พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา พอใจกับผลงานของรัฐบาลในรอบหนึ่งปี

โดย ภิมุข รักขนาม
2015.05.22
TH-oneyear-620 สุเทพ เทือกสุบรรณ ได้รับการต้อนรับจากผู้สนับสนุน ในช่วงการรณรงค์ต่อต้าน อดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อ 31 มีนาคม 2557
เบนาร์นิวส์

หลังจากการรัฐประหารรัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ล่วงเลยผ่านไปจนครบรอบหนึ่งปี ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 นี้ ประเทศไทยยังคงค้นหาหนทางคืนสู่ประชาธิปไตยอย่างเต็มใบอยู่ แต่ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด คือการคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยอีกครั้งนั้น จะต้องเป็นระบอบประธิปไตยที่ยั่งยืน และสามารถขจัดความแตกแยกของสังคม ที่เกิดจากเหตุทางการเมืองให้หมดสิ้นไปด้วย

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ของปี 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้ยึดอำนาจการปกครองจาก อดีตนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้โดยง่ายดายและไม่เสียเลือดเนื้อ ภายหลังที่คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นเลขาธิการ ได้นำมวลมหาประชาชนเดินขบวนขับไล่นางสาวยิ่งลักษณ์เป็นเวลาประมาณครึ่งปี

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มาเล่นการเมืองนอกสภา ได้ให้คำมั่นว่า จะถอนรากถอนโคนนักการเมืองจากตระกูลชินวัตรไปให้สิ้นจากประเทศไทย โดยนับตั้งแต่อดีตนายก พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นพี่ชายของนางสาวยิ่งลักษณ์ ได้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2544 ก็ได้สร้างรากฐานอำนาจทางการเมืองที่เข้มแข็งเรื่อยมา

หลังจากเกิดรัฐประหารได้ไม่นาน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ประกาศโร้ดแมปสามขั้นตอนในการคืนอำนาจให้กับประชาชน โดยเริ่มจากการสร้างปรองดองระหว่างกัน ของผู้ที่มีความขัดแย้งกันในทางการเมืองทุกฝ่าย ขั้นตอนปฎิรูปการเมือง และขั้นตอนสุดท้ายคือการเลือกตั้งครั้งใหม่

แม้ว่า พลเอกประยุทธ์เอง แสดงความไม่มั่นใจต่อสถานการณ์ทางการเมืองว่า จะมีคลื่นใต้น้ำรุนแรงขนาดไหน และจะสามารถกำหนดวันเลือกตั้งได้ตามโร้ดแมปหรือไม่ แต่มีการคาดการว่า รัฐบาลจะจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ได้ในราวๆ ปีครึ่งหลังจากการรัฐประหาร

แต่บททดสอบที่สำคัญของพลเอกประยุทธ์ คือการทำอย่างไรที่จะสามารถลบความแตกแยกทางการเมืองของคนไทยด้วยกัน รวมทั้งการปฏิรูปทางการเมือง และการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา ให้เป็นที่ยอมรับได้ของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนเสื้อเหลือง กลุ่มคนเสื้อแดง หรือกลุ่มที่เป็นกลางก็ตาม

ทั้งนี้ ในระหว่างการเดินขบวนประท้วงของ กปปส. ตั้งแต่ปลายปี 2557 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2558 มีผู้เสียชีวิตจำนวน 28 ราย บาดเจ็บอีกจำนวน 827 ราย โดยมีผู้เสียชีวิตทั้งเด็กและสตรี ส่วนใหญ่เป็นฝีมือของชายชุดดำที่ใช้อาวุธสงครามในการสังหารผู้ประท้วง

พลเอก ประยุทธ์พอใจกับผลงานหนึ่งปีที่ผ่านมา

เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ความแตกต่างทางความคิด ซึ่งเกิดเป็นเวลานานมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปลายปี 56 ถึงต้นปี 57 สถานการณ์ทางการเมืองทำให้เกิดการติดเดดล็อค รัฐบาลบริหารราชการไม่ได้ การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยก็ทำไม่ได้อีก ในการแสดงออกทางการเมือง ต่างฝ่ายต่างก็ใช้อาวุธสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ไม่หวังดี ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ควบคุมไม่ได้ มีผู้บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก จึงเกิดคสช. เข้ามาควบคุมสถานการณ์ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้น ได้ประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร พร้อมทั้งจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.)

ต่อมา พลเอก ประยุทธ์ เรียกประชุมผู้แทนรัฐบาล จากพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ นปช. และ กปปส. วุฒิสภาคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่สโมสรทหารบก เพื่อหาข้อสรุปในการก้าวผ่านวิกฤตการณ์ทางการเมือง แต่ไม่อาจหาข้อสรุปได้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และผู้บัญชาการเหล่าทัพ จึงประกาศกระทำรัฐประหารในที่ประชุม และควบคุมตัวผู้เข้าร่วมประชุม ยกเว้นตัวแทนวุฒิสภา และคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยนำตัวไปยัง กองบัญชาการของ คสช. ที่ใช้ในขณะนั้น และเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พลเอก ประยุทธ ตัดสินใจประกาศรัฐประหาร ในขณะมีการประชุม หลังจากที่นักการเมืองที่เข้าร่วมประชุมหารือ แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาความแตกต่างทางการเมืองได้

อดีตนายกฯ ทักษิณ เปิดเกมตำหนิ

ในระหว่างการเดินทางไปร่วมการประชุมนานาชาติ ที่ประเทศเกาหลีใต้ ได้มีการอัดวีดีโอคลิป อดีตนายกทักษิณ ชินวัตร ที่มีเนื้อหากล่าวหาว่า องคมนตรีอยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร

และได้มีการนำมาเผยแพร่ทางเฟซบุ๊ค โดยมีเนื้อหาว่า

“คือที่ประเทศไทยนี่เป็นอะไรที่ (เซ็นเซ่อร์).. ตราบใดที่เขายังปล่อยให้ทำงาน เราก็ยังมีอำนาจ แต่ถ้าเมื่อไหร่ไม่ปล่อยให้ทำงานเราก็ไม่มีอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกองคมนตรีทั้งหลาย.. เที่ยวนี้.. ทหารเนี่ย ก็จะฟังทางองคมนตรี เพราะตอนที่เขาไม่ต้องการให้เราอยู่ เขาให้สุเทพออกมา และมีทหารเข้าไปช่วย และก็มีพวกบางคนมาจากในวังมาช่วย ซึ่งก็เป็นพาเลซเซอร์เคิ้ล.. เป็นเซอร์เคิ้ล.. ซึ่งก็เลยทำให้ตอนนั้นเราไม่มีอำนาจอะไร ผมเลยคุยกับนายกปูว่า เหตุการณ์เหมือนที่พี่โดนมาทุกอย่าง...”

“ซึ่งทหารเขาอาจจะชื่นชอบประชาธิปไตยแบบพม่า ที่พม่าเลิกแล้ว อาจจะชอบอย่างนั้นก็ได้  เราไม่รู้...”

“ผมก็ยังตำหนิเขาไป เขาก็ยังอายุน้อย เขาคงโกรธ ที่มีการปฏิวัติแบบนี้ เขาก็คงโกรธว่า ประเทศไทยมาดีๆ แล้ว.. ก็เลย บอกว่า บอกแพ้ ก็เลย คงโกรธ ผมก็ตำหนิไป อย่าไป (ไม่ชัดเจน).. เราเหมือนกับเป็นครอบครัวสาธารณะ คือ จะพูดอะไรต้องระมัดระวัง”

ในเรื่องนี้พระสุเทพ ปภากโร กล่าวว่า ในขณะนั้น ตนเป็นผู้ตัดสินใจออกมาเดินขบวนขับไล่นางสาวยิ่งลักษณ์เอง ไม่ได้มีบุคคลใดอยู่เบื้องหลังตามที่ พ.ต.ท. ทักษิณกล่าวหาแต่อย่างใด

ปลดล็อคร่างรัฐธรรมนูญ

ส่วนหนึ่งของการเดินตามโร้ดแมป คือการตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช. ) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขึ้นมา โดย สนช. จะเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาแทนรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 อย่างไรก็ตาม ยังมีเนื้อหาบางประการในร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2558 ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่  อาทิเช่น ที่มาของนายกรัฐมนตรี ที่มาของวุฒิสมาชิก หรือว่าผู้สมัครลงรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องสังกัดพรรคการเมืองหรือไม่ หรือว่าแค่สังกัดกลุ่มการเมือง ก็สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ เป็นต้น

ในเรื่องนี้ ทั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มีพลเอกประยุทธ์ เป็นหัวหน้า และคณะรัฐมนตรีของท่านพลเอกประยุทธ์เองต่างได้เห็นชอบที่จะให้มีการลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ประกอบด้วย 315 มาตรา โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบในการประชุมในวันที่ 19 ที่ผ่านมา

ด็อกเตอร์ปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้กล่าวต่อเบนาร์นิวส์ในวันศุกร์นี้ว่า กระบวนการลงประชามติจะทำให้การเลือกตั้งถูกเลื่อนให้ล่าช้าออกไปอีกจากกำหนดการคร่าวๆ ที่วางไว้ในโร้ดแมป และต้องมีการพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญกว่าสี่สิบล้านฉบับเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั่วประเทศ

ด็อกเตอร์ปณิธาน กล่าวว่า มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยต่อการทำประชามติ ซึ่งอาจจะมีบางกลุ่มตั้งข้อสงสัยว่ารัฐบาลอาจจะจงใจยึดอานาจไว้ในมือตนให้นานที่สุด

“มีบางกลุ่มเข้าใจถึงการต้องมีการลงประชามติ แต่ยังมีบางกลุ่มไม่เข้าใจ ทั้งนี้ ขอให้เข้าใจว่ารัฐบาล หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ไม่มีเจตนาที่จะอยู่ในอำนาจเกินกว่าที่กล่าวไว้ในโร้ดแมปแต่อย่างใด” ด็อกเตอร์ปณิธาน กล่าว

“และผู้ลงประชามติต้องเข้าใจว่า เป็นการลงประชามติในเรื่องของเนื้อหาสาระในร่างรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ 315 มาตรา ซึ่งบางท่านต้องการให้ลงประชามติทั้งหมด แต่บางท่านเห็นว่าควรลงประชามติ เฉพาะเรื่องที่ละเอียดอ่อน มีความเห็นแตกต่างกันเท่านั้น” ด็อกเตอร์ปณิธาน กล่าว

ในเรื่องว่าจะการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้มีการลงประชามติหรือไม่ ทางเบนาร์นิวส์ได้พยายามติดต่อทางโทรศัพท์ไปยังอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายจาตุรนต์ ฉายแสง เพื่อถามความเห็น แต่ไม่สามารถติดต่อได้

ฮิวแมนไรท์วอทช์แถลงการณ์ แสดงความกังวล

ฮิวแมนไรท์วอทช์ ออกแถลงการณ์กล่าวถึง สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ในวาระครบหนึ่งปีรัฐประหาร ว่าปัญหายังมีอีกมาก นับแต่การเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปอีก การเซ็นเซอร์สื่อ และไม่มีเสรีภาพในการแสดงออก หรือการดำเนินกิจกรรมต่างๆ นำตัวผู้แสดงความเห็นหรือวิพากษ์รัฐบาลไปขึ้นศาลทหาร รวมทั้งนำมาตรา 44 มาใช้ ซึ่งเป็นการให้อำนาจทันที และเข้มกว่ากฎอัยการศึก ซึ่งไม่มีกลไกการตรวจสอบ และเรื่องการคุมตัวคนไปสอบสวนอย่างลับๆ อาจถูกทรมาน หรือสูญหาย

นักศึกษาถูกจับกุม ในการจัดกิจกรรมครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร

เมื่อเย็นวันศุกร์ กลุ่มนักศึกษา และประชาชนจำนวนหนึ่ง ได้รวมตัวจัดกิจกรรม ในวาระครบ 1 ปี รัฐประหาร ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตรึงกำลังเข้ม ก่อนจะพยายามล้อมจับนักศีกษา บริเวณด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จำนวนประมาณ 32 คน และนำตัวไปยังห้องสอบสวน สน.ปทุมวัน เจ้าของเฟซบุ๊ค ในชื่อ “กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย” ได้โพสต์รูปภาพ ของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขณะถูกจับ ยังไม่มีรายงานคืบหน้าว่าถูกแจ้งข้อหาใด ล่าสุด นักศึกษาที่ถูกจับเผยแพร่คลิปวิดีโอจากภายในสถานีตำรวจระบุว่าถูกทำร้าย นอกจากนี้ยังมีรายงานด้วยว่ามีผู้เดินทางมาสมทบที่ สน.ปทุมวันเพิ่มมากขึ้น

นักวิชาการ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และเอ็นจีโอหลายฝ่าย ได้ออกแถลงการณ์ และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัว นักศึกษา และผู้ดำเนินกิจกรรมอย่างสงบ ในวาระครบ 1 ปีรัฐประหาร ที่ประเทศไทย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง