ศาลขอนแก่นรับฟ้อง “ไผ่ ดาวดิน” คดีแชร์ข่าวบีบีซีแล้ว

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.02.10
กรุงเทพฯ
TH-pai-620 นางพริ้ม และนายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา มารดา-บิดาของไผ่ดาวดิน ขณะเรียกร้องให้ศาลจังหวัดขอนแก่นปล่อยตัวบุตรชาย เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560
ภาพโดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ในวันศุกร์ (10 กุมภาพันธ์ 2560) นี้ ศาลอาญาจังหวัดขอนแก่น ได้รับฟ้องคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการเผยแพร่รายงานข่าวของสำนักข่าวบีบีซีไทย (BBC Thai) เรื่อง “พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย” ซึ่งมีนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน นักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่อีสานเป็นผู้ต้องหา

นายกฤษฎางค์ นุชจรัส ทนายความของนายจตุภัทร์ เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ผ่านโทรศัพท์ว่า ศาลรับฟ้องคดีของนายจตุภัทร์แล้ว และได้นัดอ่านคำฟ้อง พร้อมไต่สวนคำให้การ คดีหมายเลขดำที่ 301/2560 ในวันที่ 21 มีนาคม 2560 โดยศาลปฎิเสธการขอประกันตัว และมีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ

อย่างไรก็ตาม นายกฤษฎางค์ กล่าวว่า ครอบครัวจำเลย เตรียมยื่นประกันตัวใหม่ และคัดค้านการพิจารณาคดีทางลับ

“ฟ้องแล้วครับ เมื่อเช้านี้เอง ศาลมีคำสั่งรับฟ้อง แล้วก็ให้พิจารณาคดีนี้เป็นการลับ และให้นัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 21 มีนาคม เดือนหน้าเวลา 9 นาฬิกา เขาให้เหตุผลว่า เพื่อความสงบเรียบร้อยในการพิจารณาคดีให้แค่นี้” นายกฤษฎางค์กล่าว

“คือ ต่อไปนี้ ในการพิจารณาคดีนี้ การสืบพยานโจทก์ หรือพยานจำเลย ห้ามไม่ให้บุคคลอื่นเข้าฟัง นอกจากตัวจำเลย ทนายจำเลย เจ้าหน้าที่ศาล แล้วก็คนที่ศาลอนุญาต เช่น พ่อแม่ เป็นต้น ส่วนประชาชนและผู้สื่อข่าวจะฟังไม่ได้” นายกฤษฎางค์กล่าวเพิ่มเติม

นายกฤษฎางค์ กล่าวอีกว่า อัยการจังหวัดขอนแก่นได้สั่งฟ้องจตุภัทร์ ตามฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) มาตรา 14 ซึ่งนายจตุภัทร์ในฐานะจำเลยได้ให้การปฎิเสธทุกข้อกล่าวหา

ทั้งนี้ อัยการได้ระบุในคำฟ้องด้วยว่า “อนึ่ง หากจำเลยขอปล่อยตัวชั่วคราว โจทก์ขอคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เป็นการกระทำต่อพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งและเทิดทูนของประชาชน และเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี” ซึ่งศาลมีความเห็นตามคำฟ้องอัยการจึงปฎิเสธการปล่อยตัวชั่วคราวนายจตุภัทร์

“เราคงจะต้องคัดค้านการพิจารณาคดีทางลับ เพราะเราอยากให้พิจารณาคดีโดยเปิดเผย เราอยากให้ผู้คนเข้ามาฟัง อาทิตย์หน้าญาติพี่น้องคงยื่นประกันตัวไผ่อีกที เพื่อให้ออกมาเรียนให้จบ แล้วก็ต้องการจะรวบรวมหลักฐานต่อสู้คดี เพราะถ้าอยู่ข้างในไผ่จะหาพยานหลักฐานไม่ได้” นายกฤษฎางค์กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน พ.ต.ท.ปุณณริศน์ ธรานันทเศรษฐ์ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น กล่าวต่อเบนาร์นิวส์ว่า เบื้องต้นคดีที่เกี่ยวกับการเผยแพร่ต่อข่าวของสำนักข่าวบีบีซีไทยนี้ ยังไม่มีการตรวจพบ หรือดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดรายอื่น

“ผบ.ตร.เป็นผู้รับผิดชอบมีความเห็นทางคดีสูงสุด ท่านลงความเห็นเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ส่งสำนวนให้อัยการวันที่ 7 กุมภาพันธ์ เบื้องต้นไม่มีผู้ต้องหาเพิ่ม เป็นการดำเนินคดีรายคนที่เขาตรวจพบ ตามความผิด หลังจากนี้ขึ้นอยู่กับการสืบสวนเพิ่มเติม เพราะคดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งถ้าจะให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดก็ต้องไปร้องทุกข์กล่าวโทษในพื้นที่นั้นๆ แต่ตอนนี้ มีการตรวจพบการกระทำผิดเพียง 1 ราย”  พ.ต.ท.ปุณณริศน์กล่าว

นายจตุภัทร์ ถูกจับกุมตัวที่จังหวัดชัยภูมิ ในวันที่ 3 ธันวาคม 2559 หลังการเผยแพร่รายงานข่าวของสำนักข่าวบีบีซีไทย (BBC Thai) เรื่อง “พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย” บนเฟซบุ๊คส่วนตัว โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่า การกระทำของนายจตุภัทร์ อาจเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก่อนที่นายจตุภัทร์จะได้รับประกันตัวด้วยวงเงิน 4 แสนบาท ในวันถัดมา

กระทั่งวันที่ 22 ธันวาคม 2559 ศาลมีคำสั่งถอนสิทธิการประกันตัว โดยให้เหตุผลว่านายจตุภัทร์ มีพฤติกรรมยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน และเย้ยหยันอำนาจรัฐ  ทำให้นายจตุภัทร์ถูกฝากขังอยู่ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นจนถึงปัจจุบัน

ตลอดระยะเวลาที่นายจุตภัทร์ถูกควบคุมตัว องค์กรสิทธิมนุษยชนหลายองค์กรได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวนายจตุภัทร์ เนื่องจากเชื่อว่ากระบวนการควบคุมตัว ไม่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล โดยองค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) และประชาชนไทยในนาม “กลุ่มประชาชนผู้ห่วงใย” ได้ส่งจดหมายแสดงความกังวลต่อเรื่องนี้ ถึงรัฐบาลไทยด้วยเช่นกัน

เมื่อปลายเดือนมกราคม 2560 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เผยว่าจะให้ พล.อ.ทวีป เนตรนิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เดินทางไปสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เพื่อหารือกับหน่วยงานด้านความมั่นคงฯ ของ สปป.ลาว ในการติดตามผู้กระทำผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งหลบหนีเข้าไปในประเทศลาว และยังมีการถ่ายทอดสดกระจายเสียงจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยใช้ข้อความที่ถือเป็นการหมิ่นสถาบันเบื้องสูง

ซึ่งเมื่อวันอังคาร พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เผยถึงกรณีที่มีการหมิ่นสถาบันฯ ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียจาก สปป.ลาว ว่ากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ยังอยู่ระหว่างติดตามเรื่องนี้ และมีการดำเนินร่วมกัน ซึ่งในสัปดาห์หน้าคาดว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ จะมีการชี้แจงเรื่องนี้ ให้สื่อทราบต่อไป

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง