กก.คุ้มครองสิทธิฯ ร้องให้คุมประพฤติแม่ลูกสี่ แทนคุมตัวในค่ายอิงคยุทธ

มารียัม อัฮหมัด
2020.07.08
ปัตตานี
200708-TH-insurgent-rights-1000.jpg เจ้าหน้าที่เคลื่อนกำลังมายังจุดเกิดเหตุยิงปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่และกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ที่บ้านเลขที่ 119 ม.1 ต.ดอน อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี วันที่ 3 กรกฎาคม 2563
มาตาฮารี อิสมาแอ/เบนาร์นิวส์

ปรับปรุงข้อมูล เวลา 7:40 pm EST 20-07-10

ในวันพุธนี้ น.ส.ละม้าย มานะการ คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ และคณะทำงานเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ กล่าวเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ใช้มาตรการที่อ่อนลงในการควบคุมตัวและดำเนินการสอบปากคำ นางสาวอารม๊ะ วานิ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปสอบสวนในค่ายอิงยุทธบริหาร เพราะเป็นเจ้าของบ้านที่เกิดเหตุคนร้ายยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตฝ่ายละคน เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

น.ส.ละม้าย กล่าวว่า นางสาวอารม๊ะ เป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 119 ม.1 ต.ดอน อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี จากข้อมูลที่ตนได้รับจากผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ (JASAD) ทราบว่า นางสาวอารม๊ะ มีอาชีพรับจ้างเก็บค่าไฟ มีลูก 4 คน ชาย 2 หญิง 2 คนโต อายุ 14 ปี สามีเสียชีวิตเมื่อสามปีที่แล้ว ปัจจุบัน ถูกควบคุมตัวไว้ที่หน่วยซักถาม ค่ายอิงยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก ขณะที่ลูก ๆ ต้องไปอาศัยอยู่กับน้าสาว และมีความกลัว

นอกจากนั้น สามีของน้าสาว คือ นายยะห์รี หวันสนิ ถูกควบคุมตัวไปพร้อมกันในวันเกิดเหตุ และต่อมา นายอิมรอเฮม วาเย็ง อายุ 35 ปี ยังได้ถูกทหารควบคุมตัวตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ไปสอบสวนที่ค่ายอิงยุทธบริหาร ตั้งแต่เมื่อวันจันทร์นี้ เช่นกัน

“เราเห็นว่าการใช้หลักของยุติธรรมเปลี่ยนผ่าน การผ่อนปรน การคุมประพฤติ ควรเป็นทางเลือกสำคัญ ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นเช่นนี้” น.ส.ละม้าย กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

น.ส.ละม้าย กล่าวว่า ตนได้เดินทางไปยังพื้นที่บ้านของนางสาวอารม๊ะ หลังจากกลุ่มสิทธิสตรีแจ้งให้ทราบ แต่ไม่พบเด็ก ๆ เพราะต้องไปอาศัยอยู่กับน้าสาวในพื้นที่ใกล้กัน ซึ่งเด็ก ๆ ยังมีความกลัว

“เราได้รับการนำทางโดยประธานและรองยุติธรรมชุมชนที่นั่น นำไปบ้านหลังนี้ บ้านหลังนี้เล็กมากและทรุดโทรมด้วยกาลเวลาและขาดการทำนุบำรุง อยู่กันอย่างแออัด มีสองครอบครัว มีเด็ก 8 คน ผู้หญิง 2 คน ต้องเผชิญกับสิ่งที่เกิดขึ้น” น.ส.ละม้าย กล่าว

ในวันนี้ เบนาร์นิวส์ ยังไม่สามารถสอบถามสถานภาพของ นางสาวอารม๊ะ และผู้ต้องสงสัยอื่น จากเจ้าหน้าที่ได้ว่ามีการดำเนินการอย่างไรบ้าง

นอกจากนี้ ทางเครือข่ายฯ ยังได้เรียกร้องต่อเจ้าหน้าที่ให้คำนึงถึงอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of all Forms of Discrimination against Women หรือย่อว่า CEDAW) ซึ่งเป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศฉบับหนึ่ง ซึ่งสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติมีมติเห็นชอบ ในปี 2522 และประเทศไทยเข้าเป็นภาคีด้วย โดยมีผลใช้บังคับกับประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2528

“เราไม่ได้คุยอะไรกันมาก เพราะมีเด็กเยอะ และหลายอย่างไม่อำนวยนัก แต่ได้ให้คำแนะนำไปกับน้าสาวของเด็ก ซึ่งสามีเธอก็ถูกจับไปพร้อมกับพี่สาวด้วย พร้อมให้ช่องทางในการติดต่อมายังคณะเรา หากมีความจำเป็นต้องการความช่วยเหลือ รวมทั้งประสานกับประธานและรองยุติธรรมชุมชน เพื่ออำนวยความยุติธรรม ในลำดับต่อไป” น.ส.ละม้าย กล่าวเพิ่มเติม

ด้านลูกสาวของ นางสาวอารม๊ะ ได้กล่าวแก่ น.ส.ละม้าย ว่า ตนเองกลัวว่าแม่จะไม่ได้กลับบ้าน

"หนูกลัวแมะไม่ได้กลับบ้าน สาวน้อยวัย 15 ปี บอกกับเรา แม่ของเธอแม่เลี้ยงเดี่ยว ถูกนำตัวไปที่ค่ายทหารเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ตามคดีความนั้น ทราบว่า เพราะแม่ของเธอให้ที่พักพิงแก่คนร้าย ที่ต่อมาเกิดการปะทะกับทหาร คนร้ายตามประวัติ มีหมายจับ 4 คดี เป็นเหตุให้เสียชีวิต 1 ราย เจ้าหน้าที่ อส.เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 2 ราย คือ อส. และ ทหารยศนายพัน และมีคนหลบหนีไปอีกจำนวนหนึ่ง” น.ส.ละม้าย กล่าว

ด้าน นางบุษยมาศ อิศดุลย์ ประธานศูนย์บ้านบุญเต็มยะลา กล่าวว่า พลโท พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ประกาศอย่างชัดเจนว่า ต้องดำเนินคดีกับคนที่ให้ที่พักพิงกับกลุ่มก่อความไม่สงบ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ตนเห็นว่า ทุกฝ่ายต้องคำนึงถึงชาวบ้านซึ่งเป็นคนกลางด้วย

“แม่ทัพเคยบอกอย่างดุดันว่า ใครให้ที่พักพิงแก่โจรใต้จะดำเนินคดีให้หมด เราตั้งคำถามต่อท่านว่า แล้วชาวบ้านซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างโจรใต้กับเจ้าหน้าที่จะอยู่กันแบบไหน ในเมื่อโจรมาพร้อมอาวุธ เจ้าหน้าที่มาพร้อมกฎหมาย คนตรงกลางคือ ชาวบ้านตาดำๆ ไม่ตายก็ติดคุก มีทางเลือกอื่นให้เขาไหม” นางบุษยมาศ กล่าว

อย่างไรก็ตาม น.ส.ละม้าย กล่าวว่า ทางคณะกรรมการฯ ไปเยี่ยมและให้การช่วยเหลือแก่ครอบครัวตามความจำเป็น ส่วนทางคดี นั้นให้เป็นไปตามกฎหมาย และได้ประสานกับหน่วยทหารที่คุมตัวเธอและน้องเขยไป เพื่อกำชับให้ดูแลและไม่กระทำการที่เกินกว่าเหตุ อันเป็นการละเมิดผู้ต้องสงสัย โดยเฉพาะต่อผู้ต้องสงสัยที่เป็นผู้หญิง

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม นี้ เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจสอบบ้าน นางสาวอารม๊ะ วานิ ซึ่งขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบภายในบ้าน กลุ่มคนร้ายได้ใช้อาวุธปืนยิงใส่เจ้าหน้าที่ จนเกิดการปะทะ เป็นเหตุให้มีเจ้าหน้าที่บาดเจ็บ 3 นาย โดยเจ้าหน้าที่ อส. มะซอบรี แวสามะ หนึ่งในผู้ได้รับบาดเจ็บ มีอาการสาหัส และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ขณะที่ฝ่ายคนร้ายถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญเสียชีวิต 1 คน คือ นายอันวา ดือราแม อายุ 40 ปี เป็นชาวอำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี มีหมายจับ ป.วิอาญา 4 หมาย และพบยาบ้า 200 เม็ด กับอาวุธปืนพกสั้นในที่เกิดเหตุ

คนร้ายยิงทหารเสียชีวิต 1 นาย ในยะลา

ในตอนเช้าของวันเดียวกันนี้ พลตำรวจตรี ปราบพาล มีมงคล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ท่าธง จ.ยะลา รับแจ้งเหตุ ได้มีคนร้าย ใช้อาวุธยิง อส.ทพ.นิกร สมบัติทอง กระสุนถูกบริเวณศีรษะจนเสียชีวิต ในที่เกิดเหตุที่บริเวณหน้าโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ที่ 41 ตำบลวังพญา อำเภอรามัน  จังหวัดยะลา

จากการสอบสวนเบื้องต้นทราบว่า อส.ทพ.นิกร สมบัติทอง ได้ขออนุญาตจากผู้บังคับบัญชาออกไปทำธุระส่วนตัวในพื้นที่ โดยได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ไปทำธุระเพียงคนเดียว หลังจากทำธุระเสร็จ ก็ได้ขับรถกลับเข้าค่าย แต่ถูกคนร้ายคาดว่าไม่ต่ำกว่า 2 คน ขับขี่รถจักรยานยนต์ตามหลังมา ก่อนที่จะประกบยิงด้วยอาวุธปืนพกสั้นขนาด 9 ม.ม. จำนวน 6 นัด กระสุนถูกบริเวณศีรษะและแผ่นหลัง ก่อนที่จะล้มลงและเสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ ส่วนประเด็นและสาเหตุ เจ้าหน้าที่เชื่อว่าเป็นการก่อเหตุสร้างสถานการณ์ของกลุ่มคนร้ายในพื้นที่

มาตาฮารี อิสมาแอ ในนราธิวาส ร่วมรายงานข่าว

*แก้ไขและเพิ่มชื่อ หนึ่งในผู้ต้องสงสัย สามีของน้าสาว คือ นายยะห์รี หวันสนิ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง