พลเอกประวิตร: การพูดคุยเพื่อสันติสุขมีขึ้นในวันศุกร์นี้

นาซือเราะ
2016.09.01
ปัตตานี
TH-peacetalk-marching-1000 สมาชิกขององค์กรผู้หญิงภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ 23 องค์กร กว่าร้อยคนเดินรณรงค์ ที่อำเภอเมือง ปัตตานี ให้มีการพูดคุยเรื่องพื้นที่สาธารณะปลอดภัย ในเวทีพูดคุยสันติสุขของคณะพูดคุยฝ่ายไทยกับมาราปาตานี ภาพเมื่อ 1 กันยายน พ.ศ. 2559
เบนาร์นิวส์

พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกล่าวในวันพฤหัสบดี (1 กันยายน 2559) นี้ว่า

การพูดคุยเพื่อสันติสุขของทางฝ่ายไทย และมาราปาตานี จะมีขึ้นตามกำหนดเดิมในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ในวันศุกร์ (2 กันยายน 2559) นี้ แต่จะยังไม่มีการเซ็นข้อตกลงใดๆ

การเจรจาระหว่างฝ่ายไทยและฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้เริ่มขึ้นในสมัยรัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใน พ.ศ. 2556 โดยมีการเจรจาเต็มคณะสองครั้ง ก่อนสะดุดลงเมื่อนางสาวยิ่งลักษณ์หมดอำนาจ

หลังจากนั้น รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการรื้อการเจรจา โดยฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ประกอบด้วยสมาชิกขบวนการบีอาร์เอ็นบางราย ขบวนการบีเอ็มพีพี ขบวนการจีเอ็มไอพี และบางกลุ่มย่อยของขบวนการพูโล ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มมาราปาตานีขึ้นมา เพื่อการเจรจากับรัฐบาลไทย และเปิดตัวเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558

ต่อมา การเจรจาสะดุดลงในเดือนเมษายนนี้ เพราะทางการไทยไม่เห็นชอบกับทีโออาร์ ซึ่งเป็นเหมือนเงื่อนไขในการปฏิบัติในระหว่างการพูดคุย และการที่มาราปาตานี ไม่ช่วยสร้างพื้นที่ปลอดภัยและไม่สามารถช่วยลดความรุนแรงลงได้

จากนั้นมีเหตุระเบิดใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน และที่โรงแรมเซาท์เทิร์นปัตตานีเมื่อเดือนสิงหาคม จนเป็นที่คาดการณ์กันว่า อาจจะมีการยกเลิกการพูดคุยสันติสุข

“ไม่ยกเลิกครับ แต่เราพยายามบอกว่า ต้องพยายามไม่ให้เกิดเหตุให้ได้ก่อน แล้วถึงจะมีความก้าวหน้า จะไปลงนามในการดำเนินการอะไรต่อไปที่จะให้เกิดความชัดเจน แต่การพูดคุยยังคงพูดคุยกัน.. ยังไม่มีลงนาม ไม่มีทีโออาร์” พลเอกประวิตร กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวในวันนี้ หลังจากที่มีคำถามถึงการพูดคุยว่าจะมีขึ้นหรือไม่

“ก็พยายามจะให้เขาร่วมมือ (ลดเหตุรุนแรง) เพราะมีหลายฝ่ายด้วยกัน” พลเอกประวิตรกล่าวถึงความพยายามที่จะให้ขบวนการต่างๆ ช่วยลดเหตุรุนแรงลงให้ได้ แต่มีอุปสรรคที่มีขบวนการต่างๆ หลายกลุ่มเกี่ยวข้อง

ต่อคำถามของผู้สื่อข่าวที่ว่า มีสมาชิกขบวนการข้ามชายแดนเข้าออกในการก่อเหตุรุนแรง พลเอกประวิตร กล่าวว่า จะมีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการปรับเปลี่ยนเรื่องคนสองสัญชาติ

“ทางนายกฯ เขามาจะมาลงนามปัญหาของเรื่องของคนสองสัญชาติ ดูว่าจะทำยังไงให้เกิดความชัดเจน จะเลือกเอาอันไหน ก็ให้เลือกเอาอันใดอันหนึ่ง แต่ยังไม่รู้ในรายละเอียด

แหล่งข่าวจากมาเลเซียรายหนึ่งกล่าวว่า การพูดคุยในวันศุกร์นี้ มีตัวแทน 7 ขบวนการเข้าร่วมพูดคุย คือ 1. นายอาวัง ยะบะ ผู้แทนจากกลุ่มบีอาร์เอ็น เป็นประธานกลุ่มมาราปาตานี 2. นายสุกรี ฮารี ผู้แทนจากกลุ่มบีอาร์เอ็น เป็นหัวหน้าคณะเจรจาของกลุ่มมาราปาตานี 3. นายหะยีอาหะมัด ชูโว ผู้แทนจากกลุ่มบีอาร์เอ็น 4. นายอาบูฮาฟิส อัลฮากิม ผู้แทนจากกลุ่ม บีไอพีพี (BIPP) 5. นายอาบู ยาซีม ผู้แทนจากกลุ่มจีเอ็มไอพี (GMIP) 6. พ.อ. กัสตูรี มาห์โกตา ผู้แทนจากกลุ่มพูโล เอ็มเคพี และ 7. นายอาบูอัครัม บินฮาซัน ผู้แทนจากกลุ่มพูโล ดีเอสพีพี

ทั้งนี้ นายอาบูฮาฟิส อัลฮากิม ได้กล่าวยืนยันแก่ผู้สื่อข่าวเบนาร์นิวส์ในมาเลเซียว่า จะมีการพูดคุยตามกำหนดเดิมเช่นกัน แต่ไม่สามารถระบุสถานที่ชัดเจนได้ว่าเป็นที่ใดในกรุงกัวลาลัมเปอร์

ส่วนฝ่ายไทย มี พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข และพล.ต.ชินวัฒน์ แม้นเดช รองแม่ทัพภาคที่ 4 เดินทางเข้าร่วมพูดคุยพร้อมด้วยสมาชิกคนอื่นๆ ตามข้อมูลที่เบนาร์นิวส์ได้รับทราบจากแหล่งข่าวฝ่ายความมั่นคงในภาคใต้

องค์กรหญิงชายแดนใต้เรียกร้องเขตปลอดภัย

นับตั้งแต่การก่อเหตุรุนแรงระลอกใหม่เมื่อ พ.ศ. 2547 มีผู้เสียชีวิตทั้งไทยพุทธ ไทยมุสลิม อาชีพ และเพศวัย รวมกันแล้วกว่า 6,500 ราย

“ตลอดเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่มีผู้เสียชีวิตและที่ได้รับบาดเจ็บ ที่เป็นหญิงหม้ายเกือบ 4,000 คน และมีเด็กกำพร้ามากกว่า 7,000 คน คือเหตุผลที่ต้องออกมาเรียกร้องขอพื้นที่ปลอดภัย ขึ้นบนโต๊ะพูดคุยเพื่อความสงบสุขของพี่น้องผู้บริสุทธิ์ในพื้นที่” นางรอชิดะห์ ปูซู ประธานเครือข่ายผู้หญิงแสวงหาสันติภาพสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ซึ่งในวันนี้ นางละม้าย มานะการ ผู้ประสานคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ ได้ร่วมกับองค์กรผู้หญิงภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 23 องค์กร รวมกำลังกันกว่า 100 คน ร่วมเดินรณรงค์พร้อมถือป้ายผ้าแสดงเจตนารมณ์ในเรื่องขอพื้นที่สาธารณะปลอดภัย ที่อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ให้มีการพูดคุยในเวทีพูดคุยสันติสุข ในวันที่ 2 กันยายนนี้

“เราต้องการให้พื้นที่สาธารณะ ถนน ตลาด วัด มัสยิด และโรงเรียนเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับประชาชนผู้บริสุทธิ์” นางละม้ายกล่าวแก่เบนาร์นิวส์

นางละม้าย กล่าวอีกว่า เราได้ยื่นข้อเสนอให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในการเจรจาสันติสุขรวม 3 ข้อ คือ 1. เราขอสนับสนุนการพูดคุยระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายที่จะมีขึ้นเชื่อมั่นในการแก้ปัญหาด้วยแนวทางสันติวิธี 2. ขอให้ทั้ง 2 ฝ่ายที่พูดคุยได้นำข้อเสนอเรื่องพื้นที่สาธารณะปลอดภัย เป็นวาระสำคัญในการพูดคุยที่จะถึงนี้ และ 3. ขอเน้นย้ำว่า พื้นที่สาธารณะไม่ว่าจะเป็นตลาด ถนนหนทาง โรงเรียน และศาสนสถาน รวมถึงพื้นที่สาธารณะอื่นๆ เป็นพื้นที่ที่ผู้หญิง และพลเรือนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องต่อการสู้รบ ใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน และเป็นพื้นที่ทีมีคุณค่า และมีความหมายอย่างยิ่งต่อชีวิต อัตลักษณ์ และจิตวิญญาณของผู้หญิง ที่ครอบคลุมต่อผู้หญิงทุกวัย ทุกศาสนา ทุกภาษา และทุกชาติพันธุ์ในพื้นที่

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง