ประเทศไทย: บริษัททูน่ากระป๋องยังคงเจรจาต่อรองค่าชดเชยกับแรงงานส่วนที่เหลือ

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2016.03.02
กรุงเทพฯ
TH-labor-folo-1000 คนงานชาวฟิลิปปินส์ในโรงงานซาร์ดีนกระป๋อง อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ทางใต้ของเมืองซัมบอแองกา ประเทศฟิลิปปินส์ 25 กุมภาพันธ์ 2552
เอเอฟพี

นักสิทธิแรงงาน กล่าวว่า คนงานจ้างเหมา บริษัท โกลเด้นไพรซ์ แคนนิ่ง จำกัด จำนวนร้อยกว่าคน ที่โรงงานในจังหวัดสมุทรสาคร เตรียมยื่นหนังสือขอคำสั่งจากแรงงานจังหวัด เพื่อให้มีคำสั่งจ่ายค่าแรงย้อนหลัง ในลักษณะเดียวกันกับของพนักงานประจำราวพันห้าร้อยคน ที่บริษัทฯ ต้องจ่ายมียอดโดยประมาณถึงกว่า 80 ล้านบาท

หลังจากที่คนงานใน บริษัท โกลเด้นไพรซ์แคนนิ่ง จำกัด ได้หยุดงานประท้วงในวันพฤหัสของสัปดาห์ที่ผ่านมา จนผู้ว่าราชการ เจ้าหน้าที่จากศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) และ องค์กรเอ็นจีโอ ได้เข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยปัญหาในวันศุกร์ที่แล้ว บริษัทฯ ได้เริ่มจ่ายเงินคงค้างให้แก่แรงงานพม่าตั้งแต่เมื่อวันจันทร์และในวันอังคารที่ดำเนินไปจนถึงตีหนึ่ง

นางสาวสุธาสินี แก้วเหล็กไหล นักสิทธิแรงงาน เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (Migrant Workers Rights Network -- MWRN) กล่าวว่า เงินที่บริษัทฯ ต้องจ่ายย้อนหลังแก่พนักงานนั้น เป็นกรณีที่แรงงานได้รับค่าแรงต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่รัฐกำหนดไว้ที่ 300 บาท โดยบริษัทฯ จ่ายให้เพียง 240 บาทต่อวันเท่านั้น ส่วนค่าล่วงเวลาได้รับเพียง 20 บาทต่อชั่วโมง จากที่ควรจะได้รับ ประมาณ 56 บาทต่อชั่วโมง รวมทั้งการที่ต้องทำงานในวันหยุด และการถูกหักค่าแรง กรณีที่ลาป่วยโดยไม่มีใบรับรองแพทย์

ทั้งนี้ แรงงานขอย้อนหลังได้เพียงสองปีตามกฎหมายกำหนด และทั้งสองฝ่ายตกลงใจที่จะมีการรับจ่ายเพียง 65 เปอร์เซ็นต์ ของยอดเต็มจำนวน นางสาวสุธาสินี กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังมีคนงานจ้างเหมา อีกประมาณ 150 คน ที่มีความเห็นว่าตนต้องได้สิทธิดังกล่าวเช่นเดียวกับพนักงานอื่นๆ และได้มีการเจรจากับทางบริษัทฯ จนถึงพุธวันนี้ ซึ่งในวันพฤหัสบดีนี้ หากบริษัทฯไม่ยินยอม ก็จะส่งคำร้องถึงสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานสมุทรสาคร ให้มีคำสั่งให้บริษัทฯ ยินยอมจ่าย

“ตกลงกันไม่ได้ นายจ้างยังไม่ยอมรับ แต่ถ้าเป็นคำสั่งของสวัสดิการจังหวัด เขาคงจะยอม” นางสาวสุธาสินีกล่าว และได้เพิ่มเติมว่า แรงงานเหล่านี้เตรียมยื่นหนังสือถึงสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานสมุทรสาคร ภายในวันศุกร์นี้

อียูไม่ได้กำหนดเส้นตาย

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกอาหารทะเลและผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก ทว่ามีรอยด่างพร้อยในการละเมิดสิทธิมนุษยชน การนำพาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเช่น เมียนมา และกัมพูชา เข้ามาอย่างไม่ถูกต้อง

อุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทย ตกอยู่ใต้แรงกดดันจากกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู) ที่ให้ใบเหลืองแก่ประเทศไทยเมื่อเดือนเมษายน ปีที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (Illegal, Unregulated and Unreported Fishing – IUU)

พลเรือโทจุมพล ลุมพิกานนท์ ในนามโฆษก ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) กล่าวว่า เมื่อมีรายงานข่าวทางสื่อมวลชนถึงการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานเยี่ยงทาสในไทย อียูได้ให้ไทยเพิ่มเติมมาตรการการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่ผ่านมาอีกด้วย มูลค่าตลาดส่วนนี้สูงถึงกว่าสามหมื่นล้านบาท

พลเรือโทจุมพล กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในวันนี้ ว่า หลังจากที่มีการกำหนดเส้นตายใบเหลืองให้ไทยแก้ปัญหาภายในวันที่ 21 ตุลาคม ปีที่แล้ว ทางอียูไม่ได้มีการกำหนดเส้นตาย แต่ได้ส่งคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการประมงให้ทำหน้าที่แนะนำ ศปมผ. ให้ดำเนินการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาไอยูยู รวมทั้งปัญหาด้านแรงงานและการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมง

“ไม่ได้กำหนดเส้นตายจริงๆ เขาให้คำแนะนำเป็นแผนงานที่ทำถึงสองปีข้างหน้า แต่มีบางอย่างเร่งด่วน ถ้าเราหยุด เราโดนใบแดงแน่” พลเรือโทจุมพล กล่าว

และกล่าวเสริมว่า “คณะผู้แทนด้านการประมงของอียู มีกำหนดจะเดินทางมายังประเทศไทย เพื่อประเมินผลการแก้ปัญหาของ ศปมผ. อีกครั้ง ในช่วงปลายเดือนเมษายน หรือต้นเดือนพฤษภาคมนี้ หรือไม่ทาง ศปมผ. อาจจะเดินทางไปที่สหภาพยุโรปแทน”

ส่วนสหรัฐอเมริกา ได้ผ่านร่างกฎหมายที่ไม่อนุญาตให้นำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ใช้แรงงานเยี่ยงทาสไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และกำลังรอดูว่าจะมีการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้หรือไม่ โดยกระทรวงแรงงานของสหรัฐได้ขึ้นบัญชีประเทศไทยว่า มีเหตุผลที่ทำให้เชื่อได้ว่า ประเทศไทยมีการใช้แรงงานเยี่ยงทาส

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง