พลเอกประยุทธ์: จับมือระเบิดเพิ่มอีก 7 ราย
2019.08.06
กรุงเทพ และปัตตานี

ในวันนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้า การล่าตัวมือระเบิดเมืองกรุง ช่วงประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ในขณะนี้ เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยไว้เพื่อสอบสวนได้แล้ว รวม 9 คน ในขณะที่ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง กล่าวว่า กลุ่มผู้ต้องสงสัยเป็นเครือข่ายกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ โดยเจ้าหน้าที่กำลังสอบสวนผู้ต้องสงสัยอยู่
ทั้งนี้ หลังจากการวางกล่องใส่วัตถุคล้ายระเบิดที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในวันพฤหัสบดี และเกิดการระเบิดของระเบิดขนาดเล็กหลายจุด ทั้งในกรุงเทพและปริมณฑล เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวชายชาวอำเภอรือเสาะ นราธิวาส 2 คน เพราะเป็นผู้วางกล่องใส่วัตถุคล้ายวัตถุระเบิดข้างต้น โดยได้ตรวจสอบดีเอ็นเอ แต่ยังไม่ได้ตั้งข้อกล่าวหาใดๆ ในชั้นนี้
“วันนี้ ก็ได้สอบหาผู้กระทำความผิดได้จำนวนเพิ่มมากขึ้น ถึงเก้าคนแล้ว ขณะนี้กำลังสืบสานต่อไป เพื่อที่จะเอาผู้กระทำความผิดมาดำเนินการลงโทษตามกฎหมายให้ได้ ด้วยวิธีการของกระบวนการยุติธรรม ทั้งวัตถุพยานและพยานบุคคลต่างๆ เราต้องทำให้รอบคอบ รัฐบาลจะทำเรื่องนี้ใด้ดีที่สุด” พลเอกประยุทธ์ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี
ด้าน ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกรัฐบาล ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่ได้ทำงานประสานบูรณาการ จนสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัย ซึ่งในตอนแรกสามารถจับกุมได้สองคน ภายใน 24 ชั่วโมง และสามารถจับเพิ่มได้อีก 7 คน โดยในขณะนี้ อยู่ระหว่างกระบวนการสอบสวน
พลเอกประยุทธ์ มีกำหนดการเดินทางลงไปยังสามจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อเปิดศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ตึกศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้แห่งใหม่ ซึ่งตั้งอยู่กลางตัวเมืองยะลา รวมทั้ง การกระชับความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวันที่ 11 สิงหาคมนี้ ที่จะเป็นวันฮารีรายอ ของชาวมุสลิม
“เรื่องการลงพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ก็รู้สึกดีใจที่จะได้ลงในวันพรุ่งนี้นะ ที่ยะลาเป็นพื้นที่สำคัญ อันนี้ชาวบ้านก็วิตกกังวลในเรื่องของวันฮารีรายอ วันที่ 11” พลเอกประยุทธ์ กล่าว
นอกจากนั้น คณะนายกรัฐมนตรีจะได้เดินทางไปตรวจดูสถานที่รับซื้อทุเรียน ภายใต้ตามโครงการปิดทองหลังพระ ที่บริเวณตลาดกลางยางพารา จ.ยะลา ขณะที่บริเวณโดยรอบตึกบริหารราชการแห่งใหม่ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และ อส.พร้อมด้วยกำลังภาคประชาชน ไม่ต่ำกว่า 500 นาย คอยดูแลความปลอดภัยสถานที่ และอำนวยความสะดวก ซึ่งในวันนี้ มีการซักซ้อมแผนการต้อนรับคณะนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดความเรียบร้อย
ประวิตรเชื่อเป็นเครือข่ายภาคใต้
ในวันเดียวกันนี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบพยานหลักฐานอยู่ และผู้ลงมือปฏิบัติการเป็นกลุ่มก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้
“ขณะนี้ กำลังตรวจสอบว่าเชื่อมโยงกับใครบ้าง พยานหลักฐานเป็นอย่างไร ขณะนี้ ยังไม่ทราบที่มาของระเบิด เพราะมาจากหลายที่ และมีการเตรียมการกันมาก่อน” พลเอกประวิตร กล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ก่อเหตุเป็นกลุ่มก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ หรือไม่ พลเอกประวิตร ตอบว่า “เป็นเครือข่ายภาคใต้ ขณะนี้เรากำลังตรวจสอบอยู่...”
“คงไม่ขยายพื้นที่ อาจจะมาเป็นงาน ๆ ไป ขอเวลาซักรายละเอียดจากผู้ต้องหาก่อน เชื่อว่าคงมีคนบงการอยู่เบื้องหลัง ถ้าไม่มีจะมาได้อย่างไร” พลเอกประวิตรตอบ และกล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนคนที่บงการจะเป็นกลุ่มการเมืองหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ
ด้าน ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เเสดงความเห็นว่า ผู้ก่อเหตุน่าจะเป็นกลุ่มจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
“ตอนนี้ หลักฐานหลายอย่างก็โยงว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับกลุ่มขบวนการที่เคลื่อนไหว ในพื้นที่สามจังหวัดใต้ แต่ก็ต้องรอสอบสวนก่อนว่า จะมีประเด็นอื่นอีกหรือไม่ ที่ให้น้ำหนักไปทางกลุ่มขบวนการที่เคลื่อนไหวในพื้นที่สามจังหวัดใต้” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวอีกว่า จากข้อมูลพบว่า วันที่ 1 สิงหาคม เป็นวันครบรอบการก่อตั้งกองกำลังติดอาวุธของบีอาร์เอ็น ซึ่งทางขบวนการอาจจะต้องแสดงศักยภาพ และเรียกร้องความสนใจจากรัฐบาลก็ได้
“โดยปกติแล้วช่วงนี้ ในพื้นที่จะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นตลอด ข้อนี้ อาจจะเป็นไปได้ที่บีอาร์เอ็นอาจจะขยายพื้นที่เพื่อเสดงศักยภาพ และขบวนการพูดคุยสันติภาพก็หยุดชะงักลง ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นแรงจูงใจอีกข้อ เพื่อที่จะทำให้ทางรัฐบาลและสังคมให้ความสนใจในประเด็นปัญหาภาคใต้มากขึ้นกว่าเดิม เพราะรัฐบาลเองก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาภาคใต้เท่าที่ควร แต่ก็ไม่ทิ้งประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง” ผศ.ดร.ศรีสมภพ ระบุ
ทั้งนี้ การพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ของผู้แทนรัฐบาลไทยกับฝ่ายมาราปาตานี ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของตัวแทนจากกลุ่มผู้เห็นต่าง กลุ่มต่างๆ รวมทั้งจากบีอาร์เอ็น ที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2558 ได้ชะงักลงในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ส่วนหนึ่งเพราะไม่พอใจพลเอก อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ หัวหน้าทีมพูดคุยฝ่ายไทย ในขณะเดียวกัน มีกลุ่มสมาชิกบีอาร์เอ็นอีกฝ่าย ต้องการให้รัฐบาลไทยเจรจาโดยตรงกับกลุ่มของตน