ประชาชนตอบรับอย่างดี นโยบายสร้างครัวหมู่บ้านในโรงเรียนตาดีกา

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2016.09.22
ปัตตานี
TH-schoolkids-800 เด็กนักเรียนเดินตามเจ้าหน้าที่ทหารที่เข้ามาตรวจสอบความปลอดภัยในชั้นเรียน ที่โรงเรียนในจังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2551
เอเอฟพี

ในวันพฤหัสบดี(22 กันยายน 2559)นี้ ประชาชน และครูร่วมแสดงความคิดเห็นสนับสนุนโครงการที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้

(ศอ.บต.)มีนโยบายที่จะสร้างครัวหมู่บ้านในโรงเรียนตาดีกา เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนอาหารกลางวันสำหรับเด็กเล็ก โดยผู้ปกครอง และครูเชื่อว่า นโยบายดังกล่าวเป็นการตอบสนองความต้องการของโรงเรียน

นายอาหามะ สาซู ครูอุสตาสจากโรงเรียนตาดีกาในจังหวัดยะลา เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า โรงเรียนตาดีกาหลายแห่งมีความต้องการที่จะเปิดครัวเพื่อแก้ปัญหาอาหารกลางวันสำหรับเด็กเล็ก ซึ่งหากโครงการนี้ดำเนินได้จริงก็จะถือว่าเป็นการตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของโรงเรียน

“ถ้าเด็กมีอาหารกลางวันกิน โรงเรียนจะสามารถสอนได้ถึงเย็นไม่ต้องปล่อยให้เด็กกลับบ้านตอนพักเที่ยง แล้วเมื่อช่วงบ่าย เด็กหลายคนจะมาไม่ถึงโรงเรียน ซึ่งทำให้ยากต่อการควบคุมเด็กเข้าห้องเรียน บางคนไปอยู่ในคลองท้ายหมู่บ้าน บางคนอยู่ร้านเกมส์ ขณะที่พ่อแม่เข้าใจว่าเด็กอยู่ที่โรงเรียน” นายอาหามะกล่าว

นางอัสมะ อาลีสามอ ผู้ปกครองของนักเรียนโรงเรียนตาดีกาจากจังหวัดปัตตานี นโยบายดังกล่าวเป็นการตอบสนองความต้องการของทั้งผู้ปกครองและครู  และเป็นถือเป็นสิ่งที่ประชาชนเรียกร้องจากรัฐบาลมาเป็นระยะเวลายาวนานแล้ว

“เป็นเรื่องที่ดีและคิดว่าตรงตามความต้องการของทุกคนทั้งผู้ปกครอง ครูที่โรงเรียน และเด็ก เรื่องนี้มีการพูดถึงและเรียกร้องมานานพอสมควร ถ้ารัฐเข้ามาสนับสนุนถือเป็นเรื่องที่ดี แต่รัฐก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วมมากกว่าแค่สนับสนุนงบผ่านเท่านั้น รัฐจะสามารถใช้กิจกรรมอันนี้เข้ามาตรวจสอบการเรียนการสอนของโรงเรียนตาดีกา และไม่ต้องไปคิดเองว่า ที่นี่มีการปลุกระดมให้เด็กไปเป็นคนไม่ดีไปทั้งหมด ทุกโรงเรียน” นางอัสมะกล่าว

“เด็กบางคนกลับบ้านตอนเที่ยง ไม่มีใครอยู่บ้าน ไม่มีอะไรกิน เพราะพ่อแม่ออกไปทำงานยังไม่กลับ เด็กบางคนฐานะยากจน โครงการนี้ก็สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัวได้” นางอัสมะเพิ่มเติม

ด.ญ.สูวานี กาแจ นักเรียนของโรงเรียนตาดีกาจากจังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า รู้สึกดีใจที่จะมีโครงการที่มาช่วยเหลือในเรื่องนี้ หลังจากที่ผ่านมาต้องเดินทางกลับไปรับประทานอาหารที่บ้านในช่วงกลางวัน

“รู้สึกดีใจถ้าจะมีข้าวกินตอนกลางวันที่โรงเรียนตาดีกา เคยแปลกใจ เหมือนกันว่าทำไมที่โรงเรียนที่เราเรียนจันทร์ถึงศุกร์ เรามีข้าวกินกลางวัน แต่พอมาเรียนตาดีกา เสาร์อาทิตย์ ต้องกลับไปกินข้าวที่บ้าน ถามแม่ๆก็บอกว่าไม่รู้ ก็เลยเลิกคิด” ด.ญ.สูวานีกล่าว

เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียงกับการสร้างครัวหมู่บ้านเพื่ออาหารกลางวันในศูนย์หรือโรงเรียนตาดีกา ที่ โรงแรม ซี. เอส. ปัตตานี จังหวัดปัตตานี โดยมีผู้ร่วมสัมมนาเป็นผู้แทนจากศูนย์ฯตาดีกา 100 แห่งจากในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้แทนองค์การบริหารส่วนตำบลในเขตรับผิดชอบศูนย์ตาดีกาแต่ละพื้นที่ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด มูลนิธิ และชมรมศูนย์ตาดีกาอำเภอและจังหวัด และหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 500 คน

นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) กล่าวว่า ศอ.บต.พร้อมที่จะสนับสนุนโครงการนี้ โดยเริ่มต้นในศูนย์ตาดีกา 100 แห่งก่อน

“ศอ.บต.จะสนับสนุนงบประมาณให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน อำเภอและจังหวัด ลงพื้นที่เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจพร้อมทั้งติดตามผลการดำเนินงานในการขับเคลื่อนกิจกรรม พร้อมทั้งสนับสนุนอุปกรณ์และปัจจัยการผลิตทางการเกษตรและการประมงแก่ศูนย์ตาดีกาเป้าหมาย 100 แห่ง” นายภาณุกล่าว

“ศอ.บต.ได้ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาด้านอาหารกลางวันในศูนย์ตาดีกา ภายใต้กิจกรรม ครัวหมู่บ้านเพื่ออาหารกลางวัน เพื่อส่งเสริมให้ศูนย์ตาดีกานำหลักปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียงมาใช้อย่างเป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาด้านอาหารกลางวันให้กับผู้เรียน” นายภาณุเพิ่มเติม

นายภาณุยังระบุอีกว่า ความคิดในการดำเนินโครงการนี้คือ เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชนที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษา ส่งเสริมและพัฒนาการจัดการศึกษาของศูนย์ตาดีกาที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ให้เป็นที่ยอมรับของสังคมอย่างมีคุณภาพ และเพื่อให้ศูนย์ตาดีกา เป็นฐานการส่งเสริมหลักครอบครัวคุณธรรม และหลักสัจจะสันติสุข ไปใช้ในการจัดการศึกษาชุมชนต่อไป

ศูนย์ตาดีกาเป็นโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามชั้นอนุบาลประจำมัสยิดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา โดยจัดให้มีการเรียนการสอนในวันเสาร์ และอาทิตย์ ปัจจุบันมีศูนย์ตาดีกาทั้งหมด 2,230 แห่ง มีนักเรียน 220,547 คน และครู 12,020 คน

จากข้อมูลของหน่วยความมั่นคงพบว่า ในโรงเรียนตาดีกาบางแห่ง มีการปลุกระดมให้เด็กมีแนวคิดแบ่งแยกดินแดน จึงทำให้รัฐมีความพยายามที่จะเข้ามาควบคุมระบบศูนย์ตาดีกา ด้วยวิธีต่างๆทั้ง การสนับสนุนการสร้างอาคารเรียนใหม่  การจัดให้มีการปรับปรุงหลักสูตร การส่งครูผู้สอนเพิ่มเติม  รวมทั้งจ่ายค่าตอบแทนให้ครูตาดีกา และล่าสุดเตรียมให้มีการสร้างครัวเพื่อปรุงอาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง