ชาวบ้านขอนแก่นร้องจังหวัดระงับการก่อตั้งมัสยิด หวาดเหตุรุนแรงแดนใต้ตามมา

มารียัม อัฮหมัด
2017.06.07
ปัตตานี
TH-prayers-1000 ชายมุสลิมทำพิธีสวดที่มัสยิด ช่วงรอมฎอน ในจังหวัดนราธิวาส วันที่ 19 มิถุนายน 2559
เอเอฟพี

ในวันพุธ (7 มิถุนายน 2560) นี้ นายประมวล พิมพ์เสน ประธานสมัชชาชาวพุทธเพื่อความมั่นคงของชาติ จังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานี้ ตนได้นำชาวบ้านในจังหวัดขอนแก่นเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ขอให้งดอนุญาตการก่อตั้งมัสยิดบ้านเลิงเปือย เพราะชาวบ้านมีความกังวลว่าจะนำมาซึ่งเหตุการณ์รุนแรงเช่นเดียวกันที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

นายประมวล กล่าวว่า ตนและชาวบ้านประมาณ 60 คน ได้เดินทางไปยื่นหนังสือกับนายพงษ์ศักดิ์ ปรีชาวิทย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ในตอนเช้าของวันจันทร์ที่ผ่านมานี้ หลังจากชาวบ้านขอนแก่นได้ขอให้ตนเป็นตัวแทนประสานผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อขอแสดงการคัดค้านการสร้างในพื้นที่บ้านเลิงเปือย หมู่ที่ 9 ตำบลพระลับ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเมื่อวานนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้มอบหมายให้ปลัดจังหวัดรับหนังสือ

"เท่าที่คุยกับชาวบ้านเขา มีความกังวลว่าการสร้างมัสยิดจะเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายและเหตุไม่สงบลักษณะเดียวกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” นายประมวล กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์

"ส่วนมัสยิดตอนนี้สร้างเสร็จแล้ว และเขาก็มีกิจกรรมตลอด...ในเบื้องต้น ทางชาวบ้านบอกว่า ทางคณะผู้ว่าจะลงมาคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ แต่จะลงมาวันไหนด้วยวิธีไหนยังไม่ทราบ" นายประมวล กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งของข้อความในหนังสือร้องเรียนระบุว่า “...ชาวพุทธในพื้นที่ และใกล้เคียงมีความเห็นว่า กระแสการก่อการร้ายมีกระจายอยู่ทั่วไป และอยู่ในความรู้สึกของประชน ในลักษณะที่เคยมีมาในอดีต ประชาชนจึงไม่ยินดีให้สร้างและตั้งมัสยิดเพราะเกรงอาจเกิดความไม่สงบในพื้นที่ เช่น สามจังหวัดชายแดนภาคใต้... ฉะนั้น องค์กรชาวพุทธทั้งหลายในจังหวัดขอนแก่น จึงกราบเรียนให้ทราบถึงความประสงค์ตามหลัก “ตัดไฟเสียแต่ต้นลม” จึงขอให้ระงับการก่อสร้างและตั้งมัสยิด โรงเรียนปอเนาะ ไว้ระยะหนึ่งก่อน”

นายอุสมาน ระดิ่งหิน อดีตฝ่ายทะเบียนมัสยิดประจำสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดขอนแก่น กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า เริ่มลงมือก่อสร้างมัสยิดที่บ้านเลิงเปือย เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2557 และมีการขออนุญาตทำการก่อสร้างมัสยิด ณ เลขที่ 64 ม.9 ตำบลพระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น กับทางอำเภอเมือง เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2557 จากนั้นมีการสร้างมัสยิดมาอย่างต่อเนื่อง

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 ทางมัสยิด ดำเนินการขอขึ้นทะเบียนมัสยิดตามกฎหมายต่อเจ้าหน้าที่อำเภอเมือง ซึ่งต่อมาทั้งเจ้าหน้าที่อำเภอและเจ้าหน้าที่จังหวัด ได้คัดกรองคุณสมบัติครบทุกอย่างแล้ว เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2559

“ตั้งแต่นั้นมา ทางเจ้าหน้าที่จังหวัดดองมา 7 เดือนแล้ว แล้วเกิดอะไรขึ้น อยู่ๆ ถึงมีกลุ่มชาวบ้านมาคัดค้านการขอขึ้นทะเบียน ทั้งที่เราดำเนินการมานานแล้ว แถมถูกทางจังหวัดดองทะเบียนเราอีก” นายอุสมาน กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์

จังหวัดขอนแก่นมีจำนวนประชากรโดยรวมประมาณ 1.79 ล้านคน ซึ่งนายอุสมานให้รายละเอียดว่า มีจำนวนประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามทั้งหมดกว่า 3,000 คน

ด้านนายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ตนเองยังไม่มีข้อมูลและคิดว่าข่าวข้างต้นเป็นข่าวปลอม จึงจะขอตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง ส่วนนายพงษ์ศักดิ์ ปรีชาวิทย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นนั้น เบนาร์นิวส์ ไม่สามารถติดต่อเพื่อขอข้อมูลได้

ส่วนนายรักชาติ สุวรรณ ประธานเครือ ข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ชาวไทยพุทธในภาคอื่นๆ เช่น เชียงใหม่ น่าน มุกดาหาร ฯลฯ มีความไม่ยินดีต่อชาวมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้ ส่วนหนึ่งเพราะว่ามีลูกหลานที่เป็นทหารเสียชีวิต ในขณะปฏิบัติหน้าที่ในสามจังหวัดชายแดนใต้

"จากประสบการณ์ ที่ไปคุยที่จังหวัดน่าน พบว่าเขาไม่โอเคกับมุสลิม เพราะลูกหลานเขามาเป็นทหารที่นี่และได้เสียชีวิต ทำให้เขาไม่โอเคกับคนอิสลาม เรากำลังจะขึ้นไปที่ขอนแก่น เพื่อไปคุยกับชาวบ้าน และจะมีการสร้างความเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่” นายรักชาติ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

การเกลียดกลัวชาวมุสลิม (Islamophobia)

ในจำนวนประชากรไทยประมาณ 67 ล้านคน มีผู้นับถือศาสนาอิสลามประมาณ 4 ล้านคน โดยมีชาวไทยมุสลิมหรือชาวมลายูที่นับถืออิสลาม อาศัยในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ประมาณสองล้านคน ซึ่งยังมีประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธและที่มีเชื้อสายจีนอีกจำนวนมาก

แต่นับตั้งแต่การเกิดเหตุรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่ โดยกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบบุกปล้นปืนกองพันพัฒนาที่ 4 ในอำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ได้ปืนไปกว่าสี่ร้อยกระบอก เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 จวบจนถึงปัจจุบัน มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 7,000 ราย บาดเจ็บอีกประมาณ 12,000 ราย ซึ่งมีทั้งชาวพุทธและชาวมุสลิมในอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกันเหตุการณ์ความรุนแรง ได้นำไปสู่การเกลียดกลัวชาวมุสลิม (Islamophobia) ในส่วนอื่นๆ ของประเทศไทย

ทั้งนี้ ชาวไทยมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แย้งว่า สาเหตุของความเกลียดกลัวมาจากความไม่เข้าใจในสถานการณ์ และรายงานข่าวที่มีแต่แง่มุมของความรุนแรง

ในการเสวนาเรื่อง “Islamophobia" (โรคเกลียดกลัวอิสลาม) ในสังคมไทย เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร” ที่มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้จัดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม ปีที่แล้ว นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นลูกชายจุฬาราชมนตรี ได้กล่าวว่า กระแสอิสลามโมโฟเบีย (Islamophobia) ในประเทศไทย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมาจากความไม่เข้าใจของพี่น้องที่อยู่ไกลพื้นที่สามจังหวัด แล้วรับข้อมูลข่าวสารจากสื่ออย่างเดียว

“จริงๆ แล้วปรากฏการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในวันนี้ ไม่สามารถพูดได้อย่างหยาบๆ ว่า เป็นผลมาจากกลุ่มที่ถูกเรียกว่า โจรใต้ หรือผู้ก่อความไม่สงบอีกต่อไป เพราะมีความซับซ้อน คนในพื้นที่เองก็เริ่มเข้าใจสถานการณ์มากขึ้นว่า ปัญหามีความซับซ้อนเกินกว่าเรื่องแยกดินแดน หรือปัญหาพุทธหรือมุสลิม” นายซากีย์ กล่าว

งานเสวนาเกิดขึ้นหลังจากมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งได้ปักป้ายผ้าที่มีข้อความต่อต้านการสร้างมัสยิดกลางประจำจังหวัดมุกดาหาร เลขที่ 100 ถนนเลี่ยงเมือง อ.เมือง จ.มุกดาหาร โดยอ้างอิงถึงการที่ชาวไทยมุสลิมต่อต้านการสร้างพุทธมณฑลในปัตตานี จึงสมควรที่จะต่อต้านการสร้างมัสยิดในมุกดาหาร

นายอุสมาน ยังกล่าวว่า ในส่วนของความคืบหน้าการสร้างมัสยิดในจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งเคยมีการคัดค้านการก่อสร้างจากพี่น้องชาวพุทธในพื้นที่ ขณะนี้ มัสยิดได้สร้างเสร็จแล้วและมีการประกอบพิธีทางศาสนาเป็นปกติทุกวัน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง