นักโทษหนึ่งเดียวที่รอดชีวิตจากเหตุ 28 เมษา 2547 ถึงกรือเซะ รับพระราชทานอภัยโทษ

มารียัม อัฮหมัด
2019.05.21
ปัตตานี
190521-TH-insurgent-pardon-650.jpg นายอับดุลรอนิง เจ๊ะเลาะ และ นางแอเสาะ ลาเต๊ะ มารดา (คนกลาง) ขณะพูดคุยกับเพื่อนบ้านที่มาเยี่ยม พร้อมโชว์ใบประกาศชมเชยนักโทษชั้นดี 7 ใบ วันที่ 21 พ.ค. 2562
มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์

นายอับดุลรอนิง เจ๊ะเลาะ นักโทษที่ถูกจำคุกฐานร่วมมือโจมตีสถานีตำรวจภูธรแม่ลาน ในจังหวัดปัตตานี เมื่อครั้งที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดน ระดมกำลังโจมตีเป้าหมายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กว่าสิบเป้าหมาย ที่ยังนำไปสู่เหตุการณ์สังหารหมู่ที่มัสยิดกรือเซะ เมื่อเดือนเมษายน 2547 ได้รับพระราชทานอภัยโทษ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ได้แสดงความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

นายอับดุลรอนิงเล่าเหตุการณ์ให้เบนาร์นิวส์ฟังว่า ตนเองถูกว่าจ้างให้ขับรถ โดยที่ไม่รู้ว่าผู้ว่าจ้างมีแผนการโจมตีเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด

ในห้วงเวลานั้น นายอับดุลรอนิง ที่ปัจจุบันอยู่ในวัยห้าสิบต้น เล่าว่า ตนเพิ่งกลับมาจากไปประกอบพิธีฮัจย์ ได้ไม่นานนัก จากนั้น มีคนในหมู่บ้านมาชวนให้ตนเองไปร่วมถางป่า ที่อำเภอบันนังสตา ซึ่งก็ทำกันมาอย่างเป็นปกติ เพราะตนเองก็มีอาชีพรับจ้างทั่วไป แต่เหตุการณ์ในวันที่ 28 เม.ย. 2547 ได้พลิกผันชะตาชีวิตของตนเองอย่างรุนแรง

“แต่พอวันที่เกิดเหตุ ระหว่างที่ผมขับรถไป โดยใช้รถของเพื่อนบ้าน เมื่อถึง สภ.แม่ลาน คนบนรถบอกให้จอด ผมก็จอด ตอนแรกก็ไม่รู้อะไรว่าจอดทำไม แต่พอตัวเองถูกยิงที่ชายโครง ก็เพิ่งรู้ว่ามีเหตุ คิดว่าจะตายแล้ว แต่พยาบาลที่โรงพยาบาลช่วยชีวิตได้ทัน ส่วนคนอื่นๆ สี่ห้าคนตายหมด ผมบาดเจ็บและถูกดำเนินคดี” นายอับดุลรอนิง เล่าเหตุการณ์การในครั้งนั้นให้เบนาร์นิวส์ฟัง

นายอับดุลรอนิง กล่าวว่า ตนถูกฟ้องดำเนินคดีจนศาลฎีกาพิพากษาจำคุกประหารชีวิต และต่อมาได้การลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต และได้รับพระราชทานอภัยโทษ ก่อนกำหนดปล่อยตัว เป็นเวลาเกือบสามปี นับเป็นนักโทษรายแรกในคดีความมั่นคง ตามคำกล่าวของเจ้าหน้าที่ผู้ไม่ประสงค์ออกนามรายหนึ่ง

“ในตอนแรก ก็คิดว่า คงอยู่ 10-20 วัน เดี๋ยวเขาคงปล่อย เพราะเราไม่ทำอะไรผิด แต่ยิ่งอยู่ยิ่งนาน ยิ่งนานจนศาลตัดสินประหารชีวิตและได้ลดโทษจนเหลือตลอดชีวิต ได้รับอภัยโทษ จนล่าสุดได้ออกมาแล้ว ผมดีใจจนบอกไม่ถูก ขอบคุณ ในหลวง ร.10 มาก ที่พระราชทานอภัยโทษให้ ถ้าไม่ได้ในหลวง ผมก็คงต้องรอถึง 2 ปี 10 เดือน 10 วัน นั่นคือ วันที่ 28 มกราคม 2565” นายอับดุลรอนิง กล่าวอย่างตื้นตันใจ

“ผมดีใจมาก ตอนที่รู้จากเจ้าหน้าที่เรือนจำเมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา ดีใจจนบอกไม่ถูก ตื้นตันใจมาก จะอ่านอัลกุรอ่านก็ไม่ได้ จะคุยกับเพื่อนก็ไม่ได้ ดีใจจนเสียงหาย เพื่อนๆ เป็นร้อยที่เข้ามาอำลา ทุกคนต่างดีใจด้วย" นายอับดุลรอนิง กล่าวเพิ่มเติม

นับตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 ที่กองกำลังแบ่งแยกดินแดนสามจังหวัดภาคใต้ ได้เข้าปล้นปืนที่กองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในอำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ไปกว่าสี่ร้อยกระบอก และได้สังหารเจ้าหน้าที่ทหาร 4 นาย ความรุนแรงจากสงครามแบ่งแยกดินแดนที่ได้เริ่มต้นขึ้นมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 60 ได้ปะทุขึ้นอีกระลอก

จากนั้นในวันที่ 28 เม.ย. 2547 กองกำลังขบวนการได้โจมตีเป้าหมายที่มั่นของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ในจังหวัดปัตตานี ยะลา และสงขลา พร้อมๆ กัน 11 จุด เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 108 คน ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้กล่าวว่ามีผู้เสียชีวิต 107 ราย ในจำนวนนั้น มีผู้เสียชีวิตภายในมัสยิดกรือเซะถึง 32 คน มีเพียงนายอับดุลรอนิง ที่รอดชีวิตและถูกดำเนินคดี

“15 ปี ที่อยู่ข้างในได้บทเรียนเยอะ โดยเฉพาะการมีระเบียบวินัยการตรงต่อเวลา เพราะเราอยู่กับคนจำนวนมาก ทุกอย่างต้องใช้กฎระเบียบเพื่อความเรียบร้อยภายในเรือนจำ เข้าใจ และยังฝังใจ” นายอับดุลรอนิง กล่าว พร้อมกับบอกว่าตนเป็นนักโทษชั้นดี ได้รับใบประกาศชมเชยถึง 7 ใบ

"วันที่ออกมาไม่มีใครมารับ เพราะทุกคนที่บ้านไม่รู้ว่าจะได้ออก จึงอาศัยรถยนต์เพื่อนกลับมาลงที่สี่แยกดอนยาง โทรหาน้องสาวเขาตกใจ ก็บอกไปว่า เราเองยังคิดว่าฝันระหว่างนั่งรถกลับมา ยังนึกในใจว่าเราฝันไปไหม เพราะไม่คิดว่าจะได้รับอภัยโทษครั้งนี้ ถึงบ้านเจอหน้าแม่ เจอหน้าทุกคนได้แต่เงียบ ไม่รู้จะพูดอะไร ดีใจ ทุกคนร้องไห้ดีใจ" นายอับดุลรอนิง กล่าวเพิ่มเติม

เจ้าหน้าที่ในสามจังหวัดชายแดนใต้ กล่าวว่า มีนักโทษที่ถูกจองจำในคดีความมั่นคง ประมาณ 500 คน ส่วนตัวเลขผู้ที่ได้รับการอภัยโทษเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10 นั้น ยังไม่ทราบชัดเจน เนื่องจากเป็นการดำเนินการตามรายเป็นกรณีไป ทั้งนี้ หลักการคร่าวๆ ต้องมีโทษน้อยกว่าสามปี และเป็นนักโทษชั้นดี เป็นต้น

“หลังจากนี้ ตั้งใจจะค้าขาย หาเงินเลี้ยงแม่และครอบครัว ถ้าหน่วยงานไหนมีทุนพอที่จะทำให้ตนได้สร้างเนื้อสร้างตัวได้บ้าง จะขอรับหมด ตอนนี้ ก็เห็นที่ว่างข้างบ้านมี ก็ได้ถางหญ้า แล้วตั้งใจจะลงพริก เพื่อให้ได้เงินมาใช้จ่ายก่อนในระหว่างที่หาทุนทำอาชีพค้าขาย”

นางแอเสาะ ลาเต๊ะ แม่ของนายอับดุลรอนิง กล่าวว่า ขอบคุณทุกคนที่ช่วยเหลือนายอับดุลรอนิง และดีใจมากที่ได้ลูกกลับมา

“ตอนนี้ เขาออกมาแล้ว เมาะไม่ต้องไปเรือนจำแล้ว ไม่ต้องทำงานหนักแล้ว เพราะรอนิงจะเลี้ยงเมาะ ดีใจมาก" นางแอเสาะ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง