สื่อมวลชนร่วมเสวนา “สื่อสมัยนี้ เสรีภาพสมัยไหน”
2016.05.17
กรุงเทพฯ

ในวันอังคาร (17 พ.ค. 2559) นี้ สำนักงานกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ร่วมกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้จัดเสวนาในหัวข้อ “สื่อสมัยนี้ เสรีภาพสมัยไหน” เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเสรีภาพในการทำงานของสื่อมวลชนในยุคปัจจุบัน ทั้งจากมุมมองของสื่อท้องถิ่น และสื่อโทรทัศน์กระแสหลัก
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการ กสทช. ได้กล่าวเปิดงานโดยชี้ให้เห็นว่า เสรีภาพของสื่อมวลชนมีความสำคัญต่อสังคมและประชาชน ซึ่งหน่วยงานรัฐจำเป็นต้องทำความเข้าใจความสำคัญของเสรีภาพนี้
“เรามักจะดีเบตกันตลอดเวลาว่า เสรีภาพต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นคำพูดที่ถูกต้อง แต่ว่าถ้าสื่อไร้เสรีภาพซะแล้ว ก็ยากที่จะมีความรับผิดชอบ เพราะความรับผิดชอบของสื่ออย่างแรก คือการนำเสนอความจริง แล้วก็เป็นความจริงที่รอบด้าน ถ้าปราศจากเสรีภาพก็ยากที่จะหาความจริง เมื่อหาความจริงไม่ได้ ก็ยากที่จะมีความรับผิดชอบ” นางสาวสุภิญญากล่าว
คณะกรรมการ กสทช. เพิ่มเติมว่า ในห้วงเวลาที่ผ่านมาสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศ เคยถกเถียงกับรัฐบาลในเรื่องของเสรีภาพการนำเสนอข้อมูล เพราะสถานการณ์เสรีภาพสื่อคล้ายกับยังถูกจำกัดอยู่ อย่างไรก็ดียังเชื่อว่าในอนาคตสถานการณ์เสรีภาพของสื่อจะคลี่คลายไปในทางที่ดี และหวังว่าประเทศจะก้าวไปในทิศทางที่เหมาะสม ซึ่งสื่อถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศด้วย
ความต้องการเสรีภาพของสื่อที่ถูกมองว่าเลือกข้าง
นางสาวพรรณิการ์ วานิช จากสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวีกล่าวว่า สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี ถือเป็นสื่อที่ถูกสังคมตัดสินแล้วว่ารับใช้กลุ่มการเมืองหนึ่ง ซึ่งการถูกตัดสินนั้นทำให้สถานีเองจำเป็นต้องทำงานให้หนักขึ้น พยายามนำเสนอข่าวให้รอบด้านขึ้น และต้องระมัดระวังในเรื่องการแสดงความคิดเห็นเป็นพิเศษ เพราะที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่ทหารเดินทางมาที่สถานี ได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารและให้คำขาดว่า หากช่องนำเสนอข้อมูลที่ไม่เหมาะสมจะถูกตัดสัญญาณออกอากาศ
“เสรีภาพสื่อคือการไม่มี กสทช. เพราะว่าการที่มีคณะกรรมการที่มากำกับสื่อเป็นพิเศษ อย่างดีที่สุดคือ การอยู่บนพื้นฐานของคุณพ่อรู้ดี นั่นก็คือคุณคิดว่าประชาชนไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอที่จะมีวิจารณญาณว่า สื่อไหนเป็นยังไง? สื่อไหนบิดเบือนหรือไม่บิดเบือน? สื่อไหนคุณควรจะรับหรือไม่รับ?” นางสาวพรรณิการ์กล่าว
“แต่การที่ถูกจำกัดอย่างย่ำแย่ที่สุดไม่ใช่การมีทหารอาวุธครบมือมาเฝ้าทุกวัน วันละอย่างน้อย 12 ชั่วโมง แล้วก็ไม่ใช่การที่ กสทช.เรียกเราไปบ่อยๆแต่มันคือ การเซนเซอร์ตัวเอง เพราะว่าตอนนี้สถานการณ์ก็คือ สื่อไม่กล้าที่จะพูดเพราะว่าทุกคนอยู่บนความเสี่ยงที่ว่าจะโดนเรียก จะโดนปรับทัศนคติ จะโดนปิดช่องหรือไม่ และความคลุมเครือของการใช้กฎต่างๆไม่เท่ากัน” ผู้สื่อข่าววอยซ์ทีวีเพิ่มเติม
ด้านนางสมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์ จากสำนักข่าวเนชั่น สำนักข่าวที่ถูกมองเช่นกันว่ารับใช้กลุ่มการเมืองอีกกลุ่มหนึ่งเปิดเผยว่า ปัจจุบัน การหาข้อมูลในการทำข่าวของสื่อก็มีความยากลำบาก เนื่องจากรัฐไม่ให้ความร่วมมือสนับสนุนข้อมูล
“การไปแข่งกัน เน้นกันที่ความไว ก็ทำให้การทำข่าวเจาะน้อยลง อันนั้นคือหนึ่งปัจจัย แต่อีกปัจจัยหนึ่งต้องยอมรับเลยว่าการทำข่าวของนักข่าวในยุคนี้ ในช่วงนี้ มีข้อจำกัดในการที่จะไปหาข้อมูล หาข้อเท็จจริงเพื่อที่จะมานำเสนอ เช่น กรณีอุทยานราชภักดิ์ แม้กระทั่งวันที่ ผบ.ทบ. แถลง ท่านก็ไม่ให้มีการถ่ายทอดสด (มีการตัดสัญญาณมือถือด้วย – กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ดำเนินการเสวนาเสริม) นี่คือข้อจำกัด มันคือความพยายามที่จะไม่ให้เราเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร” นางสมฤทัยชี้แจง
ความยากลำบากในการทำข่าวของสื่อมวลชนท้องถิ่น
นางนวลน้อย ธรรมเสถียร สื่อมวลชนในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชี้ว่า เสรีภาพของสื่อมวลชนในภาคใต้ในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มีความแตกต่างกับยุครัฐบาลพลเรือนไม่มากนัก เนื่องจากในภาคใต้สื่อค่อนข้างถูกจำกัดเสรีภาพอยู่แล้วจากสภาพแวดล้อม และบริบทสังคม
“มันมีความอ่อนแออยู่ในโครงสร้างของการสื่อสารในพื้นที่อยู่แล้ว คนจะสื่อสารมันมีตลาดจำกัด มันมีวงกลุ่มคนฟังของตัวเองที่จำกัด การที่จะทำตัวเองให้เป็นกระดานสนทนาสำหรับทุกฝ่าย อย่างที่เราคาดหวังที่จะให้มันเกิดขึ้นกับการทำหน้าที่สื่อเนี่ย มันแทบจะไม่เกิด” นางนวลน้อยกล่าว
“สื่อต่างๆ[กระแสหลัก]ล้วนจะมีแบคอัพที่ทำให้เขาอยู่ได้ แต่ใน 3 จังหวัด[ภาคใต้]ใครจะแบคอัพพวกเขา แล้วสื่อใน 3 จังหวัด คนฟัง หรือคนรับสารมันน้อย ในเชิงพาณิชย์มันอยู่ไม่ได้ ดังนั้นเมื่อมันอยู่ไม่ได้ ทำให้ในพื้นที่มันขาดสื่อที่จะทำหน้าที่รักษาสมดุล หรือเป็นกระดานสนทนาให้ได้” อดีตผู้สื่อข่าวบีบีซี
ด้านนางสาวชุติมา สีดาเสถียร อดีตผู้สื่อข่าวสำนักข่าวภูเก็ตหวาน สื่อท้องถิ่นซึ่งปิดตัวลงหลังจากที่กองทัพเรือฟ้องหมิ่นประมาทในกรณีที่เผยแพร่ข่าวความเกี่ยวพันระหว่างกองทัพเรือ กับขบวนการค้ามนุษย์ชี้ว่า กลุ่มนายทุนท้องถิ่นเป็นตัวการสำคัญที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อในต่างจังหวัด เนื่องจากผู้สื่อข่าวจำเป็นต้องพึ่งพาทุนท้องถิ่นในการดำเนินงาน
“การทำหน้าที่ของสื่อท้องถิ่น เสรีภาพของเขาก็จะขึ้นอยู่กับกลุ่มนายทุนหรือกลุ่มคนที่ขับเคลื่อนในจังหวัด เขาจำเป็นที่จะต้องสนองตอบในกลุ่มเหล่านี้ ตรงนี้ทำให้สื่อไม่สามารถเขียนข่าวได้อย่างรอบด้านได้” นางสาวชุติมากล่าว
อย่างไรก็ตาม อดีตผู้สื่อข่าวภูเก็ตหวาน ชี้ว่าความไม่เชี่ยวชาญด้านสื่อสารมวลชน และความไม่เข้าใจเรื่องเสรีภาพสื่อมวลชนของผู้สื่อข่าวท้องถิ่น ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความตื่นตัวเรื่องเสรีภาพสื่อไม่เติบโตในแวดวงสื่อต่างจังหวัด
ขณะเดียวกัน นายสมเกียรติ จันทสีมา จากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสอธิบายว่า การทำข่าวของสื่อพลเมือง ค่อนข้างถูกจำกัดสิทธิ โดยเฉพาะการทำข่าวในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาของภาครัฐ หรือประเด็นกระแสรอง ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ช่วงที่ผ่านมา ทั้งนักข่าว และประชาชนที่ให้ข่าวถูกเรียกไปปรับทัศนคติอยู่บ่อยครั้ง
“ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นักข่าวพลเมือง สื่อพลเมือง ถูกเชิญไปปรับทัศนคติเยอะมากเลย ที่จริงไม่ใช่แค่นั้น ชาวบ้าน นักศึกษา อาจารย์ที่ทำงานด้านสื่อก็โดนเชิญไปคุย” นายสมเกียรติ ยกตัวอย่าง
“ที่ผ่านมาเราพยายามหาจุดร่วม ระหว่างสื่อพลเมืองกับสื่อกระแสหลัก เราพยายามระวังมากขึ้น ระวังนี่ไม่ได้เซนเซอร์ตัวเองนะ ระวังให้ยังสามารถรักษาพื้นที่ตรงนี้ได้ ให้สามารถสื่อสารได้ โดยที่ประเด็นของชาวบ้านถูกสื่อสาร ในขณะเดียวกันมันต้องนำไปสู่การแก้ไขอย่างสร้างสรรค์ไม่ใช่การเผชิญหน้ากัน” นายสมเกียรติเพิ่มเติม
เสรีภาพที่จำกัด อาจทำให้สำนักข่าวต่างประเทศย้ายฐานจากไทย
นาย สตีเว่น เฮอร์มัน จากสำนักข่าววอยซ์ออฟอเมริกา กล่าวว่า ที่ผ่านมาสำนักข่าวต่างประเทศเลือกที่จะใช้ประเทศไทยเป็นที่ตั้งในการทำข่าว ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากกรุงเทพฯ มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และสะดวกในการทำหน้าที่สื่อ แต่ในช่วงที่ผ่าน การเปลี่ยนแปลงเรื่องเสรีภาพสื่อ อาจทำให้สำนักข่าวหรือแม้กระทั่งบริษัทต่างชาติเริ่มมองหาประเทศอื่นในการตั้งสำนักงานแล้ว
“นอกจากเสรีภาพของสื่อแล้ว การเปลี่ยนแปลงระบบโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้กรุงเทพฯต้องพยายามที่จะแข่งขัน เพื่อรักษาสถานะที่เป็นอยู่เอาไว้ เพราะไม่ใช่แค่สำนักข่าว แต่รวมถึงบริษัท บางทีพวกเขาอาจเริ่มมองช่องทางที่จะย้ายสำนักงานไปยังประเทศอื่น” ผู้สื่อข่าววอยซ์ออฟอเมริกากล่าว
นอกจากนี้นายสตีเว่น เฮอร์มันยังมองว่า การออกกฎใหม่ในการให้วีซ่าสำหรับผู้สื่อข่าวต่างประเทศในประเทศไทย เป็นสถานการณ์ที่ไม่ชัดเจน และน่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะเหตุผลในการให้วีซ่าของผู้สื่อข่าวต่างชาติแต่ละคนแตกต่างกันไป ไม่อยู่บนมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งเขาหวังว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้จะคลี่คลายในเร็ววัน