กรมอุทยานแห่งชาติทำลายงาช้างของกลางน้ำหนักกว่าสองตัน เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
2015.08.26

ในวันพุธนี้ (26 ส.ค. 2558) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้จัดให้มีพิธีทำลายงาช้างแอฟริกา ที่ยึดได้จากขบวนการค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ เป็นน้ำหนักกว่าสองตัน โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ ผู้แทนทางการทูต และองค์กรอนุรักษ์ร่วมเป็นสักขีพยาน เพื่อเน้นย้ำเจตนารมณ์ในการปราบปรามอาชญากรรมสัตว์ป่าและร่วมกันหยุดการลักลอบค้างาช้างผิดกฎหมาย
จากข้อมูลของกรมอุทยานแห่งชาติฯ สิ่งที่ถูกทำลายในวันนี้ มีตั้งแต่งาช้างดิบทั้งกิ่งและท่อน งาช้างแกะสลัก และผลิตภัณฑ์งาช้างจากแอฟริกา คิดเป็นน้ำหนัก 2,155.17 กิโลกรัมคิดเป็นมูลค่าประมาณหนึ่งร้อยล้านบาท และคำนวณว่าได้มาจากการฆ่าช้างประมาณ 200 เชือก
นับเป็นการบดและเผาทำลายงาช้างครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของรัฐบาลไทย โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดพิธีทำลายงาช้างของกลางที่คดีสิ้นสุดและตกเป็นของแผ่นดิน พร้อมกล่าวว่า “เราต้องทำต่อเนื่อง ต้องแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ทำอะไรต้องให้เป็นรูปธรรมเป็นก้าวต่อไปของไทยให้นานาประเทศยอมรับเราได้ เราจะร่วมมือทำกันต่อไป และดูแลช้างและทรัพยากรธรรมชาติของเราให้ดีที่สุดด้วยกฎหมายและการปฎิบัติที่เข้มงวด”
“การทำลายงาช้างของกลางในครั้งนี้เป็นมากกว่าเพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพราะนี่เป็นหนึ่งในขั้นตอนที่สำคัญอย่างยิ่งในความพยายามของประเทศไทย ในการขจัดปัญหางาช้างผิดกฎหมายในปีที่ผ่านมา” จันทร์ปาย องค์ศิริวิทยา ผู้จัดการงานรณรงค์ต่อต้านการค้าสัตว์ป่า ตัวแทนจาก WWF ผู้เข้าร่วมการตรวจสอบในครั้งนี้ กล่าวในคำแถลงของ WWF “พิธีทำลายงาช้างในครั้งนี้สอดคล้องกับพันธสัญญาของรัฐบาลไทยและเจตจำนงค์ของคนไทยในการหยุดการลักลอบการค้างาช้างผิดกฎหมาย ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญระดับโลก” คำแถลงกล่าว
กรมอุทยานแห่งชาติได้กล่าวทางเวบไซต์ว่า การทำลายงาช้างในครั้งนี้ เพื่อเป็นการแสดงเจตนารมณ์เชิงสัญลักษณ์ ให้นานาชาติได้รับรู้ว่าคนไทยและประเทศไทยมีจิตใจอนุรักษ์ช้าง ไม่ว่าช้างนั้นจะเป็นช้างของไทยหรือช้างแอฟริกา เราไม่ต้องการส่งเสริมให้มีการลักลอบล่าเพื่อเอางา หรือการค้างาช้างที่ผิดกฎหมาย
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยกลายเป็นทางผ่านของการลักลอบงาช้างจากประเทศในแอฟริกา จนเป็นเหตุให้ที่ประชุมของคณะกรรมการบริหารอนุสัญญา CITES ครั้งที่ 65 ระหว่างวันที่ 7-11 กรกฎาคม 2557 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส มีมติให้ประเทศไทยต้องดำเนินการเพื่อควบคุมการค้างาช้างให้มีประสิทธิภาพ ดังกล่าวคือ หนึ่ง ตรากฎหมายหรือข้อบังคับที่เหมาะสม เช่น การกำหนดให้ช้างแอฟริกาเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองภายใต้กฎหมายสัตว์ป่า เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการควบคุมการค้าภายในประเทศ และการครอบครองงาช้าง และการค้างาช้างอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการกำหนดโทษแก่ผู้กระทำผิด สอง ตรากฎหมายหรือข้อกำหนดให้มีระบบการจดทะเบียนงาช้างภายในประเทศ และระบบที่มีประสิทธิภาพเพื่อการจดทะเบียนและออกใบอนุญาตผู้ค้างาช้าง รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายและบทกำหนดโทษแก่ผู้กระทำผิด และสาม เพิ่มความพยายามในการติดตามและควบคุมผู้ค้างาช้างและข้อมูลงาช้าง เพื่อการบังคับใช้กฎหมายในการปราบปรามการค้างาช้างที่ผิดกฎหมาย รวมถึงตัวชี้วัดที่สามารถตรวจวัดได้ และให้รายงานความก้าวหน้าภายในวันที่ 15 มกราคม 2558 และวันที่ 31 มีนาคม 2558 หากประเทศไทยไม่สามารถดำเนินการตามมติที่ CITES แจ้งมาได้ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2558 ภาคีอนุสัญญา CITES จะระงับการค้ากับประเทศไทย