รองนายกฯ ยืนยันมีการพูดคุยสันติสุข ไทย-มาราปาตานี วันที่ 2 กันยายนนี้

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และ นาซือเราะ
2016.08.30
กรุงเทพฯ และ ปัตตานี
TH-bombing-800 เจ้าหน้าที่ตรวจจุดระเบิดหนึ่งในสองแห่ง ย่านโรงแรมเซาท์เทิร์นวิว ในปัตตานี ในวันรุ่งขึ้นหลังเกิดเหตุเมื่อคืนวันที่ 23 ส.ค. 2559
นาซือเราะ/เบนาร์นิวส์

รองนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ยืนยันต่อสื่อมวลชนว่า การพูดคุยสันติสุขระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มมาราปาตานีจะมีขึ้นในวันที่ 2 กันยายน 2559 นี้อย่างแน่นอน โดยจะมีการคุยเรื่องการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย และทางการมาเลเซียจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุย

หลังจากพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เดินทางกลับมาถึงประเทศไทยในวันจันทร์ที่ผ่านมา พลเอกประวิตร ได้กล่าวยืนยันต่อสื่อมวลชนว่า การพูดคุยสันติสุขระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มมาราปาตานียังจะมีขึ้นตามกำหนดการเดิมในวันที่ 2 กันยายนนี้

“การพูดคุยสันติสุข เดี๋ยวค่อยว่ากันอีกทีวันที่ 2 กันยายนนี้” รองนายกรัฐมนตรีกล่าวสั้นๆ ต่อสื่อมวลชน

ส่วนในวันอังคารนี้ พล.อ.ทวีป เนตรนิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เปิดเผยต่อสื่อมวลชนถึงการพูดคุยสันติสุขโดยยืนยันว่า การพูดคุยจะจัดขึ้นในวันที่ 2 กันยายน 2559 ตามกำหนดการเดิม

“ไม่ได้เลื่อน ทุกอย่างก็เป็นไปตามกำหนดเดิม พลเอกอักษรา ก็ได้กราบเรียนท่านนายกรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว ทางมาเลเซียในเรื่องของการพูดคุยเขาเป็นแค่ผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุย ฉะนั้นหลักๆ ก็คือทางเรากับทางผู้เห็นต่างตกลงกันว่า เราจะคุยกันเมื่อไหร่อย่างไร” พล.อ.ทวีป กล่าว

“ท่านอักษราได้เตรียมตัวแล้ว ก็เดี๋ยวลองดูว่าไปคุยกัน ผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร (การกำหนดพื้นที่ปลอดภัย) เป็นเรื่องนึงที่เราต้องคุยกัน เดี๋ยววันที่ 2 คุยกัน ก็คงจะทราบ เราต้องมั่นใจว่าผู้ที่เราคุยด้วยเป็นผู้แทนของทุกส่วนเข้ามา ฉะนั้นการพูดคุยก็จะได้ผล” พล.อ.ทวีปเพิ่มเติม

การพูดคุยสันติสุขที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 2 กันยายน 2559 นี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ พลเอกอักษรา เกิดผล เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทย โดยการพูดคุยสันติสุขระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มมาราปาตานีหยุดชะงักไปกว่า 3 เดือน

นับตั้งแต่การพูดคุยเต็มคณะอย่างไม่เป็นทางการครั้งล่าสุด เกิดขึ้นในวันที่ 27 เมษายน 2559 เพราะตัวแทนฝ่ายไทยยังไม่ยอมลงนามในกรอบการพูดคุยสันติสุข (ทีโออาร์) กับฝ่ายมาราปาตานี ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐบาลไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้

แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีรายงานว่าคณะทำงานของทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบในทีโออาร์ร่วมกันในเบื้องต้นแล้ว จึงได้มีการนัดพูดคุยอีกครั้งในวันที่ 2 กันยายนนี้ แต่หลังจากเกิดเหตุระเบิดใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน และคาร์บอมบ์ที่โรงแรมเซาท์เทิร์นวิวใน จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ที่ผ่านมา หลายฝ่ายจึงคาดการณ์ว่าการพูดคุยอาจถูกเลื่อนออกไป

นับถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 3 ปีที่รัฐบาลไทยพยายามเริ่มกระบวนการการเจรจาสันติภาพอย่างเป็นทางการกับกลุ่มผู้เห็นต่าง ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบ และความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งตามกำหนดกระบวนการพูดคุยได้แบ่งไว้เป็นสามระยะ คือ หนึ่ง การสร้างความไว้วางใจ (มกราคม-ธันวาคม 2558) สอง การบรรลุสัตยาบรรณเพื่อร่วมการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี (มกราคม-มิถุนายน 2559 ) และ สาม การเขียนและปฏิบัติตามโรดแมป เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้น (กรกฎาคม 2559 – ธันวาคม 2560)

ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์รุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ในวันที่ 4 มกราคม 2547 มีความพยายามที่จะยุติความรุนแรงในรูปแบบต่างๆเกิดขึ้น แต่การดำเนินการในแนวทางสันติวิธีเริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ภายใต้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติของฝ่ายไทยโดย พลโทภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการ สมช. และนายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น ได้เซ็นสัญญาร่วมกันเพื่อให้มีการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มขบวนการ ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย หากแต่ความพยายามดังกล่าวนั้นได้หยุดชะงักไป

เตรียมตั้งรัฐบาลส่วนหน้า

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า เตรียมจัดตั้งรัฐบาลส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้เพื่อแก้ปัญหาความมั่นคง

โดย พล.อ.ประวิตรระบุว่า การจัดตั้งรัฐบาลส่วนหน้าพื้นที่ภาคใต้อยู่ระหว่างดำเนินการปรับโครงสร้าง โดยรูปแบบเป็นคณะทำงานชุดเล็กประมาณ 10 คน เพื่อให้การทำงานรวดเร็ว แต่ยังระบุไม่ได้ว่ามีใครบ้าง เนื่องจากต้องจัดทำโครงสร้างให้แล้วเสร็จก่อน โดยคณะทำงานจะเป็นบุคคลที่มาจากรัฐบาลโดยตรง และอาจจะมีพลเรือนร่วมด้วย แต่จะไม่มีข้าราชการ

รักษาความปลอดภัยเข้มรับวันชาติมาเลเซีย

เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่าได้เพิ่มความเข้มงวดในการรักษาความปลอดภัย ในวันที่ 31 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันชาติของประเทศมาเลเซีย และวันครบรอบการสถาปนาองค์กรเบอร์ซาตู (Bersatu - the United Front for the Independence of Pattani) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของขบวนการแบ่งแยกดินแดนขบวนการต่างๆ ในสามจังหวัดชายแดนใต้ เนื่องจากมีรายงานว่า อาจมีการเคลื่อนไหวก่อความไม่สงบ

เจ้าหน้าที่ข่าวกรองด้านความมั่นคงรายหนึ่งระบุว่า หน่วยความมั่นคงเตรียมความพร้อมรับมือเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นในวันที่  31 สิงหาคมนี้แล้ว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง