ขบวนการในพื้นที่ รับปล้นร้านทองนาทวี เพื่อนำไปใช้ก่อเหตุรุนแรง

มารียัม อัฮหมัด
2019.08.30
ปัตตานี
190830-TH-robbery-800.jpg เจ้าหน้าที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุคนร้ายปล้นทองและเครื่องเพชร มูลค่ากว่า 85 ล้านบาท ไปจากร้านสุธาดา ในอำเภอนาทวี สงขลา วันที่ 24 สิงหาคม 2562
มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์

ในวันศุกร์นี้ แกนนำและอดีตแกนนำผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดสามราย กล่าวยอมรับถึงคำพูดของ พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระ ผบช.ภาค 9 ที่ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนว่า กลุ่มขบวนการ อยู่เบื้องหลังการการปล้นร้านทอง ในอำเภอนาทวี และการวางระเบิดตู้เอทีเอ็มหลายแห่ง ในห้วงเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อนำเงินที่ได้ไปสนับสนุนขบวนการก่อความไม่สงบ

นายวันคาเดร์ (ขอสงวนนามสกุล) ซึ่งอ้างว่าตนเองเป็นแกนนำขบวนการในพื้นที่จังหวัดปัตตานี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า การปล้นทอง ในอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ที่ผ่านมานี้ เป็นฝีมือของกลุ่มขบวนการ

“การปล้นครั้งนี้ ขบวนการทำ ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐรู้เห็น ส่วนเงินที่ได้ก็อาจมาใช้ในการก่อเหตุ เพื่อยกระดับปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ หลังจากที่รัฐยังสร้างเงื่อนไขให้กับคนฟาตอนีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะยุคสองสามปีนี้ เกิดความอยุติธรรมกับคนจำนวนมาก" นายวันคาเดร์ กล่าว โดยระบุว่า ดูจากวิธีการในการก่อเหตุ ถือว่าเป็นวิธีที่คุ้นเคย

ด้านนายโฮป (นามสมมติ) อดีตสมาชิกขบวนการก่อความไม่สงบ ในจังหวัดปัตตานี กล่าวเสริมว่า การปล้นเป็นแนวทางหนึ่งของขบวนการ

"ใช่ การปล้น คือแนวทางที่ขบวนการวางแผนตลอด หากถึงจุดหนึ่งต้องเอามาใช้ แต่ไม่คิดว่าจะเร็ว และทำแล้วได้เงินมาจำนวนมาก มาใช้ก่อเหตุ" นายโฮป กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

พล.ต.ท.รณศิลป์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม นี้ มีกลุ่มคนร้ายกว่าสิบคน ปล้นร้านทองสุธาดา ในอำเภอนาทวี ได้ทองคำแท่ง ทองรูปพรรณ รวมทั้งเครื่องเพชร มูลค่ารวมทั้งสิ้น 85,710,000 บาท เจ้าหน้าที่ระบุว่า ก่อนหน้าการปล้น คนร้ายได้ปล้นรถตู้จากนายรอสะลี เยาะเส็น ซึ่งถูกมัดมือ ก่อนที่คนร้ายจะนำรถตู้ไปใช้เป็นพาหนะ โดยนายรอสะลี กล่าวว่า ตนสามารถจำหน้าหนึ่งในคนร้ายได้ ว่าคือ นายบูคอรี หลำโส๊ะ ซึ่งเป็นแกนนำคนสำคัญขบวนการในพื้นที่สี่อำเภอ จังหวัดสงขลา นอกจากคนอื่นๆ

“แนวทางการสืบสวนสอบสวนพยานหลักฐานต่างๆ จากนิติวิทยาศาสตร์ พบว่าหลักฐานชี้ให้เห็นว่าเป็นกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบ แต่กลับมาก่อเหตุจี้ปล้นร้านทอง" พล.ต.ท.รณศิลป์ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว

พล.ต.ท.รณศิลป์ กล่าวอีกว่า หลังเกิดเหตุชุดสืบสวนสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ จนรู้ตัวผู้ที่ร่วมก่อเหตุแล้ว 2 คน คนแรก คือ นายแวอูเซ็ง ดือราเฮ็ง เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับ ป.วิอาญา คดีความมั่นคง จำนวน 3 คดี ในพื้นที่ จ.ปัตตานี ทั้งของ ปี 61 จำนวน 2 หมาย และปี 62 จำนวน 1 หมาย ส่วนคนที่สอง คือ นายไซฟูดดิน หะยีปูเต๊ะ มีหมายจับ ป.วิอาญาคดีความมั่นคง จำนวน 4 หมาย เป็นหมายจับของศาล จ.นาทวี เมื่อปี 60 หมายจับศาล จ.สตูล เมื่อปี 60 และหมายจับศาล จ.ปัตตานี ปี 61 และ 62

นอกจากนั้น นับตั้งแต่วันที่ 4 เดือนสิงหาคมนี้ ได้เกิดการระเบิดตู้เอทีเอ็ม ที่หน้าสถานศึกษาหลายจุด ในจังหวัดปัตตานี ซึ่งมีเงินสดหายไปด้วย นอกจากนั้น เมื่อวันอังคารที่ผ่านมานี้ มีคนร้ายปล้นแม่ค้าขายทุเรียน ในตำบลสะเตงนอก อำเภอเมือง จ.ยะลา ได้เงินสดไป 2 แสนบาท เจ้าหน้าที่เชื่อว่า เหตุการณ์ทั้งหมดมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบในพื้นที่ เชื่อว่านำเงินไปสนับสนุนในการแบ่งแยกดินแดน

"ในส่วนของการก่อเหตุห้วงระยะหลังที่ผ่านมายังสามารถวิเคราะห์ได้อีกว่า การก่อเหตุมีการพัฒนารูปแบบเป็นการปล้นทรัพย์ เพื่อนำเงินสนับสนุนกลุ่มขบวนการแล้ว" พล.ต.ท.รณศิลป์ กล่าวเพิ่มเติม

อดีตแกนนำบีอาร์เอ็น ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกราย กล่าวว่า การปล้นบุคคลที่ไม่ใช่คนมลายู สามารถทำได้

"การปล้นตู้เอทีเอ็มหรือปล้นอะไรก็ตาม ที่เป็นของรัฐหรือธุรกิจของคนรวยที่ไม่ใช่ของคนมลายู ถือเป็นเรื่องปกติทำได้ เพราะคนในขบวนการเชื่อว่า คนเหล่านี้เข้ามาอาศัยอยู่ในดินแดนของตน" นายอิบรอเฮง (ขอสงวนนามสกุล) กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“หากกระทำกับคนกลุ่มนี้ ก็ไม่ได้กระทบอะไรกับคนมลายูส่วนใหญ่ในพื้นที่เลย อย่างเช่น การปล้นตู้เอทีเอ็มของธนาคารอิสลาม ก็เป็นธนาคารของรัฐ การปล้นร้านทอง ก็ไม่ใช่ของคนมลายู เรื่องแบบนี้ขบวนการทำมานานแล้ว แต่ใช้การเรียกค่าไถ่แทนการปล้น โดยเป้าหมายในอดีต คือร้านค้า หรือกิจการของคนเชื้อสายจีน” นายอิบรอเฮง กล่าวเพิ่มเติม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง