เร่งแก้ปัญหาเรื้อรัง การขาดแคลนบุคลากรแพทย์ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
2015.06.30

วันนี้ 30 มิถุนายน 2558 ที่ตึกอธิการบดี มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ผศ.ดร.รสสุคนธ์ แสงมณี อธิการบดี ม.นราธิวาสราชนคริทร์ และ พล.อ.อ.นายแพทย์ อวยชัย เปลื้องประสิทธิ์ คณบดี คณะแพทย์ศาสตร์ ม.นราธิวาสราชนครินทร์ ได้ร่วมกันเป็นประธานในพิธี มอบเครื่องคอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ค ให้แก่นักศึกษา แพทย์ ชั้นปีที่ 2 และปีที่ 3 ประจำปีการศึกษา 2558 โดยมีนักศึกษาคณะแพทย์ศาสตร์ ได้รับมอบดังกล่าว จำนวนทั้งสิ้น 48 คน โดยมี นักศึกษาแพทย์ และ ผู้ปกครองที่เข้าร่วมพิธีกว่า 200 คน
ผศ.ดร.รสสุคนธ์ แสงมณี อธิการบดี กล่าวว่า การพัฒนาการศึกษาจะต้องเดินหน้า ต้องไม่หยุดนิ่ง ในฐานะสถาบันอุดมศึกษา จะต้องให้ความสำคัญ และตั้งใจในการแก้ปัญหา แม้ในพื้นที่จะเกิดปัญหาความไม่สงบอยู่ก็ตาม พร้อมการพัฒนาการศึกษาอย่างจริงจัง การขาดแคลนบุคลากรแพทย์ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีมายาวนาน เป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องผลิตแพทย์ เพื่อเข้าปฎิบัติงาน รักษาผู้ป่วยในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ด้าน พล.อ.อ.นายแพทย์ อวยชัย เปลื้องประสิทธิ์ คณบดี คณะแพทย์ศาสตร์ ม.นราธิวาสราชนครินทร์ เปิดเผยว่า การมอบเครื่องคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ค ให้กับนักศึกษาแพทย์ในครั้งนี้ ถือเป็นการสนับสนุนสื่อทางการศึกษา เรียนรู้ด้วยตัวเอง เป็นคุณลักษณะที่บัณฑิตพึงประสงค์ ในด้านทักษะ เทคโนโลยี สารสนเทศ และอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาแพทย์ศาสตร์ ซึ่งจะสามารถเสริมทักษะและศักยภาพนักศึกษาให้มากขึ้นอีกทางหนึ่ง ก่อนหน้านี้ได้ส่งนักศึกษาแพทย์บางส่วนไปศึกษาภาษาอังกฤษ ที่ประเทศสิงคโปร์แล้ว
ส่วน ม. นราธิวาส ได้เปิดการเรียนการสอนหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต ตั้งแต่ปี 2550 ผลิตนักศึกษาแพทย์ จบไปแล้ว 3 รุ่น ได้ลงปฎิบัติงาน ในฐานะแพทย์ รวมทั้งสิ้น 62 คน ประจำโรงพยาบาลในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และขอยืนยันว่า ผลผลิตแพทย์ ที่ ม.นราธิวาส มีคุณภาพ และผลสัมฤทธิได้รับการรับรองมาตรฐาน โดยแพทย์สภา ซึ่งถือว่าคณะแพทย์ ม.นราธิวาส เป็นทรัพยากรบุคคลในพื้นที่ เป็นความภาคภูมิใจของ ครูบาอาจารย์ ม.นราธิวาสราชนครินทร์ รวมถึงคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
ข้อเรียกร้องของพยาบาลวิชาชีพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
นอกจาก การให้ความสำคัญในการเร่งผลิตบุคลากรแพทย์ และเพิ่มศักยภาพแพทย์เพื่อการปฏิบัติการ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ปัญหาที่รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข ควรคำนึงถึง และเร่งแก้ไขอีกปัญหาหนึ่งคือ การเพิ่มศักยภาพ และให้ความเป็นธรรมแก่พยาบาลวิชาชีพ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2558 เดือนที่แล้ว ตัวแทนจากชมรมพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสมาชิกชมรมฯ จำนวน 15 คน ได้ยื่นหนังสือร้องเรียน ขอความเป็นธรรมให้กับพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยมี ดร. อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นผู้รับหนังสือร้องเรียน ที่โรงแรมซีเอสปัตตานี
โดยชมรมพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีสมาชิก 857 คน เห็นว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้
1.ขอให้พิจารณาเพิ่มค่าตอบแทนของพยาบาลวิชาชีพ ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เท่ากับค่าตอบแทนของพยาบาลวิชาชีพในโรงพยาบาลชุมชน 2.พิจารณาออกคำสั่ง การเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทน จากเงินงบประมาณเท่านั้น ไม่ใช้เงินจากงบบำรุงของโรงพยาบาล เนื่องจากมีความล่าช้า ไม่ตรงตามเวลาที่กำหนด ทำให้ได้รับความเดือดร้อน 3. ขอให้พิจารณากำหนดตำแหน่งชำนาญการพิเศษ ให้กับพยาบาลวิชาชีพ ที่ปฎิบัติงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเป็นเวลานาน มีคุณสมบัติเหมาะสม 4. ขอให้พิจารณาให้พยาบาลวิชาชีพ ที่ปฎิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลฯ สามารถดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลฯได้ โดยไม่ต้องเปลี่ยนสายงาน เป็นนักวิชาการสาธารณสุขเหมือนปัจจุบัน