คณะพูดคุยเพื่อสันติสุข เตรียมคุยกับบีอาร์เอ็นอีกรอบ ในเดือนมีนาคม
2020.01.31
กรุงเทพฯ และ ปัตตานี

พลเอก วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ แถลงข่าวในวันศุกร์นี้ว่า ทางคณะพูดคุยฯ คาดว่าจะเจรจากับฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็นอีกครั้ง หลังจากที่ได้พบปะกันอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อสองสัปดาห์ก่อน โดยย้ำว่าทางคณะฯ ต้องการคุยกับกลุ่มที่มีอิทธิพลในพื้นที่มากที่สุดก่อน ขณะที่โฆษกของมาราปาตานี คู่เจรจาเดิมของไทย กล่าวว่า การที่มาราปาตานีจะขอร่วมเจรจาด้วยหรือไม่นั้น ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสมาชิกมาราปาตานีที่มาจากกลุ่มทางบีอาร์เอ็น
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 มกราคม นี้ คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ได้พบปะกับแกนนำของขบวนการบีอาร์เอ็น หรือ แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายู โดยตรง อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก ในกัวลาลัมเปอร์ โดยการเตรียมการของนายอับดุล ราฮิม โมฮัมหมัด นูร์ อำนวยความสะดวกของรัฐบาลมาเลเซีย ซึ่งพลเอกวัลลภ ได้พบปะพูดคุยร่วมกับคณะผู้แทนของบีอาร์เอ็น นำโดย อันนาส อับดุลเราะห์มาน (Mr. Anas Abdulrahman) ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย และกล่าวว่า สองฝ่ายได้สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและความคุ้นเคยกัน เพื่อให้มีความเชื่อมั่นในกระบวนการในการพูดคุยต่อไป ซึ่งก่อนหน้านี้ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2558 ฝ่ายไทยได้เจรจากับฝ่ายมาราปาตานี ซึ่งเป็นองค์กรร่มของฝ่ายขบวนการหลายกลุ่ม
“คิดว่าประมาณต้นเดือนมีนาคมนะครับ” พลเอกวัลลภ กล่าวถึงการเจรจารอบหน้า โดยระบุถึงคู่เจรจาว่า เป็นบีอาร์เอ็น เพราะต้องการเจรจากับกลุ่มที่มีอิทธิพลสูงสุดในพื้นที่”
“เบื้องต้น เราจะพูดคุยกับบีอาร์เอ็นสองฝ่าย... เวลาที่เราทำงานจริง ๆ เราอยากเริ่มต้นกับกลุ่มที่มีอิทธิพลมากที่สุดก่อน และต่อไปก็อาจจะรวมถึงกลุ่มอื่น ๆ ด้วย” พลเอกวัลลภ กล่าวเพิ่มเติม
เมื่อช่วงค่ำวันศุกร์นี้ นายอับดุล ราฮิม นูร์ ผู้อำนวยความสะดวกชาวมาเลเซีย ได้กล่าวยืนยันกับเบนาร์นิวส์ ถึงการพูดคุยฯที่จะมีขึ้น
“ใช่ เป็นเรื่องจริง จะมีการพูดคุยฯ ระหว่างรัฐบาลไทยและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนจังหวัดชายแดนใต้ ในเดือนมีนาคมนี้ ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์” นายราฮิม นูร์ กล่าว
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญสถานการณ์สามจังหวัดชายแดนใต้ ตั้งข้อสังเกตว่า มาราปาตานี อาจจะไม่มีอิทธิพลควบคุมกองกำลังฝ่ายปฏิบัติการในพื้นที่ได้จริง ซึ่งทางฝ่ายไทยได้ร้องขอให้ นาย อับดุล ราฮิม โมฮัมหมัด นูร์ อำนวยความสะดวกของรัฐบาลมาเลเซีย ช่วยติดตามแกนนำหัวรุนแรงของบีอาร์เอ็นมาร่วมโต๊ะเจรจา
แม้ว่า พลเอกพัลลภ ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวอย่างชัดเจนว่า การเจรจาคราวหน้าจะเป็นการเจรจากับบีอาร์เอ็นก็ตาม แต่พลเอกวัลลภเชื่อว่า บีอาร์เอ็นและมาราปาตานี จะพูดคุยกัน เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายร่วมเจรจาทั้งคู่ก็ได้ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย กล่าวว่า ในมาราปาตานี มีตัวแทนจากกลุ่มบีอาร์เอ็นอยู่ด้วย เช่น นายอาวัง ญาบะ หัวหน้าคณะพูดคุยของมาราปาตานี นายสุกรี ฮารี อดีตหัวหน้าชุดเจรจา และนายอาหมัด ชูโว
“ตอนนี้เราเริ่มคุยกับบีอาร์เอ็น แต่คิดว่า ทางฝ่ายเขาก็คงมีการประสานงานซึ่งกันและกัน ที่จะเชิญกลุ่มอื่นๆ เข้ามาพูดคุยด้วย ซึ่งอันนี้ก็เป็นเรื่องภายในของเขา” พลเอกพัลลภ กล่าว
พลเอกวัลลภ กล่าวอีกว่า ในการพบปะกันรอบแรก สองฝ่าย ได้ยอมรับเรื่อง peace dialogue process framework (กรอบกระบวนการหรือแนวทาง) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องของงานธุรการต่างๆ ที่จะเป็นการอำนวยความสะดวกในการพูดคุยต่อไป และคราวหน้า จะเป็นการหยิบยกข้อเสนออะไรต่างๆ ที่แต่ละฝ่ายจะเสนอเข้ามา ซึ่งต้องคอยติดตามอีกครั้งหนึ่งว่า จะมีข้อเสนออะไรบ้าง
โฆษกมาราปาตานี: ให้สมาชิกบีอาร์เอ็นฯ ในมาราปาตานี คุยกับบีอาร์เอ็นเอง
ในวันนี้ นายอาบู ฮาฟิซ อัล-ฮาคิม ได้ตอบคำถามเบนาร์นิวร์ ที่ว่า มาราปาตานีจะร่วมการเจรจาพร้อมกับบีอาร์เอ็นหรือไม่ โดยกล่าวว่า ตนได้ฝากภาระไว้ที่สมาชิกมาราปาตานี ที่มาจากกลุ่มบีอาร์เอ็น
"ขณะนี้ มาราปาตานีกำลังประสานกันอยู่ ซึ่งในมาราปาตานี ก็มีตัวแทนของบีอาร์เอ็นอยู่ ยังไม่ลงตัว ให้เขาคุยกันเอง เป็นเรื่องภายใน" นายอาบู ฮาฟิซ กล่าว
นับตั้งแต่ฝ่ายขบวนการก่อความไม่สงบ ปล้นอาวุธสงครามไปกว่าสี่ร้อยกระบอก จากค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 เป็นต้นมา ได้เกิดเหตุการณ์ยิง-ระเบิด ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 7,000 ราย
ทั้งนี้ ในปี 2556 สมัยที่นางสาวยิ่งลักษณ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ฝ่ายไทยได้ริเริ่มการเจรจากับฝ่ายบีอาร์เอ็น ที่มีนายฮัซซัน ตอยิบ เป็นแกนนำ แต่ล้มเหลวในปลายปีเดียวกัน จากนั้น ในเดือนสิงหาคม 2558 ในสมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ฝ่ายขบวนการฯ ต่างๆ ได้ตั้งองค์กรร่ม ที่ชื่อว่า “มาราปาตานี” ขึ้นมาเจรจากับฝ่ายไทย แต่ได้สะดุดลงอีกครั้งในต้นปี 2562 ซึ่งจริงๆ แล้วในมาราปาตานี ก็มีที่มีตัวแทนฝ่ายการเมืองของบีอาร์เอ็น รวมอยู่ด้วยเช่นกัน แต่ฝ่ายบีอาร์เอ็นบางกลุ่ม ได้เรียกร้องให้ฝ่ายไทยเจรจากับบีอาร์เอ็นโดยตรง
หลังจากพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น นำโดย นายอันนาส อับดุลเราะห์มาน เมื่อสองสัปดาห์ก่อน พลเอกวัลลภ ตอบคำถามผู้สื่อข่าว ต่อ ความมั่นใจว่ากลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มบีอาร์เอ็นหรือไม่ ว่า “ในที่ประชุม เขาก็แนะนำว่าเขาเป็นผู้นำหัวหน้าคณะพูดคุยกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่มาพูดคุยในครั้งนี้ เพราะฉะนั้นการที่เขาแนะนำตัวเองอย่างนี้ และจากมาเลเซีย เราก็มีความค่อนข้างมั่นใจว่าเขาเป็นตัวแทนบีอาร์เอ็นที่มาพูดคุยกับฝ่ายเรา”
พลเอกวัลลภ ยังกล่าวตอบคำถามผู้สื่อข่าวอีกว่า ในการเจรจาครั้งนี้ จะมีผู้เชี่ยวชาญร่วมสังเกตการณ์เป็นครั้งแรกอีกด้วย ซึ่งคู่เจรจาสองฝ่ายเห็นชอบ
“ขอเรียนนิดนึงว่า experts ที่สอบถามนี่ เขามาในนามบุคคลนะครับ ไม่ได้มาในนามขององค์กรหรือภาครัฐ ซึ่งเขาก็มีความเชี่ยวชาญในเรื่องกระบวนการสันติภาพ เพราะฉะนั้น การที่เขาเข้ามา บทบาทหนึ่งก็จะทำให้เกิดความเชื่อมั่น ความไว้วางใจในกระบวนการพูดคุยนะครับ” พลเอกวัลลภกล่าว และระบุว่า จะเป็นผู้สังเกตการณ์ในเฉพาะคราวนี้เท่านั้น และอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้