ลูกหลาน “ฮัจยีสุหลง” หวังรัฐรับข้อเสนอของบิดา

มารียัม อัฮหมัด
2019.08.13
ปัตตานี
190813-TH-malayu-leader-800.jpg พ.ญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา หลานสาวของนายฮัจยีสุหลง ยืนมองรูปปู่ ในระหว่างงานรำลึกการหายตัวไปของฮัจยีสุหลง ครบรอบ 65 ปี วันที่ 13 สิงหาคม 2562
มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์

ในวันที่ 13 สิงหาคม 2562 นี้ นายเด่น โต๊ะมีนา บุตรชาย “นายฮัจยีสุหลง” ได้จัดงานรำลึกถึงเหตุโศกนาฏกรรมในครานั้นของ นายฮัจยีสุหลง ชาวมลายูปัตตานีผู้ตกเป็นกบฎ โดยมีการตั้งข้อสงสัยว่าตำรวจสันติบาลเป็นผู้ปลิดชีวิตเขา และเพื่อนร่วมชะตากรรม รวมสี่ราย ไปเมื่อ 65 ปีก่อน โดยนายเด่น กล่าวว่า ข้อเรียกร้องของบิดาของตนที่มีต่อทางการไทย ยังไม่มีความคืบหน้า

นายฮัจยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา เกิดในปี พ.ศ. 2438 ในมณฑลปัตตานี ได้ไปเรียนศาสนาที่นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย และกลับมาเปิดโรงเรียนปอเนาะเป็นครั้งแรกในเมืองไทย เพื่อให้ชาวมุสลิมเข้าใจศาสนาอิสลามอย่างถูกต้อง ฮัจยีสุหลง มีส่วนในการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปรับการบริหารราชการ 7 ประการ เพื่อให้เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตของชาวมลายูปาตานี จนเป็นเหตุให้รัฐบาลในขณะนั้น เห็นว่าเป็นกบฏ จนถูกตัดสินจำคุก 4 ปี 8 เดือน ก่อนถูกปล่อยตัวออกมา และมีรายงานข่าวว่าถูกลักพาตัวหายไปอีกครั้ง ในวันที่ 13 สิงหาคม 2497

“ทุกวันที่ 13 สิงหาคม ของทุกปี บรรดาลูกหลานฮัจยีสุหลง จะจัดงานวันครบรอบการหายตัวของฮัจยีสุหลง ปีนี้เป็นปีที่ 65 เพื่อทบทวนข้อเรียกร้อง 7 ข้อ ของฮัจยีสุหลง โต๊ะมีนา จากข้อเรียกร้อง 7 ข้อนี้ ในเรื่องศาสนายังไม่มีศาสนาชารีอะ และอีกประการหนึ่ง คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ยังไม่มีอำนาจเต็ม เป็นเพียงที่ปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัดเท่านั้น ไม่มีอำนาจใดๆ เลย จนถึงวันนี้ ยังไม่มีอะไรดีขึ้น” นายฮัจยีสุหลง กล่าวแก่ลูกหลาน และผู้เข้าร่วมงานรำลึก ตามมาด้วยการสัมมนา ที่จัดขึ้นที่บ้านของนายฮัจยีสุหลง ในอำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

ด้านแพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรคภูมิใจไทย หลานสาวฮัจยีสุหลง กล่าวว่า ข้อเรียกร้องทั้ง 7 ข้อ ถือว่าเป็นข้อเรียกร้องมีชีวิต เพราะปัจจุบันนี้ ยังมีการพูดถึงกันมาก

“เห็นได้ว่า ข้อเรียกร้อง 7 ข้อ ที่ยังไม่สามารถแก้ได้ คือ ข้อหนึ่ง การเมืองการปกครอง จากข้อเรียกร้อง คือ ให้มีผู้แทนที่เป็นคนมลายูมาปกครองพื้นที่ ซึ่งตอนนี้ ก็ยังไม่มี และการแยกศาลศาสนาออกจากศาลปกติ ตอนนี้ ก็ยังไม่มี ส่วนเรื่องอื่นๆ ถามว่าโอเคไหม? บอกเลยว่าไม่” แพทย์หญิงเพชรดาว กล่าว

“อย่างเรื่องการใช้ภาษามลายูกับภาษาไทยควบคู่กันเป็นภาษาราชการ และการเรียนการสอบในระดับอนุบาลและประถม ให้ใช้ภาษามลายูเป็นหลักก่อน แต่ปัจจุบันนี้ ยังไม่มี” แพทย์หญิงเพชรดาว กล่าวเพิ่มเติม

อย่างก็ตาม แพทย์หญิงเพชรดาว กล่าวยอมรับว่า รัฐบาลได้เปิดกว่างรับฟังความคิดเห็นมากขึ้น และมีการเปิดพื้นที่ให้สาธารณชนพูดคุยเรื่องนี้ได้มากขึ้น

“รัฐบาลฟังมากขึ้น อย่างเรื่องของฮัจยีสุหลง เรื่องของข้อเรียกร้อง 7 ข้อ ถูกเปิดเผย ซึ่งต่างจากเมื่อก่อนที่ไม่มีใครกล้าพูดเรื่องนี้ ซึ่งตอนนี้เริ่มมีการเปิดพื้นที่มากขึ้น” แพทย์หญิงเพชรดาว กล่าว

สำหรับข้อเรียกร้อง 7 ข้อ ที่นายฮัจยีสุหลงเสนอต่อรัฐบาล พลเรือตรีหลวงธำรงค์นาวาสวัสดิ์ ในปี 2490 มีดังนี้ คือ 1. ขอให้แต่งตั้งบุคคลคนหนึ่งซึ่งมีอำนาจเต็มมาปกครองใน 4 จังหวัด คือ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล ให้มีอำนาจที่จะปลด ระงับ หรือโยกย้ายข้าราชการได้ บุคคลผู้นี้ จักต้องถือกำเนิดในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งของ 4 จังหวัด และจักต้องได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชนใน 4 จังหวัดนั้น 2. ข้าราชการในสี่จังหวัด จักต้องเป็นมุสลิมจำนวน 80 เปอร์เซ็นต์ 3. ให้ใช้ภาษามลายูและภาษาไทยเป็นภาษาราชการของ สี่จังหวัด 4. ให้ภาษามลายูเป็นภาษากลางของการสอนในโรงเรียนชั้นประถมศึกษา 5. ให้ใช้กฎหมายมุสลิมในศาลศาสนา แยกออกไปจากศาลจังหวัด โดยมีผู้พิพากษามุสลิม (KATH) นั่งพิจารณาร่วมด้วย 6. ภาษีเงินได้และภาษีทั้งปวงที่เก็บจากประชาชนใน สี่จังหวัด จักต้องใช้จ่ายเฉพาะใน 4 จังหวัดเท่านั้น และ 7. ให้จัดตั้งคณะกรรมการมุสลิมมีอำนาจเต็มในการดำเนินการเกี่ยวกับคนมุสลิมทุกเรื่อง โดยให้อยู่ในอำนาจสูงสุดของผู้นำตามข้อ 1

การหายตัวไปของนายฮัจยีสุหลงและพวก รวมสี่คน นำไปสู่การก่อตั้งกลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติปัตตานี (ชื่อภาษามลายูว่า Barisan Islam Pembebasan Patani) หรือบีไอพีพี ในปี พ.ศ. 2505 รวมทั้งขบวนการแบ่งแยกดินแดนกลุ่มอื่นๆ เช่น พูโล และบีอาร์เอ็น ในภายหลัง

การปกครองตนเอง 'ยากที่จะยินยอม'

ด้าน ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่ร่วมสัมมนาในครั้งนี้กล่าวว่า การกล่าวถึงเรื่องที่อ่อนไหวนั้น เป็นสิ่งที่สองฝ่ายยังไม่สามารถยอมรับข้อตกลงร่วมใดๆ ได้

“มองได้ว่าเรื่องการปกครองตนเอง มีสองฝั่ง คือ ผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ ต้องการเอกราชเพียงอย่างเดียว อีกฝั่งคือรัฐ ก็ไม่เห็นด้วย มองว่าปกครองตนเองคือ สะพานเชื่อมต่อไปสู่ข้อเรียกร้องเรื่องเอกราชในอนาคต เพราะฉะนั้น ทั้งสองฝ่ายก็ไม่ยอมรับในเรื่องนี้” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว

“ผมคิดว่าการได้มาของพื้นที่การพูดคุยนี้ มันต้องได้มาแบบขั้นๆ หากจะนับประวัติศาสตร์ที่สำคัญ คือ ข้อเสนอ 7 ข้อ ของฮัจยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา ซึ่งในตอนนั้น พื้นที่ถูกปิดอย่าง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ปัจจุบันพื้นที่เหล่านี้ถูกเปิดขึ้น แต่ยังไม่ได้เปิดอย่างที่ต้องการ คือ การพูดแสดงความคิดเห็น ยังไม่ได้เท่าที่ควร ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ คือหัวใจสำคัญของการต่อสู้ในพื้นที่ปาตานี” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวเพิ่มเติม

นับตั้งแต่เกิดเหตุรุนแรงระลอกล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2547 จนถึงปัจจุบัน มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการก่อความไม่สงบแล้วประมาณ 7,000 ราย

ในความพยายามแก้ไขปัญหานั้น ได้มีการพูดคุยเพื่อสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ และคณะผู้แทนรัฐบาลไทย ซึ่งเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558 โดยมีการริเริ่มกันมาในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

“ในที่สุดปี 2556 ก็เกิดการพูดคุยเพื่อสันติภาพขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งพื้นที่ถูกเปิดขึ้น เนื่องจากข้อเรียกร้อง 7 ข้อ ของฮัจยีสุหลง โต๊ะมีนา” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การพูดคุยฯ ได้สะดุดลงในเดือนกุมภาพันธ์ ศกนี้ ฝ่ายมาราปาตานีเกิดความไม่พอใจที่พลเอกอุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ หัวหน้าคณะพูดคุยฯ คนใหม่ของไทย ที่ไม่ยอมเข้าพบปะทำความรู้จักกับแกนนำการเจรจาของฝ่ายตน ซึ่งในครั้งนั้น นายอับดุล ราฮิม นูร์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจมาเลเซีย เป็นผู้อำนวยการในการพูดคุยคนใหม่ ได้จัดขึ้นในมาเลเซีย

ทั้งนี้ ฝ่ายมาราปาตานี ได้เปิดเผยว่า ได้มีการพบปะกันของคณะพูดคุยในระดับเทคนิกไปเมื่อเร็วๆ นี้ แต่ไม่มีการยืนยันจากทางฝ่ายไทย

ผศ.ดร.ศรีสมภพ ยังมองว่า ข้อเสนอใดๆ ไม่ว่าจะเป็นของนายฮัจยีสุหลง หรือของใครๆ ก็ตาม ทางหน่วยงานรัฐเอง ยังไม่ได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นหนทางในการผ่อนคลายปัญหา

“อย่างเช่น ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) ในปัจจุบัน พยายามจะจัดการในรูปแบบพิเศษ และภาษาวัฒนธรรม โรงเรียนที่กึ่งๆ แต่ไม่เต็มที่ตามข้อเสนอ” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง