ไม่ได้มีการดำเนินการเพิ่มเติมใดๆ ในการที่จะขอตัวบุคคลทั้งหกราย เพราะเจ้าหน้าที่มาเลเซียไม่เปิดเผยว่าเป็นคนไทย แต่เราต้องขอบคุณทางการมาเลเซียที่ได้จับกุมกลุ่มคนอันตราย” เจ้าหน้าที่รายดังกล่าวระบุ
เจ้าหน้าที่ไทยรายดังกล่าว ได้เปิดเผยรายชื่อทั้งหกคน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่มาเลเซียแจ้งให้ทางการไทยได้รับทราบว่าเป็นคนมาเลเซีย มีรายชื่อดังนี้ คือ นายสายูตี บินฮารน อายุ 33 ปี นายซาอิด บิน อาลี อายุ 43 ปี นายซาการียา บิน นัวร์ อายุ 40 ปี นายมะรอดี บิน ดามี อายุ 47 ปี นายมะสือดี บิน มะลี อายุ 50 ปี และนายไซฟูเลาะ บิน นิคอับดุลลาซิส อายุ 26 ปี
เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่รายดังกล่าว ได้ระบุตรงกันว่า สามคนในจำนวนหกคนนั้น เป็นคนไทย ทราบชื่อ คือ นายอุสมาน เจะอุมง อายุ 40 ปี มีแฟ้มประวัติเป็นระดับหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการทหาร รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดยะลา นายเตะแว แลฮา อายุ 39 ปี และ นายรอยาลี บือแน อายุ 42 ปี สองรายหลังมีบัตรประชาชนไทย
“เชื่อว่าทั้งหกคน เตรียมระเบิดเพื่อนำมาก่อเหตุในเมืองไทย โดยตำรวจมาเลเซียจับกุมตัวพร้อมสารเคมี โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์ทำระเบิดแสวงเครื่องอื่นๆ รวม 26 รายการ ได้ที่หมู่บ้านบือโรล รายา โปโฮงบูโลห์ มือรันตี และหมู่บ้านกือลังมัส ในอำเภอปาเซมัส รัฐกลันตัน ซึ่งห่างจากชายแดนด้านอำเภอสุไหงโกลก นราธิวาสไม่มากนัก” เจ้าหน้าที่รายดังกล่าว ให้รายละเอียด
เจ้าหน้าที่ไทยรายดังกล่าว กล่าวว่า ติดตามตัวผู้ร้ายข้ามแดนนั้น ยังมีปัญหาอยู่ ซึ่งเหตุผลส่วนหนึ่งเกิดมาจาก การไม่มีสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างสองประเทศ และมีสมาชิกกลุ่มก่อเหตุรุนแรง ถือสัญชาติสองสัญชาติ ทั้งไทยและมาเลเซีย
เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับปฏิบัติการของมาเลเซียชี้ ทั้งหกรายน่าจะเป็นกลุ่มก่อเหตุรุนแรงในภาคใต้
สื่อมวลชนต่างประเทศ เช่น สำนักข่าวเบอร์นามา ของมาเลเซีย และหนังสือพิมพ์สเตรทไทมส์ ของสิงคโปร์ ได้รายงานการจับกุมบุคคลดังกล่าวว่าเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 มกราคมนี้ และได้อ้างคำพูดของนายตำรวจมาเลเซียว่า ทั้งหกคนอาจจะมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มอุดมการณ์รัฐอิสลาม ซึ่งทางการมาเลเซียได้เปิดปฏิบัติการกวาดล้าง ในเดือนมกราคมนี้
ในเรื่องนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับปฏิบัติการ ผู้ไม่ประสงค์จะออกนามในรัฐกลันตันรายหนึ่ง กล่าวกับผู้สื่อข่าวเบนาร์นิวส์เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ทั้งหกคนไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มไอเอส
“มีความน่าจะเป็นไปได้ว่าทั้งหกคน เป็นกลุ่มก่อความไม่สงบในประเทศไทย ที่อยู่ตามแนวชายแดน” เจ้าหน้าที่ตำรวจมาลเซียกล่าวแก่เบนาร์นิวส์
เจ้าหน้าที่ไทยได้กล่าวเสริมว่า “ในเบื้องต้น ตำรวจมาเลเซียบอกว่าเป็นพวกอุดมการณ์รัฐอิสลาม (Daesh หรือ IS)... แต่เราระบุตัวได้หนึ่งคนว่า เป็นกลุ่มบีอาร์เอ็น”
พลตรีนักรบ บุญบัวทอง (ยศในขณะนั้น) อดีตเลขานุการ คณะพูดคุยเพื่อสันติสุข กล่าวว่า ผู้ก่อความไม่สงบส่วนหนึ่งปฏิบัติการในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ โดยมีการเคลื่อนย้ายกำลังข้ามแดน จึงจำเป็นที่คณะพูดคุยฯ ต้องร้องขอให้มาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้กับฝ่ายไทย ในการนัดหมายเจรจากับฝ่ายขบวนการ ที่คณะพูดคุยฯ เรียกว่า ผู้เห็นต่าง หรือปาร์ตี้บี
เมื่อปี 2552 ทางการมาเลเซียได้จับตัวชายไทยสามคน ในอำเภอปาเซมัส รัฐกลันตัน พร้อมด้วยพร้อมด้วยอาวุธปืนสงครามและระเบิดในบ้านพักแห่งหนึ่ง แต่ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2555 ศาลมาจิสเตรท รัฐกลันตัน ได้ยกฟ้องนายมูฮัมหมัด สือดี ฮารี และนายเจะดอเลาะ มะยูไน เพราะเชื่อว่าหลักฐานไม่แน่นหนาเพียงพอ และในเดือนพฤษภาคม ปีเดียวกัน ศาลสูงโกตา บารูห์ ได้สั่งยกฟ้องจำเลยอีกคน คือ นายมามะคอยรี สาแม โดยเชื่อคำให้การจำเลยว่า เป็นเพียงผู้พักอาศัย ไม่มีส่วนในการครอบครองอาวุธ