ยูเอ็นโอดีซี: อาชญากรรมข้ามชาติพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในภูมิภาคเอเชีย
2019.07.18
กรุงเทพฯ

สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) กล่าวในรายงานที่เผยแพร่ในวันพฤหัสบดีนี้ว่า องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติที่ค้ายาเสพติด สินค้าปลอม และค้ามนุษย์ สามารถทำเงินได้สูงเป็นประวัติการณ์และเป็นระดับที่อันตรายต่อสังคม
ยูเอ็นโอดีซี ได้ทำการศึกษาเรื่อง “อาชญากรรมข้ามชาติในเอเชียอาคเนย์: วิวัฒนาการ การเติบโต และผลกระทบ” เป็นเวลาห้าปี ถือว่าเป็นการศึกษาโดยหน่วยงานขององค์กรสหประชาชาติ ที่มีความครอบคลุมสมบูรณ์มากที่สุด
รายงานพบว่า ยาเสพติดแบบสังเคราะห์ชนิดใหม่ ที่คิดค้นขึ้นเพื่อขยายตลาดเพิ่มเติม นอกเหนือไปจากยาบ้าให้เป็นโมเดลธุรกิจมืด เป็นสินค้าที่สร้างผลกำไรให้กับองค์กรอาชญากรรมในภูมิภาคนี้ได้มากที่สุด ซึ่งมีมูลค่าราวปีละ 61,400 ล้านดอลล่าร์ ในขณะที่ตลาดเฮโรอีนมีมูลค่าลดลงเหลือราว 10,300 ล้านดอลล่าร์ต่อปี
รายงานยังยืนยันว่า ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในภูมิภาค เป็นตัวสร้างอุปสงค์และอุปทานในเรื่องแรงงาน แรงขับเคลื่อนให้เกิดการค้ามนุษย์ และการลักลอบนำพามนุษย์คนต่างด้าวที่ต้องการหาโอกาสเพื่อชีวิตที่ดีกว่า
นอกจากนั้น สินค้าปลอมชนิดต่าง เช่น บุหรี่ อะไหล่รถ กระเป๋าถือ ไปจนถึงเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ มีมูลค่าถึงราว 39,500 ล้านดอลล่าร์ต่อปี ในขณะที่ยาปลอมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ที่กำลังระบาดอย่างแพร่หลาย มีมูลค่าราว 2,600 ล้านดอลล่าร์ต่อปี
“กลุ่มอาชญากรข้ามชาติทำเงินได้หลายหมื่นล้านดอลล่าร์ในเอเชียอาคเนย์จากการค้ามนุษย์ข้ามชายแดน การลักลอบค้ายาเสพติด สารตั้งต้นในการทำยาเสพติด บุคคล สัตว์/ของจากป่า ไม้ซุง และสินค้าปลอม” นายเจเรมี ดักลาส ยูเอ็นโอดีซี กล่าว
“ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ประสบปัญหาเรื่องอาชญากรรมระดับองค์กร ซึ่งถึงเวลาแล้วที่ต้องรวมตัวกันหา ระบุถึงสภาวะที่ทำให้ธุรกิจมืดเติบโต และต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาตามแนวชายแดน” นายเจเรมี กล่าวเพิ่มเติม
ด้าน พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง อดีตวุฒิสมาชิกและรองนายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความเป็นกังวลต่อปัญหานี้
“สถานการณ์องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง ขบวนการเหล่านี้ฉกฉวยโอกาสที่บางประเทศมีปัญหาในการโต้ตอบ เราพร้อมที่จะรับบทบาทเป็นผู้นำและทำงานร่วมกับยูเอ็นโอดีซี และพาร์ทเน่อร์นานาชาติ ในการสร้างความสามารถในการตอบโต้และจัดการกับปัญหาข้ามชาติ” พลอากาศเอกประจินกล่าว
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ระบุว่าประเทศไทย ตั้งอยู่ท่ามกลางประเทศต้นทางผลิตยาเสพติด เช่น ลาว เมียนมา ซึ่งส่งยาผ่านทางประเทศไทยไปยังประเทศมาเลเซีย ก่อนกระจายสินค้าไปทั่วโลก เช่นเดียวกันกับเรื่องแรงงานต่าวด้าว ที่มีแรงงานจากเมียนมา หรือโรฮิงญา และมุ่งหน้าไปมาเลเซียเช่นกัน
ในวันต่อต้านยาเสพติดโลก 26 มิถุนายน นี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า รัฐบาลกำหนดให้การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระเร่งด่วน ในขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดพิธีเผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลางกว่า 30 ตัน มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท
ในเรื่องการค้ามนุษย์ เรื่องราวของชาวโรฮิงญา เป็นข่าวดังไปทั่วโลก ในเดือนพฤษภาคม 2558 เมื่อได้มีการค้นพบศพกว่า 30 ศพ ที่บริเวณเขาแก้ว ในอำเภอปาดังเบซาร์ สงขลา ซึ่งเชื่อว่าเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาและชาวบังกลาเทศ ที่ถูกขบวนการค้ามนุษย์นำพามา โดยมีจุดหมายปลายทางที่มาเลเซีย
จากนั้นได้มีการเปิดโปงขบวนการค้ามนุษย์ที่มีทั้งนายหน้าต่างชาติ เช่น ชาวโรฮิงญา พม่า รวมทั้ง เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน และนักการเมืองท้องถิ่นไทยร่วมด้วย ซึ่งศาลอาญาได้ตัดสินจำคุกจำเลยสำคัญๆ เช่น พลโทมนัส คงแป้น และจำเลยอีก 61 คน ในปี 2560
ในเดือนมิถุนายน กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2562 (TIP report 2019) โดยยังคงอันดับประเทศไทยในอันดับ 2 หรือ Tier 2 โดยข้อความในรายงานฯ ระบุว่า เนื่องจากว่า “รัฐบาลไทย ยังไม่ได้ระดับมาตรฐานในการขจัดการค้ามนุษย์ แต่ได้มีความพยายามอย่างมีนัยสำคัญ รัฐบาลได้แสดงให้เห็นถึงการเพิ่มความพยายามมากขึ้นเมื่อเทียบเทียบช่วงเวลาของรายงานครั้งก่อน ดังนั้น ประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับเทียร์สอง”