ชาวบ้าน ต.สุคิรินต้านการจัดสรรที่ทำกินอดีตผู้เห็นต่าง

มารียัม อัฮหมัด
2018.05.01
ปัตตานี
180501-TH-villagers-1000.jpg อาสาสมัครทหารพรานลาดตระเวนตรวจตราในขบวนรถไฟ ที่มาจากตัวเมืองหาดใหญ่ ผ่านจังหวัดนราธิวาส วันที่ 21 พฤศจิกายน 2559
เอเอฟพี

ในวันนี้ ชาวบ้านในตำบลสุคีริน อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส กว่าห้าร้อยคน ได้ชุมนุมแสดงการค้านแผนการณ์ของแม่ทัพภาคที่ 4 ที่จะจัดสรรพื้นที่ทำกินให้ผู้ร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน ใกล้ๆ กับบ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 โดยได้ยกเหตุผลด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม

โดยผู้ร่วมโครงการ คือสมาชิกขบวนการพูโลที่หนีไปอยู่ในประเทศมาเลเซียและสมาชิกครอบครัว ได้มอบตัวต่อทางการเพื่อร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน เมื่อเร็วๆ นี้ และได้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ ที่หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 44 อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ซึ่ง พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวในกิจกรรมวันนั้นว่า เจ้าหน้าที่จากศูนย์ปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ทำการตรวจดีเอ็นเอผู้ที่รายงานตัวเข้าร่วมโครงการ ใช้ยืนยันว่าเป็นคนไทยจริง ก่อนการดำเนินการออกหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์ และทางการจะได้ชี้แจงให้ทราบถึงกระบวนการขั้นตอนโครงการพาคนกลับบ้าน

ในวันนี้ พล.ต.วิชาญ สุขสง รองแม่ทัพภาคที่ 4 ได้กล่าวว่า พลโทปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 มีแนวทางที่จะใช้พื้นที่ ประมาณ 700 ไร่ ใกล้ๆ กับที่ตั้งของหมู่บ้านสามหมู่บ้าน คือ บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12  บ้านรักษ์ธรรม และบ้านลีลานนท์ ในตำบลสุคิริน เป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินให้กับผู้ที่เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน จำนวน 105 คน

โฆษกชาวบ้าน บ้านลีลานนท์ กล่าวว่า ชาวบ้านได้ออกคำแถลงการณ์ร่วมสามหมู่บ้าน ฉบับที่ 1 โดยได้ร่างคำแถลงการณ์ขึ้นมาที่ที่ทำการหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนาที่ 12 เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการจัดพื้นที่ทำกินแก่ผู้หลงผิด ในพื้นที่ใกล้เคียงสามหมู่บ้าน และจำต้องนำมาเรียน พลโทปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 รับทราบ

“ชาวบ้านทั้งสามหมู่บ้าน ได้ทำการศึกษาถึงผลกระทบจากการใช้พื้นที่ อันเนื่องมาจากโครงการดังกล่าวจำนวนกว่า 600 ไร่นั้น มีผลกระทบต่อป่าไม้ สิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยว และความหวาดระแวงในการประกอบอาชีพของวิถีชุมชนดั้งเดิม" โฆษกชาวบ้าน บ้านลีลานนท์ กล่าวโดยไม่ประสงค์จะออกนาม

“ดังนั้น ชาวบ้านทั้งสามหมู่บ้าน จึงมีมติในการประชาคมไม่เห็นด้วยในการใช้ที่ดินตามโครงการดังกล่าว โดยหลักการโครงการพาคนกลับบ้านของกองทัพภาคที่ 4 นั้น ชาวบ้านทั้ง 3 หมู่บ้านเห็นด้วย แต่ในส่วนที่ชาวบ้านทั้งสามหมู่บ้านไม่เห็นด้วย คือ การใช้พื้นที่ใกล้เคียงสามหมู่บ้าน เพื่อจัดสรรเป็นที่ดินทำกินแก่ผู้หลงผิด เพราะจะมีผลกระทบต่อชาวบ้าน” โฆษกชาวบ้าน บ้านลีลานนท์ กล่าวเพิ่มเติม

ในเอกสารแถลงการณ์ ชาวบ้าน ได้แสดงเหตุผลที่ไม่เห็นด้วย เพราะโครงการฯ มีผลกระทบหรือให้เกิดความกังวล ดังนี้ 1. ผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและป่าต้นน้ำ 2. เกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทั้ง 3 หมู่บ้าน 3. ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ เพราะมีความหวาดระแวง 4. ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของชาวบ้านทั้งในปัจจุบันและอนาคต และ 5.ผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติหมู่บ้านเพราะนักท่องเที่ยวไม่กล้าเข้ามาในพื้นที่

"ทั้งสามหมู่บ้านวิงวอน ขอให้ท่านแม่ทัพภาคที่ 4 พิจารณาทบทวนในการใช้พื้นที่ดังกล่าว พร้อมทั้งแนบรายชื่อชาวบ้านทั้งหมดที่ไม่เห็นด้วย และเรามีข้อเสนอว่า ในพื้นที่ยังมีที่ดินเหลืออยู่ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ตามนโยบายของแม่ทัพได้ ซึ่งอยู่ระหว่างอำเภอสุคีรินกับอำเภอจะแนะ" โฆษกฯ กล่าว

คำชี้แจงจากทหาร

พล.ต.วิชาญ สุขสง รองแม่ทัพ ภาคที่ 4 กล่าวว่า โครงการดังกล่าว ซึ่งจะอยู่ห่างจากหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 ราวสองกิโลเมตร จะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ตามที่ชาวบ้านกังวล เพราะว่า ทั้ง 105 คน ไม่ได้เป็นกลุ่มคนที่ใช้ความรุนแรง

"ขอยืนยันว่า กลุ่มคน 105 คน ที่เราจะพาเขาไปอยู่ที่ ใกล้ๆ หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 ไม่ใช่คนร้ายและไม่ใช่กลุ่มคนที่สร้างปัญหา" พล.ต.วิชาญ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว

พล.ต.วิชาญ กล่าวว่า ผู้ที่เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน 105 คน จาก 23 ครอบครัว เป็นกลุ่มคนที่กลับจากมาเลเซียเมื่อหลายเดือนก่อน ซึ่งปัจจุบันคนกลุ่มนี้ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ แต่เมื่อ 30 ปี ก่อน เขามีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในพื้นที่ และเขาเกิดระแวง จึงได้หลบหนีไปอยู่ในมาเลเซีย

“ตอนนี้เขาอายุ 70 ปีแล้ว ไม่ใช่พวกที่ก่อเหตุอยู่ในช่วงนี้ เขาเป็นคนไทยเราต้องดูแลเขา แม่ทัพก็เอามา ได้ให้สัญชาติ ให้ประชาบัตรประชาชน สาเหตุก็เพราะเขาคือคนไทย เราทำเพื่อมนุษยธรรม เมื่อก่อนกลุ่ม จคม. (โจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา) เป็นคนมาเลย์ เรายังดูแลเขาได้ แต่นี้เขาเป็นคนไทย เราก็ต้องดูแล" พล.ต.วิชาญ กล่าว

พล.ต.วิชาญ กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการว่า ตอนนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการเรื่องงบประมาณ ที่จะสร้างบ้าน 30 หลังๆ ละ 200,000 บาท โดยรัฐให้วัสดุและให้ผู้ร่วมโครงการปลูกสร้างบ้านกันเอง นอกจากนั้น จะให้ที่ทำกินชั่วคราว ประมาณครอบครัวละ 5 ไร่

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง