ประชาชน-แนวร่วมแบ่งแยกดินแดนใต้ จับตามองการพูดคุยสันติสุข

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2016.04.26
ปัตตานี
TH-peacetalk-1000 เจ้าหน้าที่ตรวจสถานที่เกิดเหตุระเบิดรถยนต์ เจ้าหน้าที่อาสาสมัคร ประจำอำเภอตากใบ บริเวณ ตำบลเจ๊ะเห วันที่ 21 เม.ย.2559
เบนาร์นิวส์

ในวันอังคาร (26 เม.ย. 2559) นี้ ประชาชน แนวร่วมฝ่ายแบ่งแยกดินแดน และภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่างติดตามข่าวสารการพูดคุยสันติสุข ระหว่างคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขกับองค์กรมาราปาตานี ที่เป็นองค์กรร่วมในการเจรจาของฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ ที่ประเทศมาเลเซีย ที่อาจจะมีขึ้นในวันพุธ (27 เมษายน 2559) นี้

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวว่า ในเบื้องต้น ยืนยันว่าทั้งสองฝ่าย ยังมีการกำหนดที่จะพูดคุยเจรจาในวันพุธ (27 เม.ย. 2559) ตามกำหนดการเดิม

“เท่าที่ทราบยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ที่จะเลื่อนการพูดคุย” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวพร้อมกับแสดงความเห็นถึงการที่มีการปรับตัวพลโทนักรบ บุญบัวทอง เลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข ออกจากชุดเจรจาว่า ยังไม่แน่ใจว่าจะมีผลกระทบหรือไม่

“ในเรื่องของ TOR ที่วางไว้ ในส่วนรายละเอียดของ TOR เดิมที่ร่างไว้ จะมีการเปลี่ยนแปลงจากคณะพูดคุยฝ่ายรัฐ ก่อนเข้าที่ประชุมหรือไม่ ยังไม่มีรายละเอียด และถ้ามีการเปลี่ยนแปลง ฝ่ายมาราฯ จะรับได้หรือไม่ก็ต้องรับฟังข้อมูล หลังจากการร่วมประชุมพูดคุย” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ด้านนายอับดุลลา อดีตแกนนำบีอาร์เอ็นในพื้นที่ปัตตานี กล่าวว่า บีอาร์เอ็น ซึ่งมีแกนนำสามรายอยู่ในมาราปาตานี ที่ประกอบด้วยขบวนการบีไอพีพี ขบวนการจีเอ็มไอพี กลุ่มย่อยของขบวนการพูโล ต้องการให้มีการเจรจา เพราะมองว่าปัญหาที่จะจบลงได้ต้องมีการพูดคุยเจรจาของทั้งสองฝ่าย

อย่างไรก็ตาม นายอับดุลลา ได้กล่าวว่า บีอาร์เอ็น มีความจริงใจในการเจรจา แต่รัฐบาลต้องเชื่อมั่นในบีอาร์เอ็นด้วย เพราะในห้วงที่ผ่านมานี้ มีการก่อเหตุรุนแรงขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งในขณะที่บีอาร์เอ็น สามารถควบคุมกองกำลังในพื้นที่ได้ แต่ในพื้นที่ ยังมีกองกำลังกลุ่มอื่นๆ นอกเหนือจากบีอาร์เอ็น ที่สามารถก่อเหตุการณ์รุนแรงได้อีกเช่นกัน

“ในส่วนของบีอาร์เอ็น มั่นใจว่าคุมกองกำลังของบีอาร์เอ็น ในพื้นที่ได้ แต่ปัญหาของที่นี่ ไม่ได้มีกลุ่มเดียวแน่นอน จึงมีการสร้างสถานการณ์ขึ้น เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือ ทำให้รัฐต้องใช้ความอดทน ยับยั้งการละเมิดประชาชน มั่นใจว่าสงครามที่นี่จะยุติได้” นายดับดุลลา กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายอับดุลลา ไม่ได้กล่าวถึงการที่สำนักสารนิเทศของบีอาร์เอ็น ได้ออกมาปฏิเสธการยอมรับการเจรจาของมาราปาตานีกับรัฐบาลไทยถึงสองครั้ง ว่าจะมีผลต่อการยอมรับต่อข้อตกลงในการเจรจาใดๆ หรือไม่

ด้านนายอิสมะแอ (นามสมมุติ) แนวร่วมในพื้นที่จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญของความสำเร็จในการเจรจา คือ การที่รัฐต้องมีความจริงใจ และสามารถประสานผลประโยชน์กับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลได้อย่างลงตัว

“ทุกประเทศที่มีสงครามจบลงด้วยการพูดคุย จะทำให้ปัญหายุติ ข้อขัดแย้งของเรา รัฐมีความจริงใจจริงจังแค่ไหน ขบวนการทุกกลุ่มที่ร่วมสร้างความรุนแรงในภาคใต้ ประโยชน์ลงตัวหรือยัง” นายอิสมะแอ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

นางแรคอ (สงวนนามสกุล) ชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า หลังจากที่ตนได้ทราบว่าจะมีการพูดคุยเจรจาระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มตัวแทนของขบวนการ ก็ดีใจมาก และอยากให้คุยแล้วสามารถยุติปัญหาให้ได้เร็วๆ เพราะในตอนนี้ ไม่มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับชาวบ้านแล้ว

“ทุกคนไม่ว่าคนไทยพุทธหรืออิสลามต่างได้รับความเจ็บปวดที่เหมือนกัน” นางแรคอ กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง