เหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เกิดโรคเกลียดกลัวอิสลาม
2016.05.25
ปัตตานี

แก้ไขข้อมูล 11:55 p.m. ET 2016-05-25
เหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นเมื่อ ปี 2547 ได้นำไปสู่การเกลียดกลัวชาวมุสลิม (Islamophobia) ในส่วนอื่นๆ ของประเทศไทย โดยชาวไทยมุสลิมในภาคใต้แย้งว่า สาเหตุว่ามาจากความไม่เข้าใจในสถานการณ์และรายงานข่าวที่มีแต่แง่มุมของความรุนแรง ผู้เข้าเสวนาเรื่องความเกลียดกลัวศาสนาอิสลามกล่าว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม นี้ มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง ได้ปักป้ายผ้าที่มีข้อความต่อต้านการสร้างมัสยิดกลางประจำจังหวัดมุกดาหาร เลขที่ 100 ถนนเลี่ยงเมือง อ.เมือง จ.มุกดาหาร โดยอ้างอิงถึงการที่ชาวไทยมุสลิมต่อต้านการสร้างพุทธมณฑลในปัตตานี จึงสมควรที่จะต่อต้านการสร้างมัสยิดในมุกดาหาร
นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นลูกชายจุฬาราชมนตรี ได้กล่าวในงานเสวนา “Islamophobia" (โรคเกลียดกลัวอิสลาม) ในสังคมไทย เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร” ที่มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม นี้ กล่าวว่า กระแสอิสลามโมโฟเบีย (Islamophobia) ในประเทศไทย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมาจากความไม่เข้าใจของพี่น้องที่อยู่ไกลพื้นที่สามจังหวัด แล้วรับข้อมูลข่าวสารจากสื่ออย่างเดียว
“จริงๆ แล้วปรากฏการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในวันนี้ ไม่สามารถพูดได้อย่างหยาบๆ ว่า เป็นผลมาจากกลุ่มที่ถูกเรียกว่า โจรใต้ หรือผู้ก่อความไม่สงบอีกต่อไป เพราะมีความซับซ้อน คนในพื้นที่เองก็เริ่มเข้าใจสถานการณ์มากขึ้นว่า ปัญหามีความซับซ้อนเกินกว่าเรื่องแยกดินแดน หรือปัญหาพุทธหรือมุสลิม” นายซากีย์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม เฟซบุคที่ใช้ชื่อว่า ชน “พุทธ” กลุ่มน้อย ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้นำภาพการฟื้นฟูศาสนาพุทธในประเทศอินโดนีเซียมาเผยแพร่ และกล่าวว่า ศาสนาพุทธกำลังถูกคุกคามเข่นฆ่า โดยอาจจะหายสาบสูญไปจากจังหวัดชายแดนใต้
“พุทธศาสนาบ้านเราใน 3 จชต กำลังจะหายไป แต่ที่อินโดนีเซียได้รับการพื้นฟู เพราะคนพุทธเราถูกเข่นฆ่า การกลับมาบิณฑบาตรอีกครั้งโดยพระสงฆ์ไทยในอินโดนีเซีย หลังจากที่พุทธศาสนา สูญหายไปจากเกาะชวา 500 ปี ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน และประชาชนเป็นอย่างมาก”
นับตั้งแต่การเกิดเหตุรุนแรง ที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบบุกปล้นปืนกองพันพัฒนาที่ 4 ในอำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ได้ปืนไปกว่าสี่ร้อยกระบอก เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 จวบจนถึงปัจจุบัน มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 6,500 ราย บาดเจ็บอีกประมาณ 12,000 ราย ซึ่งมีทั้งชาวพุทธและชาวมุสลิมในอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกัน
นายตอลา เด็งลาลา ชาวบ้านจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า “เข้าใจคนนอกพื้นที่ ว่ารู้สึกไม่ดีกับคนสามจังหวัด โดยเฉพาะพี่น้องมุสลิม เพราะปัญหาที่เกิดขึ้น ในสามจังหวัด รัฐตีตราว่า กลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบทำ.. โดยความหมายของรัฐ คือ พี่น้องมุสลิม[เป็นผู้กระทำ] ปัญหาจริงๆ ซับซ้อนมากกว่าที่จะบอกว่ากลุ่มไหนทำ นี่คือ ปัญหาที่รัฐพยายามสร้างความขัดแย้งอย่างไม่รู้ตัว”
นายตอลา กล่าวต่อไปว่า อีกมุมหนึ่ง สื่อมวลชนเสนอรายงานเฉพาะแต่เรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้น มากกว่าการเสนอแง่มุมชีวิตของคนในพื้นที่ ทั้งที่เขายังอยู่อย่างสามัคคี พยายามที่จะสร้างความรักให้เกิดขึ้น
“ไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ทำไมคนมุกดาหาร คนเชียงใหม่ ถึงออกมาปักป้ายไม่ต้องการให้มีการสร้างมัสยิด เพราะหลายครั้ง ลูกหลานเขามาทำงานในพื้นที่ แต่เวลากลับบ้านต้องกลายเป็นศพ ข่าวก็เสนอว่าขบวนการทำให้เขาถูกยิง ถูกระเบิดตาย ส่วนข่าวดีๆ ความสามัคคีที่เกิดในพื้นที่ความรักที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ไม่มีใครรู้ เพราะสื่อไม่ได้เสนอ ทางแก้ คือ เราต้องช่วยกัน ทำให้คนนอกรู้ว่าเราอยู่กันได้อย่างปกติ” นายตอลา กล่าว
ด้านนางสาวไพรหงส์ ไม้ข้าม ชาวจังหวัดยะลา กล่าวว่า เหตุการณ์ที่ยังไม่สงบนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่รัฐบาลไม่จริงในการแก้ไขปัญหา และเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นยังมีการคอรัปชั่นในโครงการของรัฐ ในการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่
“มั่นใจว่า ที่ทำให้เกิดความรุนแรงตอนนี้ เพราะรัฐ ยังไม่มีความจริงใจ รัฐยังใช้หน้ากากผีเข้าหาประชาชน อำเภอยังขอเงินเปอร์เซ็นต์จากชุมชน ในการทำโครงการ มั่นใจ 100 เปอร์เซ็นต์ ว่าไม่มีอำเภอไหนที่ไม่ได้มีการขอเปอร์เซ็นต์” นางสาวไพรหงส์ กล่าว
นายหามะ เจะโว๊ะ ชาวจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า “ทางออกคือรัฐต้องทำให้คนที่คิดต่างจากรัฐ กล้ามาคุย กล้ามาแสดงความคิดที่ต่างจากรัฐให้ได้ และที่จะทำให้เขาทำแบบนั้น รัฐก็ต้อง มีความจริงใจ ต้องมีงานพัฒนาที่มาจากความต้องการของเขา ให้การศึกษากับเด็กรุ่นใหม่”
สังคมพยายามสร้างความสามัคคี
วันจันทร์ที่ 22 พฤษภาคม 2559 ที่พักสงฆ์แก้ว ศิริธรรม บ้านเจาะบากง หมู่ 3 ต.ปูโยะ อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส นางเสาร์ ดำประเสริฐ แกนนำพี่น้องพุทธในพื้นที่ร่วมกับนายไซมิง มะ ผู้นำศาสนา นายปรีชา นวลน้อย นายอำเภอสุไหงโก-ลก และพระขจรวุฒิ เขมธัมโม เจ้าสำนักที่พักสงฆ์แก้วศิริธรรม กว่า 300 คน ร่วมจัดกิกรรมสร้างพลังสามัคคี ให้กับคนในชุมชน
นอกจากนี้ อีกหลายพื้นที่ ยังมีกิจกรรมระหว่างพี่น้องไทยพุทธและมุสลิมในพื้นที่ ลักษณะสมทบทุนช่วยเหลือพี่น้องพุทธในพื้นที่ จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ที่เดือดร้อนจากสถานการณ์ความไม่สงบ โดยแต่ละอำเภอหรือจังหวัด จะมีการตั้งศูนย์ช่วยเหลือกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อสร้างความสามัคคีและความรักภายในพื้นที่ และเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้สังคมภายนอกได้เห็นว่าพี่น้องในพื้นที่ยังสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข
พระขจรวุฒิ เขมธัมโมจัดงานกิจกรรมสร้างพลังสามัคคี ณ ที่พักสงฆ์แก้วศิริธรรม โดยมีชาวมุสลิมร่วมช่วยเหลือ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2559 (เบนาร์นิวส์)
นายปรีชา นวลน้อย นายอำเภอสุไหงโก-ลก กล่าวว่า ทุกภาคส่วน ทั้งผู้นำท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ส่วนราชการทหาร โต๊ะครูปอเนาะอัรอุรวาตุลวุสกอ อิหม่ามประจำมัสยิดโคกกูโน หมู่ที่ 3 ตำบลปูโยะ พระสงฆ์จากสำนักสงฆ์บ้านเจาะบากง รวมทั้งพี่น้องไทยพุทธและไทยมุสลิมในพื้นที่ ร่วมกันจัดกิจกรรมระดมทุน เพื่อช่วยเหลือพี่น้องไทยพุทธบ้านเจาะบากง หมู่ที่ 3 ตำบลปูโยะ อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีอัตลักษณ์ทางด้านพหุวัฒนธรรม ที่พี่น้องไทยพุทธ และไทยมุสลิมอยู่ร่วมกันมาอย่างยาวนาน ไม่เคยมีปัญหาจนถึงปัจจุบัน นับได้ว่าเป็นหนึ่งหมู่บ้านของจังหวัดนราธิวาส ที่แสดงออกถึงความแตกต่างทางศาสนา ที่ไม่สร้างความแปลกแยกของคนในชุมชน
*แก้ไขข้อมูล เป็นการจัดงานกิจกรรมสร้างพลังสามัคคีร่วมกัน ณ ที่พักสงฆ์แก้วศิริธรรม