มาราปาตานี-ไทย เริ่มการพูดคุยที่ประเทศมาเลเซียอีกครั้ง

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2016.10.26
กัวลาลัมเปอร์ และ กรุงเทพฯ
TH-family-1000 ญาติของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุระเบิด นั่งเฝ้ารอด้วยอาการโศกเศร้าที่โรงพยาบาลปัตตานี จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2559
เอเอฟพี

นายอาบู ฮาฟิซ อัลฮากิม โฆษกกลุ่มมาราปาตานี กล่าวในวันพุธว่า ผู้แทนของฝ่ายมาราปาตานีและไทยชุดใหญ่ได้พบปะกัน ในปุตราจายา มาเลเซีย ในวันอังคารที่ผ่านมา ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้มีความเห็นพ้องกันให้คณะอนุกรรมการทางเทคนิคของทั้งสองฝ่ายเริ่มการพูดคุยอีกสามวัน เรื่องเขตปลอดภัยในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากวันพุธนี้เป็นต้นไป ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

“เราเห็นพ้องกันว่า จะเริ่มเจรจาเรื่องพื้นที่ปลอดภัย โดยเริ่มต้นตั้งแต่วันพุธนี้ เป็นเวลาสามวัน ซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อใจระหว่างกัน” อาบู ฮาฟิซ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ส่วนคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข ยังไม่ได้ให้รายละเอียดถึงการเจรจาดังกล่าว ทีเพียงพันเอกปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการ รักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ที่กล่าวเพียงว่า ทางการไทยมีการพูดคุยกับทางมาราปาตานีมาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ได้ระบุถึงการพูดคุยนอกรอบที่กำลังดำเนินอยู่ในครั้งนี้อย่างชัดเจน

"จริงๆ แล้ว ขณะนี้ เรามีนโยบายเรื่องของการดูแลชีวิตของพี่น้องประชาชนให้มีคุณภาพที่ดี เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความพร้อมของการพูดคุยในพื้นที่" พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

การพูดคุยเรื่องพื้นที่ปลอดภัยของฝ่ายไทยและมาราปาตานี ซึ่งเป็นการรวมตัวของขบวนการแบ่งแยกดินแดนกลุ่มต่างๆ เช่น บีอาร์เอ็น บีไอพีพี จีเอ็มไอพี และกลุ่มย่อยของขบวนการพูโล ในขณะนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางข่าวการระเบิดที่ตลาดโต้รุ่ง กลางเมือง ในปัตตานี เมื่อวันจันทร์ที่ 24 ต.ค.ผ่านมา ซึ่งมีผู้เสียชีวิตสามราย บาดเจ็บกว่า 20 ราย ซึ่งในจำนวนนั้นมีเด็กบาดเจ็บสาหัสหลายราย บางรายต้องตัดขา และสูญเสียดวงตา

ในเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในระหว่างการแถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 25 ต.ค.59 ว่า ทางฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบต้องการแสดงศักยภาพการก่อเหตุรุนแรง เพื่อเพิ่มอำนาจการเจรจา

“เป็นการสร้างศักยภาพของฝ่ายเขา ฉะนั้นผมก็ไม่อยากให้เราให้ความสำคัญเรื่องข่าวมากนัก ให้เป็นเรื่องของการเสนอข้อเท็จจริงไป รัฐบาลและหน่วยข่าวต่างๆ ก็จะพยายามทำงานอย่างเต็มที่ให้เกิดความสงบเรียบร้อยโดยเร็วที่สุดในทุกมาตรการ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

“ตราบใดที่ยังมีฝ่ายจ้องจะกระทำอยู่ มันก็อาจจะมีเหตุเกิดขึ้น ซึ่งเราก็พยายามทำอย่างเต็มที่ จะเห็นได้ว่าคนเหล่านี้ไม่ได้ปรากฏกายอย่างชัดเจน แต่จะอยู่ปะปนกับประชาชน ซึ่งขณะนี้หลายๆ อย่างก็ดีขึ้น แต่เรื่องตรงนี้ก็มีผลกระทบที่อาจจะมาจากเรื่องการพูดคุย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม

อาบู ฮาฟิซ กล่าวเพิ่มเติม นายอาวัง ยะบะ ประธานของมาราปาตานี ไม่ได้ร่วมประชุมเมื่อวันอังคารนี้ แต่มีนายสุกรี ฮารี หัวหน้าคณะเจรจาของมาราปาตานี เข้าร่วมประชุม

เมื่อถามว่า จะเจรจากันได้อย่างไรในขณะที่เหตุรุนแรงเกิดขึ้นบ่อยมาก และว่าทางมาราปาตานี สามารถควบคุมกองกำลังในพื้นที่ได้หรือไม่ นายสุกรี ได้ปฏิเสธที่ตอบคำถาม และกล่าวว่าขอให้รอการพูดคุยเรื่องนี้เสร็จสิ้นลงก่อนในวันศุกร์นี้

ด้าน ผู้แทนของกลุ่มพูโล เอ็มเคพี หนึ่งในผู้แทนกลุ่มมาราปาตานี ที่ไม่สามารถไปร่วมการพูดคุยได้ในสัปดาห์นี้ ที่ประเทศมาเลเซียให้ความเห็นว่าทั้งสองฝ่ายมีความมุ่งมั่นมาก

"สิ่งที่เรารู้ก็คือว่าทั้งสองฝ่ายมีความมุ่งมั่นมาก ในเรื่องการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถหาข้อตกลงกันได้ในการพูดคุยสองวันนี้ในกัวลาร์ลัมเปอร์" พ.อ.กัสตูรี มาห์โกตา ผู้แทนของกลุ่มพูโล เอ็มเคพี หนึ่งในผู้นำกลุ่มผู้เห็นต่าง ภายใต้กลุ่มมาราปาตานี บอกเบนาร์นิวส์ในวันพุธ

ความเห็นของคนชายแดนใต้ต่อการพูดคุยเพื่อสันติสุข

ทางด้านนายภาณุ อุทัยรัตน์ คณะทำงานคณะรัฐมนตรีส่วนหน้า และอดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้จัดเวทีการพูดคุยในพื้นที่ร่วมกับผู้นำศาสนา นักศึกษา และกลุ่มชาวบ้าน รวมกว่า 15 เวที ซึ่งผู้ร่วมสัมมนามีความเห็นร่วมกัน 4 ประการ

"ได้ข้อตกลงร่วมกัน 4 ข้อ คือทุกกลุ่มมีความเห็นตรงกันว่าการเจรจาสันติสุขคือทางออกของการแก้ปัญหา ผู้แทนที่ไปพูดคุยต้องมีหัวใจที่เป็นไทยมีเป้าหมายของการสร้างสันติสุขอย่างแท้จริงโดยไม่มีเป้าหมายแบ่งแยกดินแดน" นายภาณุ กล่าวแก่ผู่สื่อข่าว

“ขณะเดียวกัน ต้องนำเสนอความเป็นไปได้เรื่องของข้อเสนอที่ทั้งสองฝ่ายรับได้ เช่น การปล่อยนักโทษและเขตปกครองพิเศษ และอยากให้คณะพูดคุยนำความต้องการของชาวบ้าน คือการต่อต้านความรุนแรง และสนับสนุนการอยู่ร่วมกันแบบสังคมพหุวัฒนธรรมไปสู่การพูดคุย” นายภาณุ กล่าวเพิ่มเติม

การเจรจาเพื่อสันติในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เริ่มขึ้นในปี 2556 สมัยนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตั้งแต่นั้นมาจนถึงรัฐบาลปัจจุบัน ได้มีการเจรจาเป็นทางการสามครั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน ศกนี้

ล่าสุดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอ ในจังหวัดสงขลา หลังจากรัฐบาลไทยได้มีความพยายามเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติสุขรอบใหม่อย่างเป็นทางการอีกครั้ง เมื่อต้นเดือนกันยายนปีนี้ กับกลุ่มมาราปาตานี ที่กรุงกัวลาร์ลัมเปอร์นั้น ทางเบนาร์นิวส์ได้รายงานเหตุการณ์ความรุนแรง ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา มีจำนวนผู้เสียชีวิต 15 ราย และมีผู้บาดเจ็บร่วม 46 ราย

หากนับตั้งแต่สถานการณ์การก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ยิงและระเบิด ทั้งสิ้นแล้วกว่า 6,500 ราย

ราซลาน ราชิด ในกัวลาลัมเปอร์ และนานี ยูโซฟ ในวอชิงตัน มีส่วนร่วมในการรายงานนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง