กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ชี้แจงเหตุผลในการพูดคุยเพื่อสันติสุข
2015.09.22

พันเอกบรรพต พูลเพียร ได้ออกมาชี้แจงในวันนี้ (22 ก.ย. 2558) ถึงเหตุผลในการเจรจาและความตั้งใจของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข ที่มีพลเอกอักษรา เกิดผล เป็นหัวหน้าคณะ กับฝ่ายมาราปาตานี (MARA Patani) ที่เป็นองค์กรร่วมเพื่อการเจรจาของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในสามจังหวัดชายแดนใต้
โดย พ.อ. บรรพต โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้กล่าวอ้างอิงถึงคำชี้แจงของ พล.อ. อักษรา เกิดผล ว่าทางการไทยได้ใช้วิธีการทางทหารอย่างเต็มรูปแบบ และใช้งานมวลชนในการแก้ไขปัญหามานานนับสิบปี แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ
“ทั้งนี้ สาเหตุเป็นเพราะกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงยังคงมีขีดความสามารถ และยังดำรงความเป็นฝ่ายริเริ่มในการปฏิบัติการก่อเหตุในทุกโอกาส และบีบบังคับให้เจ้าหน้าที่ต้องกลับมาเป็นฝ่ายรับ และสร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์” พ.อ. บรรพต อ้างถึงคำกล่าวในการประชุม กอ.รมน. ของพลเอกอักษรา เมื่อไม่นานมานี้
คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้เริ่มต้นติดต่อพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ให้เข้ามาร่วมบนโต๊ะพูดคุยโดยให้เหตุผลว่าความรุนแรงจะไม่เกิดประโยชน์ต่อฝ่ายใด
นับตั้งแต่กลุ่มมาราปาตานีได้เจรจานอกรอบกับคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขเป็นครั้งที่สามในรอบปี ในประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม และได้เปิดตัวต่อสื่อมวลชนในวันที่ 27 สิงหาคม จนถึงวันที่ 22 กันยายนนี้ ได้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ ทั้งเหตุยิง วางระเบิด การปะทะด้วยอาวุธ และการก่อกวนอื่นๆ รวม 29 ครั้ง ในจำนวนนี้ มีเหตุแขวนป้ายผ้าต่อต้านรัฐบาลไทย 9 จุด มีประชาชนและกำลังพลเสียชีวิต 9 ราย ได้รับบาดเจ็บ 35 ราย ตามข้อมูลศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน ศูนย์ปฏิบัติการร่วมทางยุทธวิธี กอ.รมน. 4 ส่วนหน้า
มาราปาตานี ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า MARA Patani (Majlis Syura Patani) เป็นชื่อขององค์กรร่วม ที่กลุ่มบีอาร์เอ็นดำริก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นแกนกลางในการเจรจากับทางการไทย ซึ่งดาโต๊ะ ซัมซามิน (Dato Sri Ahmad Zamzamin Hashim) สำนักงานเลขานุการของคณะทำงานร่วมกระบวนการพูดคุยสันติสุข (Joint Working Group—Peace Dialogue Process, JWG-PDP) ของมาเลเซีย ได้เป็นประธานประสานการประชุมของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐบาลไทยหกกลุ่ม จนกระทั่งทั้งหกกลุ่มได้เห็นด้วยและรับรองกลุ่มมาราปาตานี ในวันที่ 5 เดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา
สำหรับผู้แทนกลุ่มมาราปาตานีที่ได้เปิดตัวในวันที่ 27 สิงหาคม ประกอบด้วย นายอาวัง ญาบัต ผู้แทนจากกลุ่มบีอาร์เอ็น เป็นประธานกลุ่มมาราปาตานี นายสุกรี ฮารี ผู้แทนจากกลุ่มบีอาร์เอ็น เป็นหัวหน้าคณะเจรจาของกลุ่มมาราปาตานี นายหะยีอาหะมัด ชูโว ผู้แทนจากกลุ่มบีอาร์เอ็น นายอาบูฮาฟิส อัลฮากิม ผู้แทนจากกลุ่ม บีไอพีพี (BIPP) นายอาบู ยาซีม ผู้แทนจากกลุ่มจีเอ็มไอพี (GMIP) ดร. ฮาเร็ม มุกตาร์ ผู้แทนจากกลุ่มพูโล เอ็มเคพี และนายอาบูอัครัม บินฮาซัน ผู้แทนจากกลุ่มพูโลดีเอสพีพี
พลเอกอักษราได้กล่าวไว้ ในเอกสารที่ทาง พันเอกบรรพตเผยแพร่ในวันนี้ว่า รัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยฝ่ายเดียวมาตลอด จนถึงบัดนี้ ได้มีกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐได้เข้ามาร่วมมือกับรัฐในการช่วยกันแก้ไขปัญหา โดยมีภาคประชาชนจับตามอง และให้การสนับสนุน แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ยังมีคนคิดแบบเก่า ไม่เชื่อมั่นในกระบวนการพูดคุย ยังคิดว่าเป็นการยกระดับองค์กรเพื่อนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายในปัจจุบัน เพราะมีภาคประชาชนคอยสังเกตตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา
“เพียงแต่ในขั้นตอนแรกคณะพูดคุยฯ จำเป็นต้องสร้างความไว้วางใจและความร่วมมือกับกลุ่มผู้เห็นต่างฯ ให้เกิดขึ้นก่อน และความร่วมมือดังกล่าวจะส่งผลให้ความรุนแรงในพื้นที่ลดลงมาโดยลำดับ” พลเอกอักษรากล่าว
โดยความก้าวหน้าล่าสุด คณะพูดคุยเพื่อสันติสุข สามารถสร้างความเห็นชอบร่วมกันกับผู้อำนวยความสะดวก (ประเทศมาเลเซีย) และกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ในการจัดตั้งคณะทำงานด้านเทคนิคร่วม ซึ่งประกอบด้วยทุกฝ่าย ทั้งคณะพูดคุยของรัฐบาลไทย มาราปาตานี และผู้อำนวยความสะดวก รวมทั้ง ในอนาคตอาจมีภาคประชาชนเข้าร่วมด้วย เพื่อกำหนดรายละเอียดในการทำงานร่วมกันให้เกิดความสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืนต่อไป
ในการพูดคุยครั้งล่าสุด มาราปาตานีได้ยื่นเรียกร้องสามข้อ คือ การยกระดับการพูดคุยเป็นวาระแห่งชาติ การยอมรับมาราปาตานี และการขอความคุ้มครองทางกฏหมายให้กับคณะเจรจามาราปาตานีทั้ง 15 คน ซึ่งบางคนยังมีหมายจับอยู่ ในขณะที่ฝ่ายไทยมีข้อเสนอสามข้อเช่นกัน คือให้มีการเปิดพื้นที่ปลอดภัย ให้มีการพัฒนาท้องถิ่นตามที่ประชาชนต้องการ และให้มีการสร้างความยุติธรรมให้กับทุกฝ่าย
พลเอกอักษรา ได้อธิบายถึงความสอดคล้องของข้อเสนอของทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะการขอสิทธิคุ้มครองทางกฎหมาย (Immunity) ก็เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมที่ทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงได้ที่เป็นหนึ่งในข้อเสนอของฝ่ายไทยนั่นเอง
พลโทนักรบ บุญบัวทอง เลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข ได้กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการมาเพื่อพิจารณาการให้สิทธิคุ้มครองทางกฎหมาย ซึ่งต้องพิจารณาร่วมกันของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานต่างๆ