กสทช. แถลงปิดเฟซบุ๊คและยูทิวบ์แล้ว 1,940 จาก 3,726 ยูอาร์แอล
2017.08.07
กรุงเทพฯ
ในวันจันทร์ (7 สิงหาคม 2560) นี้ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้กำหนดเมื่อวันที่ 18 กค. ให้ผู้ให้บริการปิดเว็บไซต์ผิดกฎหมายทั้งหมดภายในวันนี้ 7 ส.ค. 2560 และวันนี้ เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า เว็บไซต์ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต เฟซบุ๊ค และยูทิวบ์ สามารถปิดยูอาร์แอลผิดกฎหมายได้แล้ว 1,940 ยูอาร์แอล จากที่ กสทช. ร้องขอ 3,726 ยูอาร์แอล โดยผู้ให้บริการอ้างว่า 1,786 ยูอาร์แอลที่เหลือ ไม่ได้รับรายชื่อจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)
“จำนวนยูอาร์แอลที่เราส่งไปให้ 3,726 ยูอาร์แอล เป็นข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ถึง 16 กรกฎาคม ปีนี้ เอ็ชทีทีพี (เว็บไซต์) มีจำนวน 106 ยูอาร์แอลได้มีการระงับไปทั้งหมดแล้ว ส่วนที่เป็นของเฟซบุ๊ค 2,556 ยูอาร์แอล ขณะนี้มีการระงับไปแล้ว 1,039 ยูอาร์แอล ส่วนที่เป็นของยูทิวบ์ 980 ยูอาร์แอล ระงับ 779 ยูอาร์แอล อื่นๆ 84 ยูอาร์แอล ระงับ 16 ยูอาร์แอล” นายฐากรระบุ
“ผู้ให้บริการต่างประเทศยืนยันว่า เขาได้มีการระงับข้อมูลอย่างที่เราได้มีการขอความร่วมมือไปทั้งหมดครบถ้วนแล้ว ซึ่งข้อมูลทั้งหมดที่เขาได้รับ เขาหมายถึงว่า เป็นข้อมูลที่กระทรวงดีอีเป็นผู้ส่งให้เขา ส่วนที่ก็อปปี้ส่งมาให้ กสทช. กับทางไอเอสพี กับ ไอไอจี มันเป็นข้อมูลที่ไม่ตรงกัน ไม่สอดคล้องกัน เพราะฉะนั้น ขั้นตอนในวันนี้ กสทช. กับทางกระทรวงดีอีต้องมีการประสานงานกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ข้อมูลการปิดกั้นสอดคล้องและตรงกัน” นายฐากรกล่าว
นายฐากรกล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันอังคารนี้จะได้เดินทางเข้าพบ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลดีอี เพื่อหาทางประสานงานปิดเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมายเพิ่มเติม จากการเปิดเผยของนายฐากรยังระบุว่า ก่อนวันที่ 1 พ.ค. 2560 มีเว็บไซต์ผิดกฎหมายที่ถูกสั่งให้ปิดแล้วกว่า 6,900 ยูอาร์แอล
ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา กสทช. ได้พูดคุยกับผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตในประเทศไทยเป็นระยะ เพื่อขอให้ทำการปิดการเข้าถึงเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเข้าข่ายผิดกฎหมาย เช่น ลามกอนาจาร ขายของผิดกฎหมาย การพนัน หมิ่นเบื้องสูง หรือกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ โดยระหว่างวันที่ 1 พ.ค. – 16 ก.ค. 2560 กสทช. เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ได้ส่งรายชื่อและหมายศาลของเว็บไซต์ผิดกฎหมายไปให้ผู้ให้บริการดำเนินการปิดการเข้าถึงจำนวนหนึ่งแล้ว โดยกำหนดให้ปิดเว็บทั้งหมดภายในวันที่ 7 ส.ค. 2560 แต่อย่างไรก็ตามไม่ได้ระบุบทลงโทษ หากผู้ให้บริการไม่ได้ดำเนินการปิด
และก่อนหน้านี้ ในวันที่ 12 เม.ย. 2560 กระทรวงดีอีได้ออกประกาศให้ประชาชนไทยงดเว้นการติดตาม ติดต่อ และเผยแพร่ข้อความบนเฟซบุ๊คของนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธุ์ และนายแอนดรูว์ แมคเกรเกอร์ มาร์แชล ซึ่งเป็นบุคคลที่มักนำเสนอข้อมูลเชิงวิพากษ์-วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยผ่านอินเทอร์เน็ต โดยประกาศดังกล่าวระบุว่า การติดตาม ติดต่อ และเผยแพร่ข้อมูลของบุคคลทั้งสาม อาจเป็นการเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550
และ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้ออกประกาศ เรื่อง ขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทําให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนําข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ลงวันที่ 22 ก.ค. 2560 ผ่านเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ซึ่งมีใจความสำคัญคือการกำหนดให้ ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตจำเป็นต้องระงับการเผยแพร่ข้อมูลที่กระทบต่อความมั่นคงใน 24 ชั่วโมงหลังจากได้รับการแจ้งเตือน ซึ่งหากไม่มีปฎิบัติตามจะถือว่ามีความผิด