ศาลอาญาตัดสินจำคุกจำเลยข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ 6 ปี

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2016.01.20
TH-lesemajeste-620 นักกิจกรรมประท้วงให้มีการปฏิรูปกฎหมายอาญามาตรา 112 ในประมวลกฎหมายของไทย ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2554
เอเอฟพี

ในวันพุธ (20 ม.ค. 2559) นี้ ศาลอาญา ได้ตัดสินจำคุกนายปิยะ จุลกิตติพันธ์ ในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 และความผิดตาม พรบ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 เป็นเวลา 9 ปี แต่ลดโทษให้เหลือ 6 ปี เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์ในชั้นศาล

ตามข้อมูลของไอลอว์ (iLaw) ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้มีผู้แจ้งความกล่าวหานายปิยะว่า เป็นผู้ใช้เฟซบุ๊คชื่อ “นายพงศธร บันทอน” และมีการโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระกษัตริย์ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้จับกุมนายปิยะ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2557 โดยในขณะนั้น นายปิยะให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ต่อมาในภายหลัง นายปิยะ ได้ยอมรับต่อศาลว่าเขาเคยสวมสิทธิ์เข้าใช้ชื่อเฟซบุ๊ค “พงศธร บันทอน” มาก่อน แต่ยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความตามฟ้องในคดีนี้

หลังจากการพิพากษาในวันนี้ ศิรินันท์ ธรรมนิฐินันท์ เจ้าหน้าที่ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ทนายความของนายปิยะ อายุ 46 ปี มีอาชีพโบรกเกอร์ ได้กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า คดีนี้เป็นคดีที่ตนเชื่อว่าไม่ได้มีหลักฐานที่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะทำให้เชื่อได้ว่าจำเลยกระทำความผิดจริง และพนักงานสอบสวนของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ได้ขอไอพีแอดเดรสของบัญชีเฟซบุ๊คดังกล่าวไปยังผู้ให้บริการเฟซบุ๊ค แต่ถูกปฏิเสธการให้ข้อมูล

“ในการสืบพยาน พบเพียงแค่รูปภาพแคปเจอร์แล้วเอามาแจ้งความ ไม่ทราบว่าเฟซบุ๊คนั้นมีอยู่จริงหรือเปล่า มีแค่คำเบิกความของพยานคนนึง ในขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเองยังไม่สามารถสืบสวนได้ขนาดนั้น แต่พยานอ้างว่าสืบได้” ทนายความศิรินันท์ กล่าวในการให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์

หนังสือพิมพ์ประชาไทรายงานในวันนี้ว่า คดีนี้มีการสืบพยานเป็นการลับ เนื่องจากอัยการร้องขอต่อศาลโดยให้เหตุลผลว่า คดีนี้มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพสักการะของประชาชน การเปิดเผยข้อเท็จจริงต่อประชาชนในระหว่างการพิจารณาคดีเป็นการกระทำที่ไม่บังควรเพราะอาจกระทบกระเทือนต่อสถาบันอันเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนได้

คำพิพากษา

ไอลอว์ ได้เผยแพร่การพิพากษาของศาลว่า โจทก์มีนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ เป็นพยานมาเบิกความว่าพบเห็นข้อความจากเฟซบุ๊คของนายพงศธรโดยตรง และทราบว่าจำเลยเคยใช้ชื่อ Vincent Wang ซึ่งจำเลยก็รับว่าเคยใช้ชื่อดังกล่าวจริง นายอัจฉริยะยังเบิกความว่าสืบทราบมาว่าพงศธรมีบ้านอยู่ที่เขตดอนเมือง ซึ่งตรงกับที่พนักงานสอบสวนเบิกความว่าจำเลยเคยสวมชื่อเป็นนายพงศธร บันทอน ที่สำนักงานเขตดอนเมือง คำเบิกความของ นายอัจฉริยะจึงสอดคล้องกันมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ

ทั้งพฤติการณ์ของจำเลยในคดีนี้มีการเปลี่ยนชื่อและสวมชื่อหลายครั้ง ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ส่อเจตนาเพื่อไม่ให้ผู้อื่นสามารถทราบถึงตัวตนได้ ที่จำเลยเบิกความว่าเพิ่งพบเห็นข้อความตามฟ้องจากการที่แฟนมาบอก แต่ก็ไม่ได้นำตัวแฟนมาเบิกความต่อศาล และที่จำเลยเบิกความว่าเคยแจ้งให้ google ลบภาพนี้จากระบบค้นหา ก็เป็นการแจ้งหลังเกิดเหตุเป็นเวลาเกือบหนึ่งปี พยานจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้

จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) (5) ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ในฐานกฎหมายที่มีโทษหนักสุด กำหนดโทษ 9 ปี เนื่องจากการให้การของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อทางพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 6 ปี

บทลงโทษที่หนักสุดในหกคดีล่าสุด

จากการบันทึกข้อมูลของไอลอว์ ในก่อนหน้านี้ ในคดีมาตรา 112 ที่ศาลอาญาตัดสินว่าจำเลยมีความผิดแล้ว 5 คดี จะกำหนดโทษจำคุกจำเลย 5 ปี ต่อการกระทำ 1 กรรม การกำหนดโทษจำคุกในคดีของปิยะ 9 ปีต่อการกระทำ 1 กรรม จึงเป็นสถิติสูงสุดของโทษในคดีมาตรา 112 ที่ตัดสินโดยศาลพลเรือน

ทนายความศิรินันท์ กล่าวถึงบทลงโทษที่หนักว่า จะทำให้จำเลยที่ถูกฟ้องร้องในคดีเดียวกันนี้ มีความยากลำบากในการตัดสินใจว่าจะรับสารภาพหรือสู้คดีหรือไม่

“จะสู้หรือรับสารภาพ สู้แล้วจะมีโอกาสแค่ไหน ถ้ารับสารภาพ ลดโทษตั้งครึ่งหนึ่ง สู้ไปก็ยิ่งโดนหนัก ปกติศาลยุติธรรมลงโทษเพียงห้าปี เมื่อรับสารภาพเหลือเพียงประมาณสองปีเท่านั้น คดีที่ทางศูนย์ดูแลอยู่มีประมาณ 7-8 คดี” ทนายความศิรินันท์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ทนายความศิรินันท์ ยังกล่าวต่อไปถึงการยื่นอุทธรณ์คดีนายปิยะว่า “จะรอให้เจ้าตัวตัดสินใจอีกสองวันว่าจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่”

ปกติศาลยุติธรรมลงโทษเพียงห้าปี เมื่อรับสารภาพเหลือเพียงประมาณสองปีเท่านั้น คดีที่ทางศูนย์ดูแลอยู่มีประมาณ 7-8 คดี” ทนายความศิรินันท์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ทนายความศิรินันท์ ยังกล่าวต่อไปถึงการยื่นอุทธรณ์คดีนายปิยะว่า “จะรอให้เจ้าตัวตัดสินใจอีกสองวันว่าจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง