บางกอกโพสต์แถลงปฎิเสธข่าวถูกรัฐบาลสั่งปลด บก.

ภิมุข รักขนาม และ นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2018.05.16
กรุงเทพฯ
180516-TH-umeshpandey-1000.jpg นายอุเมส ปานเดย์ ถูกให้ออกจากตำแหน่งหัวหน้าบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ขณะโพสต์ถ่ายรูปในห้องทำงานเดิม กรุงเทพฯ วันที่ 15 พฤษภาคม 2561
เอพี

ในวันพุธนี้ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า บริษัทไม่ได้ถูกรัฐบาลทหารแทรกแซงให้ปลดนายอุเมส ปานเดย์ ออกจากตำแหน่งบรรณาธิการ ด้านนายอุเมสเชื่อว่า ตนเองจะไม่ใช่สื่อมวลชนคนสุดท้ายที่ถูกแทรกแซงการทำงานโดยรัฐ

เว็บไซต์หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ออกแถลงการณ์ในนามคณะบรรณาธิการระบุว่า การที่บริษัทย้ายนายอุเมส ปานเดย์จากตำแหน่งบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ไปเป็นผู้ช่วยหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฎิบัติการหนังสือพิมพ์ ไม่ใช่การแทรกแซงของรัฐบาล หรือผู้บริหารของบริษัท

“หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ขอยืนยันกับผู้อ่านทุกท่าน และสาธารณชนถึงความเป็นอิสระทางบรรณาธิการ และขอย้ำว่าเนื้อหาของเรา ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์หรือในช่องทางอื่นๆ ไม่เคยถูกแทรกแซง ไม่ว่าจะโดยรัฐบาลหรือผู้บริหารของบริษัท” แถลงการณ์ระบุ

“การตัดสินใจโยกย้ายอดีตบรรณาธิการในครั้งนี้เกิดจากหลายเหตุปัจจัย และไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับความเป็นอิสระของกองบรรณาธิการ” ข้อความบางส่วนจากแถลงการณ์

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา นายอุเมส ปานเดย์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ได้เขียนข้อความลงบนหน้าเฟสบุ๊คส่วนตัว ระบุว่า ตนเองถูกปลดออกจากตำแหน่งบรรณาธิการ เพราะเคยถูกขอให้ลดการความเข้มข้นในการนำเสนอข่าว แต่ตนเองปฎิเสธที่จะดำเนินการตามคำขอ

“ผมได้รับการบอกว่า คนในรัฐบาลไม่สบายใจกับงานของผม ทำให้คณะกรรมการบริหารย้ายผมไปอยู่ในตำแหน่งที่ไม่มีอำนาจสั่งการ ผมไม่ใช่สื่อคนแรกที่ถูกปลด และเชื่อว่าไม่ใช่คนสุดท้าย แต่ผมหวังว่าผมจะเป็นคนสุดท้าย” นายอุเมส กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

นายอุเมสระบุว่า ตนเองเคยถูกแทรกแซงโดยรัฐบาลมาแล้ว แม้ในยุคที่เป็นรัฐบาลพลเรือน เช่น ยุคที่นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากได้ทำหน้าที่รายงานการบริหารงานที่ไม่เป็นปกติของรัฐบาล เมื่อครั้งทำงานให้กับหนังสือพิมพ์เอเชี่ยน วอลล์สตรีท เจอร์นัล

“ในช่วงปี 2554 สื่อก็ถูกคุกคามเช่นกันกับยุคนี้ ผมเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ถูกตรวจสอบ เพราะรัฐบาลเชื่อว่า ผมเป็นชาวต่างชาติ แต่สุดท้ายเขาก็พบว่าผมไม่ใช่ชาวต่างชาติ” นายอุเมส กล่าวเพิ่มเติม

ในห้วงเวลานั้น รัฐบาลทักษิณได้มีความพยายามไล่ นายชอน คริสปิน และนายรอดนี่ย์ ทาสเกอร์ ผู้สื่อข่าวของนิตยสาร Far Eastern Economic Review ออกนอกประเทศ เพราะทั้งสองรายงานข่าวในทางลบต่ออดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร รวมทั้งการพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับของที่ระลึกจากนายสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ เจ้าของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ หลังจากการปาฐกถาในงาน “บางกอกโพสต์ฟอรั่ม 2560” วันที่ 24 สิงหาคม 2560 (ภิมุข รักขนาม/เบนาร์นิวส์)
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับของที่ระลึกจากนายสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ เจ้าของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ หลังจากการปาฐกถาในงาน “บางกอกโพสต์ฟอรั่ม 2560” วันที่ 24 สิงหาคม 2560 (ภิมุข รักขนาม/เบนาร์นิวส์)

ประยุทธ์ปฏิเสธการแทรกแซง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบคำถามสื่อมวลชนหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันอังคารว่า รัฐบาลไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปลดนายอุเมส

“รู้สึกอย่างไร กรณีการปลด... ผมไปเกี่ยวอะไรกับเขาเล่า ผมยังไม่รู้จักเขาเลย ใครเนี่ย คุณอุเมส ปานเดย์... เป็นเรื่องของจรรยาบรรณของสื่อที่ทุกคนก็พูดกันแล้วไง ว่าสื่อดูแลกันเอง นี่ผมให้โอกาสสื่อดูแลกัน ก็ไปพิจารณากันสิว่าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม” นายกรัฐมนตรีกล่าว

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เก็บสถิติพบว่า ในระยะเวลา 4 ปีภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) รัฐบาลใช้อำนาจผ่านสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ควบคุมหรือลงโทษสื่ออย่างเปิดเผยไปแล้ว 52 ครั้ง ที่ถูกลงโทษมากที่สุดคือ วอยซ์ทีวี 19 ครั้ง รองลงมาก็คือ พีซทีวี 12 ครั้ง ขณะที่สมาคมสื่อมวลชน ออกแถลงการณ์ในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 3 พฤษภาคม 2561 เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกคำสั่ง คสช.และหยุดใช้อำนาจที่ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน

ก่อนหน้านี้ ปลายเดือนมีนาคม 2561 นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ได้ลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี ในขณะที่สำนักข่าวหลายแห่งรายงานตรงกันโดยอ้างอิงแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อว่า พีพีทีวี ขอให้นายวันชัยลาออกจากตำแหน่ง หลังจากที่เจ้าหน้าที่ทหารเดินทางเข้าพบผู้บริหารพีพีทีวี พร้อมกับข้อมูลการโพสต์ข้อความบนเฟสบุ๊คส่วนตัวของนายวันชัย ซึ่งวิพากษ์-วิจารณ์รัฐบาล แต่อย่างไรก็ดี พีพีทีวี ไม่เคยออกแถลงการณ์ยอมรับหรือปฎิเสธกระแสข่าวดังกล่าว

ด้านนางกุลชาดา ชัยพิพัฒน์ จากองค์กรพันธมิตรเพื่อเสรีภาพสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) แสดงความคิดเห็นถึงกรณีของนายอุเมส ว่า การย้ายตำแหน่ง ด้วยเหตุผลการบริหารงาน ถือเป็นเหตุผลที่ยอมรับได้ แต่ถ้าหากย้ายด้วยเหตุผลของมุมมองการนำเสนอข่าว ถือเป็นการพยายามควบคุมด้านเนื้อหา หรือเซ็นเซอร์ความคิดเห็นในการนำเสนอข่าว

“การที่ผู้บริหารบางกอกโพสต์ตัดสินใจกรณีคุณอุเมส แม้จะระบุว่ามีหลายปัจจัย แต่ที่บอกว่าปัจจัยเรื่องข่าวและบทความของโพสต์หมิ่นเหม่และวิพากษ์รัฐบาลรุนแรง ถือว่ามองเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากการเซ็นเซอร์” นางกุลชาดากล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“ในยุค คสช. บางกอกโพสต์ถือเป็นหนึ่งในสื่อที่ทำหน้าที่ได้อย่างมีมาตรฐาน วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบการทำงานของรัฐอย่างต่อเนื่อง ผลงานหลังจากนี้ จะเป็นบทพิสูจน์ว่าโพสต์ยังทำหน้าที่ของตัวเองต่อไปไหม จะยังรักษามาตรฐานได้หรือไม่” นางกุลชาดากล่าวเพิ่มเติม

นายฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการประจำภาคพื้นเอเชีย องค์กรฮิวแมนไรทส์วอทช์ กล่าวต่อเบนาร์นิวส์ว่า เสรีภาพสื่อมวลชนในประเทศไทยกำลังถูกลิดรอน รัฐบาลทหารกำลังทำให้สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยถดถอย

“ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบางกอกโพสต์ คือ ตระกูลนักธุรกิจครอบครัวที่มีความใกล้ชิดกับใครก็แล้วแต่ที่มีอำนาจมาโดยตลอด และกำกับนโยบายด้านการข่าวตามที่ต้องการเสมอ ยกตัวอย่างเช่น ครั้งที่ไล่นักข่าวอาวุโสออก เพราะเปิดเผยการทุจริตโครงการสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งทำให้อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตรโมโห” ฟิล โรเบิร์ตสันกล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“คราวนี้ เจ้าของบางกอกโพสต์เคลื่อนไหว ปลดบรรณาธิการที่พวกเขาคิดว่าแข็งขืนต่อการทำงานของรัฐบาลทหาร ในการเตือนความจำของทหารที่สัญญาว่า จะฟื้นฟูประชาธิปไตย เสรีภาพของสื่อมวลชนตกอยู่ภายใต้การคุกคาม ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนจนถึงปลายทศวรรษที่ 70 แสดงให้เห็นว่า คสช.ได้ฉุดดึงประเทศไทยให้ถอยหลังในด้านประชาธิปไตย และถ่วงความก้าวหน้าของสิทธิมนุษยชน”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง