ครอบครัวทายาทโรงเรียนญิฮาดวิทยาต้องย้ายออกนอกพื้นที่ เพราะศาลสั่งยึด
2016.02.16

นางยาวาฮี แวมะนอ ภรรยาของนายดูนเลาะ แวมะนอ อดีตครูใหญ่โรงเรียนญิฮาดวิทยา ได้ตัดสินใจย้ายครอบครัวไปอยู่ที่มัสยิดอัสากอฟะห์ซัลอัสลามียะห์ และใช้ห้องเรียนตาดีกาซาจาดะห์เป็นที่นอนและทำอาหาร ในวันอาทิตย์ (14 ก.พ. 2559) หลังจากตัดสินใจไม่ยื่นอุทธรณ์ในคดีที่ถูกทางการยึดโรงเรียนญิฮาดวิทยาตกเป็นของแผ่นดิน เพราะเป็นสถานที่ฝึกการก่อการร้าย
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2558 ศาลแพ่งมีคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 ยื่นคำร้องขอให้ยึดทรัพย์สินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 699 ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนญิฮาดวิทยา หรือ "ปอเนาะญิฮาด" ซึ่งนายดูนเลาะ เป็นครูใหญ่ ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่สนับสนุนการก่อการร้าย
“ตอนแรกตั้งใจจะยื่นอุทธรณ์ แต่หลังจากมีบรรยากาศที่ไม่ค่อยน่าไว้ใจ ทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร และ ศอ.บต. ที่ต่างเดินทางมาให้ความมั่นใจว่าให้ยื่นอุทธรณ์แล้วคดีจะชนะแน่นอน แต่เรารู้สึกว่าไม่น่าไว้ใจ บวกกับความรู้สึกของครอบครัว ตลอด 11 ปี ที่ครอบครัวได้ต่อสู้คดีมา ต้องเจอปัญหาหนักเกินกว่าจะรับได้อีกแล้ว ไม่อยากเจ็บอีกแล้ว ” นางยาวาฮี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ในวันอังคารนี้
นางยาวาฮี กล่าวว่า เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เป็นวันสิ้นสุดของการขอขยายเวลายื่นอุทธรณ์จากเส้นตายเดิมมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ตนเองตัดสินใจไม่ยื่นอุทธรณ์ จึงได้พากันย้ายออกมาอยู่ที่มัสยิดอัสากอฟะห์ซัลอัสลามียะห์ หมู่ที่ 3 บ้านท่าด่าน ตำบลตะโละกาโปร์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี
“หลังจากนี้ อยากใช้ชีวิตเหมือนชาวบ้านปกติ อยากให้ทุกอย่างจบ คิดว่าต่างฝ่ายต่างอยู่ดีกว่า ถือเป็นเหตุผลที่ตัดสินใจไม่ยื่นอุทธรณ์และย้ายครอบครัวออกมา ส่วนอนาคตต่อไป ได้ฝากความหวังไว้กับศิษย์เก่าโรงเรียนและชาวบ้าน” นางยาวาฮี กล่าว
นางยาวาฮีกล่าว ครอบครัวของตนเป็นครอบครัวใหญ่ มีกันทั้งหมด 14 คน [ผู้ใหญ่ 6 คน เด็ก 8 คน] ผู้ชาย 1 คน ผู้หญิง 5 คน เด็กผู้ชาย 5 คน และเด็กผู้หญิง 3 คน ในจำนวนนี้ เป็นหญิงสูงวัย คือ นางติอาวอ แวดอเลาะ อายุ 75 ปี และหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ 8 เดือน คือ นางอามีเนาะ จูและ หลังจากย้ายออกมา ในตลอด 2 วันที่ผ่านมา มีชาวบ้านและนักเรียนจากโรงเรียนในพื้นที่ และหน่วยทหารที่รับผิดชอบในพื้นที่ เดินทางเยี่ยมและให้กำลังใจครอบครัวอย่างต่อเนื่อง
ทางการชี้แจงไม่เคยไล่ และพร้อมให้ความช่วยเหลือ
ร.อ.ศิริพงศ์ อังกระโทก ผู้บังคับกองร้อยทหารพรานที่ 4202 กล่าวว่า ตนได้ทราบเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นแล้ว และวันนี้ ก็ได้มาเยี่ยมและได้เข้ามาเพื่อขอชี้แจงกับครอบครัวว่าทางเจ้าหน้าที่ไม่เคยไล่ แต่กลับพยายามเข้ามาเพื่อต้องการสอบถามในเรื่องจะให้ความช่วยเหลือเพื่อรายงานไปยังผู้บังคับบัญชา
“ก่อนหน้านี้ พล.ท. มณี จันทร์ทิพย์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 ได้สั่งการให้เข้ามาดูแลพร้อมสร้างความเข้าใจกับครอบครัว และ ตั้งใจจะช่วยเหลือในเรื่องของการฟื้นฟูโรงเรียนให้สามารถขึ้นมาสอนใหม่อีกครั้งได้ ถ้าคดีสิ้นสุดไปแล้ว เมื่อทางครอบครัวด่วนตัดสินใจเช่นนี้ ก็ต้องรายงานไปยังผู้บังคับบัญชาอีกครั้งและรอคำสั่งลงมาว่า จะให้ดำเนินการอย่างไรต่อไป” ร.อ. ศิริพงศ์ กล่าว
ทางด้าน พล.ท. มณี จันทร์ทิพย์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า ทางรัฐได้เปิดโอกาสให้ต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้คุยกับหลายฝ่าย เพื่อจะให้มีการพัฒนาพื้นที่ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นสถานที่ส่วนร่วมของชุมชนที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ จะสร้างเป็นมัสยิดก็ยังได้
“หลังจากนี้ จะต้องมีการพูดคุยกับหลายฝ่ายก่อนว่าทางจังหวัด และ ทาง กอ.รมน. 4 จะให้ความช่วยเหลืออย่างไรบ้าง และคิดว่าจะต้องลงพื้นที่เพื่อชี้แจงให้ชาวบ้านรับทราบข้อเท็จจริงว่ารัฐไม่ได้รังแก ได้ดำเนินการตามกฎหมาย ถูกว่าไปตามถูกผิดว่าไปตามผิด เพื่อความสงบสุขของทุกคน” พล.ท.มณี กล่าว
ประวัติที่มาในอดีต
ตามข้อมูลของทางการไทย นายดูนเลาะ แวมะนอ อายุ 60 ปี สามีของนางยาวาฮี เป็นรองประธานสภากองกำลังทหาร DPP หรือ Dewan Pimpinan Parti ของกลุ่มบีอาร์เอ็น ได้หลบหนีไปอยู่ในประเทศมาเลเซีย เมื่อเจ้าหน้าที่ปิดล้อมโรงเรียนญิฮาดวิทยา ในเดือนพฤษภาคม ปี 2548 จนถูกปิดร้าง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นายดูนเลาะ ยังมีความเคลื่อนไหวสั่งการชุดปฏิบัติการในพื้นที่ โจมตีเป้าหมายทางเศรษฐกิจในสามจังหวัดชายแดนใต้
นายดูนเลาะ กับพวกรวม 36 คน ถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีฐานร่วมกันก่อความไม่สงบ ในช่วงวันที่ 4 ม.ค. 2547 ต่อเนื่องถึงวันที่ 4 ม.ค. 2551 โดยอัยการจังหวัดปัตตานีได้สั่งฟ้อง ทั้ง 36 คน เช่นกัน และคดีอยู่ในชั้นศาลที่จังหวัดปัตตานี
นอกจากนั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ฟ้องร้องดำเนินคดีนายดูนเลาะ และพวกรวม 11 คน ฐานเป็นกบฏอั้งยี่ จากเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ถึงวันที่ 30 มกราคม 2549 ใน จังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานี อีกด้วย
“ครอบครัวเราเจออะไรมามากแล้ว นับจากพ่อ คือ นายบารอเฮง เจะอาแซ ถูกยิงเสียชีวิต ลูกชายคนโต ถูกยิงเสียชีวิต นายบัลยาน ถูกเชิญตัวไปอยู่ที่ค่ายอิงยุทธ์ฯ 15 วัน ต่อสู้คดีเรื่องที่ดินปอเนาะ จนแพ้ ถามว่าจะเอาแรงที่ไหนสู้ต่อไปได้อีก ตลอดที่ผ่านมาเราไม่สามารถทำงานได้เลย เงินที่พอมีบ้างตอนนี้ก็ไม่เหลือแล้ว เพราะเราไม่มีอาชีพมาตลอดปี” นางยาวาฮี กล่าว
ครูและนักเรียนโรงเรียนอนุบาลปัญญาศาสตร์ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี เดินทางมาเยี่ยม ครอบครัวนางยาวาฮี พร้อมนำข้าวสาร และอาหารแห้งมาร่วมบริจาค วันที่ 16 ก.พ. 2559
หนึ่งในสมาชิกครอบครัวนี้ คือ เด็กชายวิลดาน มะเซ็ง นักเรียนชั้นประถมปีที่ 2 ของโรงเรียนอนุบาลปัญญาศาสตร์ ตำบลปะนาเระ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี กล่าวหลังจากมีเพื่อนๆ ที่โรงเรียนฯ มาเยี่ยมว่า ตอนนี้ ตนต้องย้ายมาอยู่ที่มัสยิดฯ ใช้ห้องเรียนของโรงเรียนตาดีกาซาจาดะห์ เป็นที่นอน ที่กินข้าว และเป็นที่เล่นของเขาและน้อง
“รู้สึกเสียใจ อยากกลับไปอยู่ที่บ้านแต่กลับไม่ได้เพราะถูกทหารไล่ไม่ให้อยู่ ดีใจที่เพื่อนๆ มาเยี่ยม เพื่อนทุกคนต่างบริจาคเงินให้คนละหนึ่งบาทสองบาท ขอบคุณทุกคน ที่ไม่ทิ้งพวกเรา” เด็กชายวิลดาน กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
นายซำซูดิง แมฮะ ผู้อำนวยการ โรงเรียนอนุบาลปัญญาศาสตร์ กล่าวว่า หลังจากทราบข่าวเมื่อวาน ก็รู้สึกเสียใจ ที่โรงเรียนปอเนาะต้องมาเจอปัญหาเช่นนี้ จึงได้พาเด็กนักเรียนมาเยี่ยมครอบครัวนี้ โดยเด็กชายวิลดาน ก็เรียนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนอนุบาลปัญญาศาสตร์ มาตั้งแต่เป็นเด็กเล็ก ก็รู้สึกเหมือนเขาเป็นลูกคนหนึ่ง เมื่อครอบครัวเขาเดือดร้อน ทุกคนก็ร่วมเจ็บปวดไปกับเขาด้วย
“ไม่เชื่อว่า ที่ดินตรงนั้นจะถูกนำไปใช้อย่างที่รัฐกล่าวอ้าง ชาวบ้านในพื้นที่ไม่มีใครเชื่อเลยว่ามันคือเรื่องจริง” นายซำซูดิง กล่าว