สามจังหวัดชายแดนใต้ เร่งลงทะเบียนแรงงานพม่า ลาว และกัมพูชา

นาซือเราะ
2016.07.12
ปัตตานี
TH-migrant-labor-1000 แรงงานข้ามชาติชาวพม่า ยืนบนเรือประมง ที่เพิ่งเข้าเทียบท่าเรือ ในจังหวัดปัตตานี ประเทศไทย วันที่ 18 มิถุนายน 2557
เอเอฟพี

ในวันอังคาร (12 กรกฎาคม 2559) นี้ เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เร่งรับลงทะเบียนขออนุญาตทำงานในประเทศไทยสำหรับแรงงานข้ามชาติ สัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยจะสิ้นสุดการรับขึ้นทะเบียน ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2559

ตามมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติ สัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ถือใบอนุญาตทำงานชั่วคราวหรือบัตรสีชมพู และอยู่ระหว่างการขอพิสูจน์สัญชาติจากประเทศต้นทาง ซึ่งครบกำหนดแล้ววันที่ 31 มี.ค. 2559 สามารถอยู่และทำงานในไทยต่อได้อีก 2 ปี คือถึงวันที่ 31 มี.ค. 2561 โดยขั้นตอนในการขอขึ้นทะเบียนนั้น นายจ้างจะต้องนำแรงงานข้ามชาติมาที่จุดรับลงทะเบียน พร้อมทั้งนำใบอนุญาตที่หมดอายุ ใบตรวจสุขภาพ และใบจดทะเบียนขออนุญาตทำงานหรือบัตรสีชมพูใหม่ มาขอขึ้นทะเบียนด้วยตนเอง

นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานกล่าวว่า กระทรวงแรงงานจะเร่งดำเนินการจดทะเบียนแทนการขยายระยะเวลา และจะเข้มงวดกับขั้นตอนต่างๆ มากขึ้น ตามนโยบาย “ผิดเป็นจับ ปรับเป็นแสน”

“กรมการจัดหางานขอยืนยันว่าจะไม่ขยายเวลาการจดทะเบียนออกไปอีก แต่จะเร่งดำเนินการจดทะเบียนในส่วนที่เหลือ รวมถึงแรงงานที่ยังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสุขภาพกว่า 10,000 คน ดำเนินการจดทะเบียนให้เเล้วเสร็จ แม้ช่วงนี้ จะมีวันหยุดหลายวัน ก็จะยังคงเปิดทำการปกติ” นายอารักษ์กล่าว

“จะมีการพูดคุยกับประเทศต้นทางแต่จะต้องเป็นการทำงานแบบรัฐต่อรัฐ เพื่อป้องกันไม่ให้มีนายหน้า แสวงหาผลประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว และขอให้กรมประมงใช้กฎหมายบังคับ เพื่อเสริมการทำงานของแรงงานประมง” อธิบดีกรมการจัดหางานกล่าว

“ขณะที่ในส่วนของการนำแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในไทยนั้น กรมการจัดหางานจะเร่งรัดการนำเข้าให้สอดคล้องกับความต้องการของแรงงาน”

นายอารักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในอนาคตจะมีการออกพระราชกำหนดการนำเข้าแรงงานข้ามชาติ และจะมีการกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ทั้งในเรื่องของการเปลี่ยนนายจ้าง และการจัดการผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติ

ต่อเรื่องนี้ เจ้าหน้าที่รับขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติผู้หนึ่ง ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า ในจังหวัดปัตตานี มีนายจ้างพาแรงงานข้ามชาติมาขึ้นทะเบียนเพียง 6 พันกว่ารายเท่านั้น ซึ่งหากเทียบจากปีก่อน ถือว่ายังน้อยมากเพราะปี 2558 มีแรงงานข้ามชาติที่มาขึ้นทะเบียนทั้งหมด 14,000 คน โดยปัจจุบัน เจ้าหน้าที่พยายามเร่งดำเนินการเพื่อให้สามารถรับลงทะเบียนแรงงานให้ได้มากที่สุด

“ทำทุกวิถีทางเพื่อให้เขาพาลูกจ้างมาขึ้นทะเบียน โฆษณาทุกรูปแบบ รวมทั้งเสาร์-อาทิตย์ลงพื้นที่อีก แต่เขาก็ยังมาไม่มากเท่าที่เคยมา ก็ไม่รู้จะทำยังไง คงต้องทำตามกฎหมาย หากผ่านเวลาที่กำหนด” เจ้าหน้าที่ผู้ขอสงวนชื่อกล่าว

ผู้ที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจจากประเทศเพื่อนบ้านของไทยประมาณสี่ล้านคน ได้เดินทางมาหาโอกาสในการหาเงินทองเพื่อจุนเจือครอบครัว แต่มีจำนวนไม่น้อยที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ทั้งในการใช้แรงงานทาสในทะเล หรือในธุรกิจกลางคืน

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ปี 2558 มีสาวคาราโอเกะ 3 คน ที่เดินทางมาทำงาน ในบาร์คาราโอเกะ ในปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา ได้รับบาดเจ็บจากเหตุระเบิด ซึ่งในเหตุการณ์ครั้งนั้น มีผู้เสียชีวิตสองราย และบาดเจ็บรวม 11 ราย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง