รัฐวางแผนติดอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง 24,700 หมู่บ้านทั่วไทย
2017.09.11
กรุงเทพฯ

ในวันนี้ (11 กันยายน 2560) ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยถึงการดำเนินการในการปฏิรูปประเทศ เพื่อเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลว่า จะเป็นการพลิกโฉมประเทศไทยในการนำเทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม หลังจากติดตั้งอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงครอบคลุมพื้นที่ 24,700 หมู่บ้านทั่วประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายและสะดวกสบายมากเพิ่มขึ้น
ที่ผ่านมา รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศความพร้อมในการนำประเทศไทยเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านระบบดิจิทัล เป็นไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งก่อให้เกิดโครงการหลายโครงการ เช่น การขยายโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการติดตั้งอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงทั่วประเทศ การส่งเสริมให้บุคลากรทั้งในหน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้ความสนใจเรื่องเศรษฐกิจยุคดิจิทัล การสร้างแอปพลิเคชั่นต่างๆ ในการช่วยสนับสนุนการทำงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข หรือการนำร่องโครงการสร้างเมืองอัจฉริยะ หรือ SMART CITY ที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการครอบคลุมหกจังหวัด ประกอบด้วย ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น โดยมีแผนการที่จะขยายโครงการให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายใน 20 ปี
“นี่จะเป็นการเปลี่ยนเทรนด์ประเทศไทย ไม่ใช่แค่เรื่องโครงสร้างพื้นฐานอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องการให้โอกาสประชาชน ที่เคยมีความเหลื่อมล้ำ ที่เคยไม่มีโอกาส จะมี availability ต้องมี accessibility ต้องเข้าถึง affordability ต้องมีปัญญาจ่ายด้วย” นายพิเชษฐ์ กล่าวระหว่างงานแถลงข่าวที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในการจัดงานนิทรรศการนานาชาติ Digital Thailand Big Bang 2017 ภายใต้แนวคิด Digital Transformation Thailand
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยหวังว่าจะช่วยปลุกความตื่นตัวของบุคลากรในภาคเศรษฐกิจและสังคม ให้เท่าทันกับกระแสของโลกที่กำลังย้ายตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยตั้งเป้าว่า ประเทศไทยสามารถพัฒนาศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลได้ในอนาคต
การเข้มงวดต่อเนื้อหาทางอินเตอร์เน็ต
อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เมื่อปี 2557 หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องได้ยกระดับความเข้มงวดในการติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล และกลุ่มหมิ่นเบื้องสูงทางเว็บไซต์ หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ โดยทางกระทรวงดีอี ได้ดำเนินการขออำนาจศาลลบข้อความที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมบนเฟซบุ๊ค ยูทูบ และกูเกิล รวมทั้งปิดเว็บไซต์ต่างๆ ไปแล้วจำนวนมากกว่า 6,000 ยูอาร์แอล
โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ระบุว่าหลังการรัฐประหารโดย มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 82 คน มีผู้ที่ถูกตัดสินจำคุกแล้ว 38 คน อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี 35 คน ได้รับการยกฟ้อง 7 คน และไม่มีข้อมูลคดี 2 คน
ด้านนายพิเชษฐ์ กล่าวว่า รัฐบาลได้เตรียมการรับมือกับการเติบโตของเทคโนโลยีดิจิทัล โดยการออกกฎหมาย ถึง 8 ฉบับ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดทางอินเตอร์เน็ต มีการตั้งคณะกรรมการเข้ามาควบคุม ดูแลการทำธุรกรรม และการเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัว รวมถึงบทกำหนดโทษ หากมีการกระทำความผิดเข้าข่ายความผิดทางเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์
“ทุกประเทศก็ห่วงเรื่องนี้กันหมดไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย ทุกประเทศตั้งหลักด้วยเรื่องความปลอดภัยทางด้าน cyber security” นายพิเชษฐ์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ ภายหลังงานแถลงข่าว
“สำหรับประเทศไทย เราดูละเอียด ถ้าในตัวความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จะดูแลด้านความสงบเรียบร้อย ส่วนเรื่อง cyber security จะมาจากนอกประเทศ ซึ่งเยอะ และสามารถทำในประเทศได้ด้วย เดี๋ยวนี้เครือข่ายมันเยอะ เน็ตเวิร์คมันเยอะ บางทีหาตัวไม่เจอ การป้องกันและปราบปรามก็เช่นเดียวกัน เป็นการบอกว่าอย่าทำอะไรไม่ดี ไม่ว่าจะเรื่องหมิ่น หรือการประกอบธุรกิจผิดกฎหมาย โดยใช้เน็ตเวิร์ค คอมพิวเตอร์ เป็นช่องทางหลอกลวง เรามีหน้าที่ปกป้องผู้บริโภค ประเทศไหนก็ทำกัน อย่างน้อยเป็นการส่งสัญญาณให้คนที่คิดไม่ดีให้หยุดทำ” นายพิเชษฐ์ กล่าว
“เราทำเรื่องอินเตอร์เน็ตประชารัฐ เราก็ดูแลเรื่องพวกนี้ควบคู่ไปด้วย เราก็เข้าใจว่าการทำเรื่องพวกนี้มีความละเอียดอ่อนในเรื่องข้อมูล ทุกฝ่ายต้องช่วยกันปกป้องข้อมูล” นายพิเชษฐ์ กล่าวเพิ่มเติม