การพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้ ยังคงอยู่ในขั้นที่หนึ่ง

นาซือเราะ
2016.02.29
ปัตตานี
TH-peacetalk-1000 วีดีโอคลิปของนายอาวัง ยะบะ ประธานมาราปาตานี ที่นำมาเสนอในการสัมมนาเนื่องในวันครบรอบสามปีการลงนามในการเจรจาเพื่อสันติภาพ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2559
เบนาร์นิวส์

นับเวลาร่วมสามปีแล้ว ที่รัฐบาลไทยพยายามเริ่มกระบวนการการเจรจาสันติภาพอย่างเป็นทางการกับกลุ่มผู้เห็นต่าง ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งสองฝ่ายยังคงอยู่ในระยะของ "การสร้างความไว้วางใจ"

โดยกำหนดกระบวนการพูดคุยไว้เป็นสามระยะ คือ หนึ่ง การสร้างความไว้วางใจ (มกราคม-ธันวาคม 2558) สอง การบรรลุสัตยาบรรณเพื่อร่วมการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี (มกราคม-มิถุนายน 2559 ) และ สาม การเขียนและปฏิบัติตามโร้ดแม็ป เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้น (กรกฎาคม 2559 – ธันวาคม 2560) ซึ่งปัจจุบัน ยังคงอยู่ในขั้นตอนที่หนึ่ง

ทั้งนี้ พลโทนักรบ บุญบัวทอง เลขานุการ คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขชายแดนภาคใต้ ได้กล่าวในพฤหัสบดีที่ผ่านมา ว่าการพูดคุยที่ผ่านมาหนึ่งปีสองเดือน ยังล่าช้ากว่าแผนการที่กำหนดไว้ ที่มีสามขั้นตอน โดยมีการกำหนดว่า จะดำเนินการระยะที่สองให้เสร็จสิ้นในเดือนมิถุนายนปี 2559 นี้

“ขณะนี้ หนึ่งปีกับอีกสองเดือนแล้ว ยังไปไม่ถึงไหน จริงๆ ผมเรียนว่ายังอยู่ในขั้น 1.3 อยู่เลย ผมเรียนอย่างนี้ว่าในขั้นตอนแต่ละขั้น บางทีมันไม่ง่ายโดยเฉพาะขั้นตอนแรกเรื่อง confidence building” พล.ท.นักรบ กล่าว

อย่างไรก็ดี พลโทนักรบ ไม่ได้กล่าวว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถจะบรรลุการให้สัตยาบรรณเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี ที่ควรเสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายนนี้  ซึ่งจะปูทางไปสู่ระยะที่สาม ในการเขียนและปฏิบัติตามโร้ดแม็ป เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้น

หลังจากเกิดเหตุการณ์รุนแรง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ความพยายามในการยุติความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยสันติวิธี ก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ภายใต้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติของฝ่ายไทย คือ พลโทภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และนายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น ได้เซ็นสัญญาร่วมกันเพื่อให้มีการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มขบวนการ ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย หากแต่ความพยายามนั้นได้หยุดชะงักไป

และเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว รัฐบาลทหารและผู้แทนของกลุ่มผู้เห็นต่าง ได้มีการเริ่มต้นการพูดคุยอีกครั้งอย่างเป็นทางการ

จากนั้น ขบวนการต่างๆ เช่น บีอาร์เอ็น พูโลกลุ่มย่อยบางกลุ่ม และจีเอ็มไอพี เป็นต้น ได้รวมตัวกันเป็นองค์กรมาราปาตานี ซึ่งเป็นองค์กรร่มในการเจรจา โดยมีนายอาวัง ยะบะ หนึ่งในแกนนำบีอาร์เอ็น เป็นประธานมาราปาตานี และเปิดตัวต่อสาธารณชนเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ปี 2558 หลังจากพูดคุยกับทางคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขของไทยที่มี พลเอกอักษรา เกิดผลเป็นหัวหน้าคณะ ในสองวันก่อนหน้านั้น

สันติภาพ 'สามารถที่จะบรรลุผลได้':  ผู้เจรจาฝ่ายผู้เห็นต่าง

ข้อตกลงในการเจรจาสันติสุขนั้น จะมีจุดมุ่งหมายเพื่อยุติสถานการณ์ความรุนแรง ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีผู้ตกเป็นเหยื่อและเสียชีวิตมากกว่า 6,000 คน แล้ว ตั้งแต่มกราคมปี 2547 เป็นต้นมา ซึ่งในวันเสาร์ที่ 27 ก.พ. ที่ผ่านมา ก็ได้เกิดเหตุระเบิดคาร์บอมบ์นอกสถานีตำรวจ ในจังหวัดปัตตานี ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อยเจ็ดคน สำนักข่าวเอเอฟพี รายงาน

และวันต่อมา อาทิตย์ที่ 28 ก.พ. ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ร่วมกับคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้จัดให้มีการประชุมสัมมนางานวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้ ปาตานี ครั้งที่ 3 และสมัชชาสันติภาพ 2559 มีผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน

พล.ต.ชินวัฒน์ แม้นเดช ผู้อำนวยการศูนย์สันติสุข กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวแก่ที่ประชุมสัมมนาว่า เหตุการณ์รุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้อาจจะจบลงในปี 2560 ถ้ารัฐคุมสถานการณ์รุนแรงได้ และคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขกับมาราปาตานี สามารถบรรลุข้อตกลงในการแก้ไขปัญหาร่วมกันได้

“หน่วยงานความมั่นคงยอมรับการพูดคุย ไม่เคยปฏิเสธ เพราะเป็นแนวทางสากล คุมพื้นที่ได้ ป้องกันเหตุได้ ปี 2560 เหตุการณ์ในภาคใต้ ได้บรรลุข้อตกลง อาจจบลง” พล.ต.ชินวัฒน์ กล่าวในที่ประชุม

ประธานมาราปาตานีอ่านแถลงการณ์ วันครบรอบสามปีการลงนามในการเจรจาสันติภาพ

และในงานสัมมนานี้ ซึ่งเป็นวันครบรอบสามปีการลงนามในข้อตกลงการเจรจาสันติภาพ นายอาวัง ยะบะ ได้กล่าวในวีดีโอคลิปที่ถูกนำมาเปิดในที่ประชุม มีความยาวกว่า 18 นาที ว่า กระบวนการเจรจาสันติภาพที่มีอย่างเป็นทางการ ในสมัยนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์สามครั้ง ได้สะดุดลง เพราะความเกลียดชังกันของทั้งสองฝ่าย และการที่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ประสบปัญหาทางการเมือง แต่ทางกลุ่มผู้เห็นต่างได้ตกลงเจรจากับรัฐบาลไทยอีกครั้ง เพราะทางรัฐบาลได้แสดงความจริงจังในเรื่องนี้ แต่ได้เรียกร้องให้รัฐยอมรับว่ามาราปาตานี (ไทยเรียกว่าปาร์ตี้บี) เป็นตัวแทนของประชาชนปาตานีทั้งหมดในการเจรจากับรัฐบาลไทย ในฐานะที่เป็นองค์กรทางการเมืองของประชาชนปัตตานี เพื่อเผชิญหน้ากับรัฐบาลไทย (ปาร์ตี้เอ) ในกระบวนการสันติภาพ

“ดังนั้น การยอมรับอย่างเป็นทางการโดยรัฐบาลไทยต่อมาราปาตานี จึงเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่จำเป็นเพื่อขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพให้ก้าวต่อไป เช่นนี้แล้ว ไม่ว่าจะชอบใจหรือไม่ก็ตาม มาราตานีก็จะเป็นทั้งศัตรูและมิตรของรัฐบาลไทยบนโต๊ะพุดคุยในเวลาเดียวกัน” นายอาวังกล่าว

นายอาวังกล่าวว่า ทางมาราปาตานีและฝ่ายรัฐบาลไทยได้เจรจากันในทางลับในสองระดับ คือ ระดับคณะกรรมการทางเทคนิกและระดับตัดสินใจของมาราปาตานี

ในการพูดคุยระหว่างมาราปาตานีกับคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขครั้งแรกในวันที่ 25 สิงหาคม 2559  ในประเทศมาเลเซีย ทางมาราปาตานี ได้ยื่นข้อเสนอต่อทางรัฐบาลไทยสามเรื่อง คือ การกำหนดให้การพูดคุยเพื่อสันติสุขเป็นวาระแห่งชาติ การยอมรับสถานะของมาราปาตานี และ การให้ความคุ้มครองทางกฎหมายแก่ผู้เข้าร่วมการพูดคุยของฝ่ายตน ส่วนทางรัฐบาลไทยได้ขอให้มาราปาตานีให้เห็นด้วย ในเรื่องการจัดตั้งเขตปลอดภัยเพื่อการนำร่องในกระบวนการสันติภาพ การพัฒนาในพื้นที่ปลอดภัยเพื่อยกคุณภาพชีวิต และการให้ความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย

นายอาวัง กล่าวว่าทางการไทยได้ยอมรับข้อเสนอของทางมาราปาตานีแล้วหนึ่งข้อ ยังเหลืออีกสองข้อ และได้กล่าวต่อข้อเสนอการจัดตั้งเขตปลอดภัยว่า เป็นเรื่องคณะกรรมการทางเทคนิกของมาราปาตานีจะพิจารณาต่อไป

“เราได้ทราบว่า ประชาชนในพื้นที่ก็ได้เรียกร้องการจัดตั้งเขตพื้นที่ปลอดภัยแล้ว เราก็ได้ยินข่าวสารถึงความพยายามของกองทัพภาคที่ 4 ในการกำหนดให้พื้นที่อำเภอบาเจาะและอำเภอเจาะไอร้องเป็นเขตพื้นที่ปลอดภัย การจัดตั้งเขตพื้นที่ความปลอดภัยภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่สามารถประกาศได้ฝ่ายเดียวดังเช่นที่เราได้รับฟังมา” นายอาวัง กล่าว

“เขตพื้นที่ปลอดภัยสามารถจัดตั้งขึ้นได้ภายหลังที่ทั้งสองฝ่ายต่างตกลงกันในเชิงแนวคิดแล้วเท่านั้น” นายอาวัง กล่าวเพิ่มเติม

“การสถาปนาสันติภาพที่ปัตตานีนั้น ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ สันติภาพสามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง และจากความเสียสละจากทั้งสองฝ่าย โดยยอมรับความล้มเหลวและความผิดพลาดจากการพูดคุยและเจรจาเพื่อสันติภาพในอดีต” นายอาวัง กล่าว

ไม่ควรมีฝ่ายใดเป็นผู้ชนะเพียงฝ่ายเดียว

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวว่า การประชุมสัมมนาในวันนี้ เพื่อเป็นการเปิดมุมมองจากประสบการณ์และบทเรียนของผู้ที่ทำงานสื่อสารในการรายงานข่าวที่เกี่ยวกับการพัฒนาของกระบวนการสันติภาพในช่วงปีที่ผ่านมา

“อยากเห็นการพูดคุยสันติภาพเดินหน้าไปได้ ข้อเสนอของทั้งสองฝ่ายต้องมีความสมดุล ถ้าจะมีการต่อรอง ไม่ควรให้เป็นไปในลักษณะที่ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะและฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแพ้ แต่ละฝ่ายต้องยอมรับ ยอมเสียบ้าง เพื่อแลกกับสิ่งที่จะได้มา ไม่ควรจะเป็นการบีบเพื่อให้ฝ่ายหนึ่งยอมแพ้ เพราะจะนำไปสู่ความรุนแรงอีก” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง