ครอบครัวอดีตครูใหญ่โรงเรียนญิฮาดวิทยา เตรียมยื่นอุทธรณ์คดีโรงเรียนถูกยึดภายใน 14 กุมภาพันธ์นี้
2016.02.03

นางซูไฮลา แวมะนอ ลูกสาวอดีตครูใหญ่โรงเรียนญิฮาดวิทยา หรือ "ปอเนาะญิฮาด" ที่ถูกศาลแพ่งสั่งยึดเมื่อปลายปีที่ผ่านมา กล่าวว่า ทางครอบครัวของตน ได้ยื่นขอศาลยืดระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปแล้ว แต่ยังต้องหารือแนวทางในการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลแพ่ง และการใช้ชีวิตของครอบครัว หากศาลสูงสุดจะพิพากษาให้ยึดโรงเรียนและที่ดินไป
"ตอนนี้ ได้ทำเรื่องไปที่ศาลเพื่อขอขยายเวลาในการเตรียมเอกสาร และหาข้อสรุปจากญาติพี่น้องในครอบครัว ก่อนจะส่งยื่นอุทธรณ์ต่อศาล" นางซูไฮลา ลูกสาวของนายดูนเลาะ แวมะนอ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในวันพุธ (3 ก.พ. 2559) นี้
“หลังจากมีการแถลงเมื่อวานที่สำนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี คิดว่าเป็นเรื่องที่ทางครอบครัวจะต้องร่วมกันหารือกันภายในอีกครั้ง เพราะรู้สึกว่ามีเรื่องใหม่เข้ามาเพิ่มอีกเรื่อง ที่ต้องร่วมกันหารือถึงอนาคตของครอบครัว โดยเฉพาะการใช้ชีวิตหลังจากที่สู้คดีในชั้นศาล อีกสองศาล” นางซูไฮลา กล่าวแก่ในการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์
“เรื่องที่ เราสามารถอยู่อาศัยได้ต่อ หากถูกยึดไปแล้ว ถ้ารัฐยังไม่นำไปใช้ประโยชน์ ก็รู้สึกไม่สบายใจอยู่ดี ถ้าต้องอยู่โดยที่รัฐเป็นเจ้าของ กลัวว่าไปทำผิด เขาจะเอายังไง ก็เป็นปัญหาอีก” นางซูไฮลา กล่าวแสดงความกังวล
ด้านนายสิทธิพงศ์ จันทร์วิโรจน์ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม กล่าวว่า" ฝ่ายผู้ร้องได้ขอขยายเวลาจากศาล เนื่องจากเตรียมเอกสารไม่ทันเสร็จภายในเวลาที่กำหนด เพราะคดีนี้มีเอกสารเยอะมากต้องศึกษาคำสั่งก่อน จึงจะยื่นอุทธรณ์ ศาลได้อนุญาติให้ขยายเป็นเวลา 1 เดือน และ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ นี้ จะครบกำหนด คิดว่าน่าจะไม่ขอขยายเวลาเพิ่ม เพราะคาดว่าจะสามารถทำเอกสารส่งยื่นอุทธรณ์ได้ทัน"
ทางด้านนายกิตติ สุระกำแหง ผู้อำนวยการสำนักยุติธรรม ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งได้อำนวยความยุติธรรมในคดีนี้ ได้กล่าวถึงข้อกังวลของนางซูไฮลาว่า ต้องรอกระบวนการของศาลสิ้นสุดลงก่อน จึงจะร่วมกันหาทางออกของปัญหาเพื่อไม่นำสู่การเป็นเงื่อนไขความขัดแย้งของพื้นที่ต่อไป
“ฝ่ายความมั่นคงกำลังหาทางออกว่า อาจปรับปรุงเป็นสถานศึกษาให้กับชุมชน เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้บริจาค โดยให้เจ้าของที่เดิมเป็นผู้บริหารต่อ ถึงแม้ที่ดินดังกล่าวจะไม่สามารถถ่ายโอนเป็นกรรมสิทธิ์ได้ แต่อย่างน้อยก็ยังเป็นสถานศึกษาให้กับชุมชนกลับมาได้อีกเหมือนเดิม และเจ้าของเดิมยังสามารถใช้ประโยชน์ได้เหมือนเดิม ซึ่งถือเป็นทางออกของปัญหาได้อีกทางหนึ่ง” นายกิตติ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในวันนี้
ศาลแพ่งสั่งยึดโรงเรียนสอนการก่อความไม่สงบ
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2558 ศาลแพ่งมีคำพิพากษาคดี หมายเลขดำ ฟ.26/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 ยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สิน ซึ่งเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 699 หมู่ 4 ต.ตะโละกาโปร์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เนื้อที่ 14 ไร่ 1 งาน 42 ตารางวา ราคาประเมิน 591,090 บาท เป็นที่ตั้งของโรงเรียนญิฮาดวิทยา หรือ "ปอเนาะญิฮาด" ซึ่งนายดูนเลาะ เป็นครูใหญ่ ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่สนับสนุนการก่อการร้าย
คำร้องของอัยการระบุพฤติการณ์ สรุปว่า เจ้าหน้าที่ได้จับกุมผู้ก่อความไม่สงบได้ 2 คน ในปี 2547 ซึ่งให้การยอมรับว่าเป็นสมาชิกหน่วยคอมมานโดของกลุ่มบีอาร์เอ็น ถูกส่งตัวฝึกหลักสูตรคอมมานโด และชุดรบขนาดเล็ก (อาร์เคเค) ที่โรงเรียนญิฮาดวิทยา หรือ "ปอเนาะญิฮาด" โดยมี นายอิสมาแอ หรือจิแอ มะเซ็ง เป็นผู้ควบคุมการฝึก และนายดูนเลาะ แวมะนอ หรือเป๊าะซูเลาะ เป็นครูใหญ่ของของโรงเรียน
ภายหลังการตัดสินของศาลแพ่งสองวัน นางยาวาฮี แวมะนอ ภรรยาของนายดูนเลาะ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ตนรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับครอบครัว เพราะที่ดินไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของสามี แต่เป็นของบิดาของตน ซึ่งเมื่อยามแก่ได้ให้ตนแต่งงานกับนายดูนเลาะ ที่มาเป็นครูใหญ่ช่วยดูแลกิจการของโรงเรียน
คำชี้แจงจากฝ่ายอัยการ
นายโสภณ ทิพย์บำรุง อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 2 ได้กล่าวในระหว่างการชี้แจงคดีนี้ แก่ทาง ศอ.บต. ทางกอ.รมน. ภาคสี่ และสื่อมวลชนเมื่ออังคารนี้ว่า คดีนี้ไม่ใช่คดีอาญา แต่เป็นคดีฟอกเงินและมีส่วนเกี่ยวกับคดีแพ่ง ถือเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามบทนิยาม ที่บัญญัติไว้ใน มาตราที่ 3 (21) ตามพรบ.การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
“ในคดีนี้ ที่ดินแปลงนี้ ดูตามหลักฐานที่ศาลยึดเนื่องจากว่าได้ใช้เป็นที่ฝึกของกลุ่มคนร้ายในขบวนการ ศาลแพ่งเชื่อที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินไต่สวน ที่รวบรวมพยานมา และให้อัยการยื่นคำร้องไต่สวน เนื่องจากที่แปลงนี้ จากการนำสืบของผู้ร้อง ดูจากคำพิพากษา คือ คนร้ายใช้ในการฝึกเพื่อที่จะไปกระทำก่อการร้าย” นายโสภณกล่าว
“ศาลเชื่อโดยอาศัยพยานหลักฐานในคดีอาญา ที่มีการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาหลายคน ถ้าจำไม่ผิดน่าจะประมาณ 41 คน ข้อกังขา ผู้ต้องหาในนี้ หลบหนี บางคนได้ตัวมาแล้ว ฟ้องศาลแล้ว ศาลยกฟ้อง บางคนได้ตัวมาที่หลัง แล้วคดีนี้ อยู่ในอำนาจของผม มีหลายคนก็ได้สั่งยกฟ้องไปแล้ว” นายโสภณกล่าวเพิ่มเติม
นายโสภณกล่าวต่อไปว่า กระบวนการของศาล นอกจากศาลชั้นต้น ยังมีศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ทางครอบครัวสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ ในส่วนของทรัพย์ที่ยึดจะตกเป็นของรัฐ มีประเทศไทยเป็นเจ้าของ หน่วยงานราชการซึ่งเป็นแขนขาของรัฐสามารถนำไปใช้ประโยชน์ บนที่ดินผืนนั้น แต่เมื่อรัฐไม่ต้องการใช้ประโยชน์คนอื่นก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
“เจ้าของที่ดินเดิม เขาก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ แต่ไม่มีอำนาจในการครอบครอง สังคมไทยให้อำนาจกับศาลในการตัดสินคดี คนในสังคมก็ต้องยอมรับ ในการตัดสินของศาล ปัญหาสามจังหวัดต้องทำความเข้าใจ ถึงจะแก้ปัญหาได้”
ผู้ต้องหาก่อความไม่สงบกลุ่มนายดูนเลาะรวม 36 คน ถูกดำเนินคดี
เมื่อวันที่ 16 มีนาคม ศกนี้ หน่วยข่าวกรองด้านความมั่นคงของไทย ให้ข้อมูลแก่เบนาร์นิวส์ว่า นายดูนเลาะ แวมะนอ อายุ 60 ปี เป็นรองประธานสภากองกำลังทหาร DPP หรือ Dewan Pimpinan Parti ของกลุ่มบีอาร์เอ็น ได้หลบหนีอยู่ในพื้นที่รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ในเมื่อเจ้าหน้าที่ปิดล้อมโรงเรียนญิฮาดวิทยา ในเดือนพฤษภาคม ปี 2548 แต่ยังมีความเคลื่อนไหวสั่งการชุดปฏิบัติการในพื้นที่โจมตีเป้าหมายทางเศรษฐกิจในสามจังหวัดชายแดนใต้ และ หลังจากที่มีการปิดล้อมตรวจค้น โรงเรียนญิฮาดวิทยาก็ถูกปิดร้าง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ทั้งนี้ นายดูนเลาะ กับพวกรวม 36 คน ถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีฐานร่วมกันก่อความไม่สงบ ในช่วงวันที่ 4 ม.ค. 2547 ต่อเนื่องถึงวันที่ 4 ม.ค. 2551 โดยอัยการจังหวัดปัตตานีได้สั่งฟ้อง ทั้ง 36 คน เช่นกัน และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลจังหวัดปัตตานี
นอกจากนั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ฟ้องร้องดำเนินคดีนายดูนเลาะ และพวกรวม 11 คน ฐานเป็นกบฏอั้งยี่ จากเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ถึงวันที่ 30 มกราคม 2549 ในจังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานี อีกด้วย