โกลเด้นไพรซ์แคนนิ่งยอมจ่ายเงินชดเชยให้แรงงาน 48 ล้านบาท

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2016.03.01
กรุงเทพฯ
TH-labor-settlement-620 คนงานโกลเด้นไพรซ์ แคนนิ่ง เข้าแถวเพื่อรับเงินค่าชดเชยแรงงาน ที่ ในมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร 1 มีนาคม 2559
เครดิตภาพ แอนดี้ ฮอลล์

ปรับปรุงข้อมูล 11:40 a.m. ET 2016-03-02

เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน และนักสิทธิแรงงาน ได้กล่าวว่า บริษัท โกลเด้นไพรซ์แคนนิ่ง จำกัด ได้ยินยอมจ่ายค่าชดเชย คิดเป็นเงินประมาณ 48 ล้านบาท แก่แรงงานข้ามชาติและแรงงานไทย ที่ถูกเอาเปรียบมาอย่างยาวนาน

นายบุญลือ ศาสตร์เพชร สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานสมุทรสาคร กล่าวแก่เอเอฟพีว่า “เมื่อคืน(วันจันทร์) โรงงานได้เริ่มจ่ายเงินให้แก่พนักงาน 1,100 คน คิดเป็นเงินรวม 48 ล้านบาท”

นายบุญลือกล่าวว่า แรงงานจำนวน 700 คน ได้รับเงินชดเชยแล้ว ส่วนที่เหลือ คาดว่าจะจ่ายเสร็จสิ้นในวันนี้ เอเอฟพี กล่าวว่า ทางโรงงาน ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลในเรื่องนี้

ทางด้านนายแอนดี้ ฮอลล์ นักต่อสู้เพื่อสิทธิของแรงงาน ได้กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ วันนี้ โดยกล่าวอ้างถึงแหล่งข่าวที่บริษัท โกลเด้นไพรซ์ แหล่งข่าวไทย และแรงงานพม่า ว่าแรงงานต่างด้าวประมาณ 1,200 คน [จำนวนที่ทราบโดยประมาณ] จะได้รับเงินชดเชยสูงสุด 80,000 บาท หลังจากการเจรจาเมื่อคืนวันจันทร์เสร็จสิ้นลง แรงงานไทยจะได้รับค่าชดเชยเต็มจำนวนในวันศุกร์นี้

แต่ยังมีแรงงานพม่าราว 200 คน ที่ได้รับค่าชดเชยเพียงเล็กน้อย ยังไม่ยอมรับค่าชดเชยจากโกลเด้นไพรซ์ ได้มีการเรียกร้อง และต่อรองเจรจากับนายจ้าง

ซึ่งเรื่องนี้ เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (Migrant Workers Rights Network หรือ MWRN) เป็นเครือข่ายของแรงงานข้ามชาติพม่า ในประเทศไทย เกิดจากการรวมตัวของแรงงานข้ามชาติพม่า จังหวัดสมุทรสาคร มีสำนักงานในสมุทรสาคร และประเทศเมียนมาร์ด้วย ได้ลงข้อมูลในเฟสบุ๊คของเครือข่ายวันนี้ ว่าคนงาน บริษัท โกลเด้นไพรซ์แคนนิ่ง จำกัด อีกประมาณ 150-200 คน ที่เป็นคนงานจ้างเหมา ที่ยังไม่ได้รับค่าชดเชย ค่าจ้างย้อนหลัง/ค่าโอที และ ค่าวันหยุดพักร้อน/ค่าวันหยุดประเพณี คนงานเข้ามาแจ้งที่เครือข่ายว่า เขาจึงถูกนายจ้างปฏิเสธไม่จ่ายสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานต่างๆ ตามที่เพื่อนคนงาน 1000 กว่าคนได้รับ ในเมื่อเขาก็คือผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของนายจ้างเช่นกัน

"เขายอมไม่ได้ เขาขอไปเจรจาเองที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดสมุทรสาคร แต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้ เนื่องจากนายจ้างปฏิเสธไม่จ่ายโดยให้เหตุผลว่า คนงานจำนวนนี้ คือ คนงานเหมาแรงงาน จึงไม่สมควรจะได้รับ หากแต่ความเป็นจริงคนงาน 150 กว่าคน ได้คิดเฉลี่ยค่าแรงแล้ว ก็ได้รับค่าจ้างไม่ถึงค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายกำหนด คือ 300 บาท/วัน อีกทั้ง ยังทำงานเวลายาวนาน เช่น คนงานอื่นๆ นายจ้างไม่ควรเลือกปฏิบัติ และต้องให้ความเป็นธรรมกับคนงานจำนวน 150-200 คนนี้ด้วย" สุธาสินี แก้วเหล็กไหล จากเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ กล่าว

นักสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า บริษัท โกลเด้นไพรซ์แคนนิ่ง ได้จ่ายค่าแรงต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดมาเป็นเวลายาวนาน มีการเอาเปรียบ โดยเจ้าหน้าที่ระดับซุปเปอร์ไวเซอร์ รวมทั้งไม่มีการจ่ายค่าเยียวยา ในกรณีการเกิดอุบัติเหตุในโรงงานที่มีขนาดกว่า 600 ไร่

การตกลงใจชดเชยค่าแรง ได้เกิดขึ้นภายหลังที่แรงงานหลายร้อยคนหยุดงานประท้วง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และได้มีการเจรจากันระหว่างตัวแทนของโรงงาน ทหาร เจ้าหน้าที่รัฐ และตัวแทนแรงงาน จนได้ข้อยุติในคืนวันจันทร์

“ประเด็นหลัก คือกรณีที่เกิดขึ้นนี้ จะเป็นแบบอย่างต่อไปของระบบการปกป้องแรงงานของไทยที่ล้มเหลวทั้งระบบ ให้กลับมามีระบบที่ทำงานอย่างถูกต้อง” แอนดี้ ฮอลล์ นักต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงานกล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“ต้องยกเครดิตให้ผู้นำแรงงาน... ระบบการเจรจาข้อพิพาทแรงงานเดิม ๆ ล้มเหลว แต่เพราะทหารและเจ้าหน้าที่ได้กดดัน[โรงงาน] เราจึงประสบผลสำเร็จที่ไม่เคยมีมาก่อน” แอนดี้ ฮอลล์ ที่มีส่วนในการต่อสู้ของแรงงานของโกลเด้นไพรซ์กล่าว

แอนดี้ ฮอลล์ ซึ่งตนเองได้ถูกโรงงานผลไม้ปกระป๋องฟ้องร้อง และหลายคดียังไม่สิ้นสุด อยู่ในชั้นศาล กล่าวแก่เอเอฟพีว่า เขาเชื่อว่ารัฐบาลไทยได้มีปฏิกิริยาตอบสนองในเรื่องนี้ เพราะเกรงว่าธุรกิจจะได้ความเสียหายจากแรงกดดันจากต่างประเทศ

อียูและการแก้ไขปัญหา

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกอาหารทะเลและผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก ทว่ามีรอยด่างพร้อยในการละเมิดสิทธิมนุษยชน การนำพาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเช่น เมียนมา และกัมพูชา มาอย่างไม่ถูกต้อง

อุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทย ตกอยู่ใต้แรงกดดันจากกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู) และสหรัฐอเมริกา เนื่องจากปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย การใช้แรงงานเถื่อน และการละเมิดสิทธิแรงงาน โดยอียูได้ออกใบเหลืองให้แก่ประเทศไทยตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่ผ่านมา และในขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างคำแนะนำของอียูให้แก้ไขเรื่องแรงงานอีกด้วย มูลค่าตลาดส่วนนี้สูงถึงกว่าสามหมื่นล้านบาท

ส่วนสหรัฐอเมริกา ได้ผ่านร่างกฎหมายที่ไม่อนุญาตให้นำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ใช้แรงงานเยี่ยงทาสไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และกำลังรอดูว่าจะมีการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้หรือไม่ โดยกระทรวงแรงงานของสหรัฐได้ขึ้นบัญชีประเทศไทยว่ามีเหตุผลที่ทำให้เชื่อได้ว่า ประเทศไทยมีการใช้แรงงานเยี่ยงทาส

* รายงานก่อนหน้านี้ ไม่มีชื่อของเจ้าหน้าที่ เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ และปรับปรุงข้อมูลของอียูและการแก้ไขปัญหา

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง