ศาลฎีกาพิพากษาให้เหมืองแร่ฯ จ่ายชดเชยชาวบ้านคลิตี้ล่าง 36 ล้านบาท

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.09.11
กรุงเทพฯ
170911-TH-karen-620.jpg ชาวบ้านคลิตี้ล่าง และนายสุรพงษ์ กองจันทึก (ในชุดสูท) ต่างแสดงความดีใจที่หน้าศาลจังหวัดกาญจนบุรี วันที่ 11 กันยายน 2560
ภาพโดย สุรพงษ์ กองจันทึก

ในวันจันทร์ (11 กันยายน 2560) นี้ ศาลฎีกา ได้พิพากษายืนให้บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) และกรรมการบริษัทเป็นจำเลยรวม 7 ราย จ่ายเงินชดเชยให้แก่ชาวบ้านคลิตี้ล่าง กว่า 36 ล้านบาท ฐานปล่อยน้ำปนเปื้อนสารมลพิษทำให้มีผู้ป่วยและระบบนิเวศน์เสียหาย

ศาลจังหวัดกาญจนบุรี อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีแพ่ง หมายเลขดำที่ 2659/2550 หมายเลขแดงที่ 1290/2553 ที่นายนายยะเสอะ นาสวนสุวรรณ และพวกรวม 151 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) และกรรมการบริษัทเป็นจำเลยรวม 7 ราย ในข้อหาหรือฐานความผิด ละเมิดตาม พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 (พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ) โดยพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ให้บริษัทฯ จ่ายค่าชดเชยให้กับชาวบ้านเป็นเงินรวม 36,050,000 บาท

นายยะเสอะ นาสวนสุวรรณ ชาวบ้านห้วยคลิตี้ล่าง หนึ่งในโจทก์เปิดเผยต่อสื่อมวลชนหลังฟังคำพิพากษาว่า รู้สึกพึงพอใจกับคำพิพากษา แต่สิ่งที่ชาวบ้านต้องการเหนือกว่าเงินชดเชยคือ การปรับปรุงฟื้นฟูห้วยคลิตี้ให้กลับสู่สภาพเดิม เพื่อให้ชาวบ้านสามารถใช้อุปโภค-บริโภคได้

“ชาวบ้านเน้นการฟื้นฟู ที่ผ่านมาศาลได้สั่งฟื้นฟูไปแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้มีการดำเนินการ มีแต่สร้างฝาย สร้างเสร็จก็ยังไม่มีดูดตะกอนออก เขาอ้างว่าถ้าดูดตะกอนมามันไม่มีที่ฝังกลบ ปัจจุบัน เตรียมพื้นที่ฝังกลบเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ได้ขุด เพราะต้องขอพื้นที่อุทยาน ทีนี้ ขอพื้นที่เรียบร้อยแล้ว บริษัทก็ได้เซ็นสัญญาเรียบร้อยแล้ว แต่ว่าจะลงเมื่อไหร่ยังไม่รู้ คิดว่า น่าจะเร็วๆนี้ ทางบริษัท กรมควบคุมมลพิษ กับชาวบ้านต้องคุยกัน” นายยะเสอะกล่าว

ด้าน นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา ในฐานะผู้ช่วยเหลือชาวบ้านคลิตี้ในการต่อสู้คดีเปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า คดีที่เกี่ยวข้องกับเหมืองแร่และห้วยคลิตี้มี ปัจจุบัน ถึงที่สิ้นสุดทั้งหมดแล้ว ชาวบ้านต้องการให้บริษัท และกรมควบคุมมลพิษ ดำเนินการปรับสภาพห้วยคลิตี้ให้มีสภาพดังเดิม เนื่องจากที่ผ่านมาชาวบ้านได้รับผลกระทบจากสารพิษปนเปื้อนในลำห้วยจำนวนมาก

“ปัจจุบัน ชาวบ้านหลีกเลี่ยงใช้น้ำจากห้วยแล้ว แต่บางคนก็ใช้อยู่บ้าง ซึ่งห้วยปนเปื้อนสารตะกั่ว สารตะกั่วเป็นสารที่ร่างกายคนไม่ต้องการเลย เมื่อเข้าสู่ส่วนใดก็จะส่งผลกระทบต่อส่วนนั้น เช่น ตับ หรือไต แต่ที่สำคัญและมีผลกระทบมากที่สุดคือสมอง โดยเฉพาะเด็กเล็ก เมื่อเข้าสู่สมองก็กระทบต่อพัฒนาการ บางคนคิดช้า” นายสุรพงษ์กล่าว

ในเรื่องการจ่ายค่าชดเชย และการช่วยเหลือฟื้นฟูจากบริษัทนั้น นายสุรพงษ์ระบุว่า ยังไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะมีการชดเชย หรือฟื้นฟูเมื่อใด เนื่องจากในวันนี้ไม่มีตัวแทนจากบริษัทฯ มาเข้าฟังคำพิพากษา และยังไม่ได้มีการติดต่อเพื่อพูดคุยเรื่องนี้กับชาวบ้าน

“จำเลยทั้ง 7 ไม่ได้มาฟังคำพิพากษาศาลเลย ยังไม่ติดต่อมาด้วย เลยตอบไม่ได้ว่าจะจ่ายหรือไม่ หรือจ่ายเมื่อไหร่ ฟื้นฟูยังไง ประเด็นคือ ถ้าบริษัทหยุดกิจการไปแล้ว ใครจะจ่ายหรือมาฟื้นฟู ขณะเดียวกันได้ฟ้องกรรมการบริษัทไว้ด้วย ศาลพิพากษาชัดเจนว่า กรรมการต้องชดใช้และฟื้นฟู” นายสุรพงษ์กล่าวเพิ่มเติม

สารพิษตะกั่วในลำห้วยคลิตี้

ปี 2510-2539 บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับสัมปทานเหมืองแร่ ขณะที่โรงแต่งแร่คลิตี้ได้รับสัมปทาน ตั้งแต่ปี 2530-2543 ระหว่างดำเนินกิจการ บริษัทได้แอบปล่อยสารพิษจากโรงแต่งแร่สู่ห้วยคลิตี้ ส่งผลให้ชาวบ้านในหมู่บ้านคลิตี้ล่างได้รับผลกระทบด้านสุขภาพ

30 มกราคม 2546 ชาวบ้าน 8 ราย ยื่นฟ้องทางแพ่ง เรียกค่าเสียหายจำนวน 119,036,400 ล้านบาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ ในกรณีที่บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ ทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารตะกั่วลงสู่ห้วยคลิตี้ ทำให้มีชาวบ้านล้มป่วย ศาลแพ่งกาญจนบุรีได้นัดสืบพยานครั้งแรกวันที่ 5 สิงหาคม 2548 ศาลชั้นต้นตัดสินให้ชาวบ้านชนะ และบริษัทต้องจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายให้ชาวบ้านกว่า 4 ล้านบาท

23 กุมภาพันธ์ 2547 ชาวบ้านหมู่บ้านคลิตี้ 13 ราย ได้ยื่นฟ้องกรมควบคุมมลพิษ ต่อศาลปกครอง เป็นคดีหมายเลขดำที่ 214/2547 ในข้อหาละเลยการปฏิบัติหน้าที่และหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าจนเกินสมควร จากการละเลยสั่งให้บริษัทตะกั่ว คอนเซนเตรทส์ ฟื้นฟู หรือระงับการปล่อยสารตะกั่วปนเปื้อนลำน้ำห้วยคลิตี้ล่างช้าเกินสมควร จนชาวบ้านได้รับความเสียหาย ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2551 ศาลตัดสินให้กรมควบคุมมลพิษ จ่ายค่าสินไหมทดแทนชาวบ้านห้วยคลิตี้ล่าง จำนวน 22 ราย รายละ 33,783 บาท รวมเป็นเงิน 743,226 บาท

19 ตุลาคม 2550 นายนายยะเสอะ นาสวนสุวรรณ และพวกรวม 151 คน ยื่นฟ้อง บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ ข้อหาหรือฐานความผิดละเมิดตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ เรียกค่าเสียหายจากการได้รับผลกระทบ จากสารตะกั่วที่ปนเปื้อนมานาน 14 ปี เป็นเงิน 1,041,952,000 บาท ต่อมา 20 ธันวาคม 2553 ศาลจังหวัดกาญจนบุรีตัดสินให้บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ และกรรมการบริษัทร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้กับชาวกะเหรี่ยงบ้านคลิตี้ล่าง เป็นเงินรวม 35,800,000 บาท และให้ขจัดมลพิษที่เกิดขึ้นให้หมดสิ้นไป หากไม่ยอมดำเนินการ ให้ชาวบ้านดำเนินการเอง โดยบริษัทเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ต่อมามีการต่อสู้ในชั้นศาลอุทธรณ์ กุมภาพันธ์ 2555 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

14 กรกฎาคม 2559 ศาลจังหวัดกาญจนบุรี อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา (แผนกคดีสิ่งแวดล้อม) คดีแพ่งหมายเลขดำ ที่ 106/2546 หมายเลขแดง ที่ 1565/2549 ที่นายกำธร ศรีสุวรรณมาลา กับพวกรวม 8 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ จำเลยที่ 1 และนายคงศักดิ์ กลีบบัว จำเลยที่ 2 กรณีลักลอบปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารตะกั่วจากเหมืองแร่ลงสู่ลำห้วยคลิตี้ จนชาวบ้านคลิตี้ล่าง ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพ มีคำสั่งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายชาวบ้าน 8 ราย รวม 20,200,000 บาท

11 กันยายน 2560 ศาลฎีกาตัดสินยืนตามศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ให้บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ ต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับชาวบ้าน 151 ราย เป็นเงินรวม 36,050,000 บาท

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง