ฝ่ายก่อเหตุรุนแรงเพิกเฉยคำขอคณะพูดคุยสันติสุข ให้พื้นที่สงบช่วงเวลาไว้อาลัย
2016.10.28
กรุงเทพฯ และ กัวลาลัมเปอร์

ผู้ก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพิกเฉยต่อคำบอกกล่าวของหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขไทย ที่ได้ขอให้ทางกลุ่มมาราปาตานี ช่วยสร้างความสงบในระหว่างการไว้อาลัยต่อการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในห้วงปีนี้
โดยในพฤหัสบดีและวันศุกร์นี้ มีเหตุการณ์ยิงเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นชายและหญิงเสียชีวิตสองราย และบาดเจ็บหนึ่งราย โดยรายแรกเป็นลูกจ้างกรมชลประทาน ถูกยิงเสียชีวิตบนถนน จังหวัดนราธิวาส และในวันนี้ คนร้ายสองคนได้ยิงผู้หญิงสองรายที่อยู่ในรถ ทั้งสองเป็นครูการศึกษานอกโรงเรียนและลูกจ้างการศึกษานอกโรงเรียน จนเสียชีวิตหนึ่งราย บาดเจ็บหนึ่งราย ในอำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี
ทั้งนี้ พล.อ.อักษรา เกิดผล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข ได้กล่าวในวันศุกร์ (28 ต.ค. 59) นี้ ว่า การเดินทางไปพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่าง คือ องค์กรมาราปาตานี ที่ประเทศมาเลเซีย ตั้งแต่วันอังคารที่ 25 ตุลาคม ในปุตราจายา และต่อมาในวันที่ 26-27 ตุลาคม ในกัวลาลัมเปอร์ ทางคณะได้บอกกล่าวให้ทางมาราปาตานี ซึ่งเป็นองค์กรร่มในการเจรจา ได้ช่วยทำให้พื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เกิดความสงบในช่วงปีนี้
"ได้บอกกลุ่มผู้เห็นต่างว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคต พสกนิกรชาวไทยเศร้ากันทั้งประเทศ ซึ่งพระองค์ท่านก็ทรงปกครองด้วยทศพิธราชธรรม ดูแลทุกศาสนาเหมือนกัน และอยากให้ทุกคนรักกัน จึงได้บอกเขาต้องนิ่ง ๆ โดยมุ่งหวังไม่ให้ปีนี้มีอะไร ซึ่งกลุ่มเห็นต่างก็แสดงอาลัย สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ" พล.อ.อักษรา กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวที่กรุงเทพในวันนี้
จากเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดอย่างต่อเนื่อง ผู้สันทัดกรณี ได้เคยตั้งคำถามว่า กลุ่มมาราปาตานี ที่เกิดจากการรวมตัวของขบวนการต่างๆ เช่น บีอาร์เอ็น จีเอ็มไอพี และกลุ่มย่อยของขบวนการพูโล มีอำนาจควบคุมกองกำลังระดับปฏิบัติการในพื้นที่หรือไม่
ในขณะเดียวกันทางฝ่ายไทยพยายามเร่งรัดให้ทางมาราปาตานี พิจารณาการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงในสามจังหวัดชายแดนใต้ร้องขอ
ในการเจรจาครั้งล่าสุดนี้ พล.อ.อักษรา กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายยังได้มีการพูดคุยถึงเรื่องการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย (safety zones) ซึ่งได้พูดคุยเรียบร้อยแล้ว และรอขั้นตอนของการกำหนดพื้นที่ที่แน่ชัดว่าจะเป็นจุดใดบ้างใน 37 อำเภอ
"คุยจบเรื่องพื้นที่ปลอดภัยแล้ว ต่อไปก็เป็นการกำหนดพื้นที่เป็นระดับหมู่บ้าน เมือง หรืออำเภอ ซึ่งเป้าหมายคือยุติความรุนแรง ด้วยกระบวนการพูดคุยสันติสุข” พล.อ.อักษรา กล่าว
อย่างไรก็ตาม ด้านโฆษกของมาราปาตานี นายอาบู ฮาฟิซ อัลฮากิม ได้กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวของเบนาร์นิวส์ในวันศุกร์นี้ว่า ได้มีการลดเวลาการเจรจาของอนุกรรมการทางเทคนิคลงจากสามวันเป็นสองวัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้มีการตกลงกันในเรื่องใด ๆ
“การเจรจาเสร็จสิ้นลงเมื่อวาน ใช้เวลาสองวันแทนที่จะเป็นสามวัน เราไม่ได้มีการตกลงในเรื่องใด ๆ แต่จะมีการพูดคุยกันใหม่ แต่ยังไม่ทราบว่าจะเป็นเมื่อใด เพราะทางฝ่ายไทยยังอยู่ในช่วงไว้อาลัย เราต้องรอจนกว่าจนว่าเขาจะพร้อม” นายอาบู ฮาฟิซ กล่าว
นับตั้งแต่การเกิดความรุนแรงครั้งใหม่ เริ่มต้นจากการปล้นปืนจากค่ายนราธิวาสราชนครินทร์ในปี 2547 จำนวนกว่าสี่ร้อยกระบอก ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ รายงานยอดผู้เสียชีวิตไว้ว่ามีจำนวนถึงกว่า 6,700 ราย ซึ่งมีทั้งไทยพุทธและไทยมุสลิม ในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน
ในปี 2558 รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รื้อฟื้นการเจรจาอีกครั้งหลังจากที่ยุติไปในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งมีผลให้ความรุนแรงในพื้นที่ลดลงบ้าง แต่การสร้างสันติภาพที่ถาวรยังคงดำเนินไปอย่างช้าๆ
พล.อ.อักรา กล่าวอีกว่า การพูดคุยฯ ต้องทำเงียบ ๆ ให้เดินหน้าไปอย่างเรียบร้อย เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการรับผิดชอบชีวิตประชาชนเป็นจำนวนมาก ไม่ได้เป็นการโชว์ผลงาน
“ยืนยันการพูดคุยมีความก้าวหน้าแน่นอน และไม่ได้ไปเสียท่าใคร” พล.อ.อักษรา กล่าวเพิ่มเติม