คณะพูดคุยฯ ศึกษาเขตปกครองพิเศษเป็นหนึ่งในทางออกปัญหาไฟใต้
2019.01.11
กรุงเทพฯ

พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวในวันศุกร์นี้ว่า ทางคณะพูดคุยฯ จะศึกษาเรื่องความเป็นไปได้ในการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษขึ้นมาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ต้องยังอยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ ซึ่งในก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นายมหาเธร์ โมฮัมหมัด ได้ให้คำแนะนำว่าเขตปกครองพิเศษ น่าจะเป็นหนทางในการแก้ไขปัญหาการพยายามแบ่งแยกดินแดนสามจังหวัดชายแดนใต้ที่มีมาอย่างยาวนาน
ในตอนบ่ายวันนี้ พล.อ.อุดมชัย ได้ชี้แจงถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาภาคใต้แก่ผู้สื่อข่าวและภาคประชาสังคม ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย โดยได้กล่าวย้ำว่า คณะฯ จะมีแนวทางในการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับทุกกลุ่มโดยไม่ทางการก่อน แล้วจึงจะคุยเป็นทางการในภายหลัง และยังเปิดกว้างให้พูดคุยถึงเรื่องเขตการปกครองได้ แต่ต้องมีนิยามอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ
“การคุยครั้งนี้ เราคุยกับทุกกลุ่ม แยกกลุ่มเพราะว่าแต่ละกลุ่มอาจมีแนวทางและทัศนะที่ต่างกัน เราจะคุยแบบไม่เป็นทางการเป็นหลัก เพื่อเปิดโอกาสให้พวกเขาได้คุยได้เต็มที่ และแสดงเจตนารมณ์หรือความเห็นที่แตกต่าง ให้เขามีเวลาเพียงพอเพื่อให้เข้าใจตรงกัน เพื่อการแก้ไขปัญหา ทุกกลุ่มไม่เป็นทางการ แล้วจะเป็นทางการในที่สุด” พล.อ.อุดมชัย กล่าวแก่ผู้ฟังประมาณหนึ่งร้อยคน
อย่างไรก็ตาม ตัวแทนสหพันธ์นิสิตนักเรียนนักศึกษา และเยาวชนปาตานี (perMAS) ได้ถาม พล.อ.อุดมชัย ถึงเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกแต่สิ่งหนึ่งที่ฝ่ายผู้เห็นต่างต้องการคือเอกราช แต่ประเทศไทยปฏิเสธ เท่ากับเป็นการปิดช่องทางเจรจาหรือไม่ พล.อ.อุดมชัยได้กล่าวตอบไปว่า ทางการให้เสรีภาพในการพูด แต่ไม่ใช่ปลุกระดมมวลชน
“ในการเกิดพื้นที่ที่เราจะให้เสรีในการคิด ในการพูด เราต้องให้ความปลอดภัย ในหลักการ ในวิธีการ แต่ไม่ใช่พูดปลุกระดม รัฐทุกรัฐไม่ยอมหรอกครับ ปลุกระดมเพื่อเป็นเอกราช” พล.อ.อุดมชัยกล่าว
“ในเวทีเสรี เรามีการพูดคุยในกรอบ อาจพ้นรัฐธรรมนูญ ผมบอกว่าพูดได้ แต่ต้องเสนอแนวทางในการที่จะทำ แล้วต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ คุณต้องไปเป็นนักการเมือง... คนมลายูที่อยู่ในสามจังหวัด ทำไมคุณไม่ส่งคนเข้ามาเป็นนักการเมืองและเป็นข้าราชการไทย ถ้าคุณเข้ามาคุณก็มีโอกาสจะแก้ไข และการพูดถึงอาร์เอสดี” พล.อ.อุดมชัย กล่าว โดยหมายถึงข้อเรียกร้องเอกราชและสิทธิในการตัดสินใจตนเอง (Right to Self Determination) ที่ทางกลุ่มเปอร์มัสชอบเรียกร้องจากรัฐบาลในการแสดงออกในหลายๆ ครั้ง
พล.อ.อุดมชัย กล่าวว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สั่งการให้ทางคณะพูดศึกษาแนวทางในการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษ ตามคำแนะนำของนายมหาเธร์ โมฮัมหมัด
“เมื่อผู้ที่หวังดีและเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศเพื่อนบ้านแนะนำ คงไม่มีใครปฏิเสธ เราก็น้อมรับแล้วมาศึกษา ผมก็กำลังศึกษา” พล.อ.อุดมชัยกล่าว
“เรื่องเขตการปกครองพิเศษเป็นเรื่องที่เรารับ เรามาพูดคุยกัน และมาเปรียบเทียบกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ให้ผมไว้ ว่าเราจะพูดถึงในเรื่องของการกระจายอำนาจที่ทำให้ทุกคนสบายใจที่จะอยู่ใต้ปกครอง ในสภาพความเป็นจริงมันอยู่ที่การจะทำอย่างไร ในการพูดคุยเรื่องการปกครองพิเศษ หรือการกระจายอำนาจ มันมีคำจำกัดความ หรือนิยาม ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างไร เป็นประเด็นที่เราต้องพูดคุย”
เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2561 นายมหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้ให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์เนชั่น ตามบทสัมภาษณ์ที่ชื่อว่า “มหาเธร์: ทางออกไฟใต้ไม่ใช่เอกราช แต่อาจเป็นเขตปกครองพิเศษ” โดยนายศุภลักษณ์ กาญจนขุนดี บรรณาธิการ เป็นผู้สัมภาษณ์ โดยนายมหาเธร์ ได้แสดงความคิดเห็นว่าการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
“เรารู้สึกว่าควรจะมีความเข้าใจกันก่อนว่า ภาคใต้ของไทยเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย ผมไม่คิดว่าจะมีประเทศไหนเต็มใจสูญเสียดินแดนให้แก่ประชาชนในภูมิภาคนั้นๆ เหมือนอย่างในสเปน (กรณีการขอแยกตัวของแคว้นกาตาลุญญา) รัฐบาลสเปนไม่พิจารณาให้เอกราช หรือแยกขาดจากรัฐบาลกลาง” มหาเธร์ กล่าว
“ดังนั้นผมคิดว่าคนในชายแดนใต้ต้องยอมรับข้อเท็จจริงตรงนี้ก่อน แล้วจึงพยายามให้มีอำนาจในการบริหารตัวเองมากที่สุด เหมือนกับในอินโดนีเซียที่มีเขตปกครองพิเศษ ไทยเองก็อาจจะมีการให้อำนาจปกครองตนเองบางส่วนกับชายแดนใต้ก็ได้ ผมคิดว่าถ้าเกิดขึ้นจริง พวกเขาคงจะยอมรับได้ว่ามันไร้ประโยชน์ หากจะพยายามให้ได้มาซึ่งเอกราชอีก” มหาเธร์ กล่าวเพิ่มเติม
รับรองการพูดคุยเป็นวาระแห่งชาติ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 327/2561 ลงวันที่ 7 ธ.ค. 2561 เพื่อปรับปรุงกลไกขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า "พูดคุยดับไฟใต้" โดยมีสาระสำคัญคือ การตั้งสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมา เพื่อประเมินสถานการณ์ในเชิงยุทธศาสตร์ และการเพิ่มบทบาทของตำรวจสันติบาลเข้ามาในกลไกระดับต่างๆ ของกระบวนการพูดคุยฯ มากขึ้นกว่าเดิม
ทั้งนี้ กระบวนการพูดคุยฯ ยังประกอบด้วยกลไกหลัก 3 ระดับ คือ หนึ่ง "คณะกรรมการระดับชาติ" ที่มีนายกฯ เป็นประธาน สอง "คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้" ซึ่งพล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฯ คนปัจจุบัน และ สาม "คณะประสานงานระดับพื้นที่" ดังนั้น การพูดคุยจะมีต่อเนื่องไป แม้ว่าจะมีรัฐบาลใหม่หลังจากการเลือกตั้งก็ตาม
คนร้ายประกบยิงโต๊ะอิหม่ามรือเสาะเสียชีวิต
เย็นวันศุกร์นี้ ร.ต.ท.คมสันต์ ทีฆกาญจน์ รองสารวัตรสอบสวน สภ.รือเสาะ จ.นราธิวาส รับแจ้งมีเหตุคนถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัสบนถนน 4060 สายรือเสาะ-จะกว๊ะ ม.2 ต.รือเสาะ จึงได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารจำนวนหนึ่งรุดเดินทางไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ พบผู้ได้รับบาดเจ็บนอนจมกองเลือดอยู่ข้างรถยี่ห้อฮอนด้า ทะเบียน 1 กข 2357 ยะลา ที่ล้มตะแคงอยู่ในไหล่ทางข้างถนน ทราบชื่อ คือ นายดอเลาะ สะไร อายุ 62 ปี ซึ่งเป็นโต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิดปูโปะ มีบาดแผลถูกยิงด้วยอาวุธปืนไม่ทราบชนิดและขนาด ที่บริเวณชายโครงซ้าย 2 นัด ไหล่ขวา 2 นัด รวม 4 นัด อาการสาหัส เจ้าหน้าที่จึงได้รีบนำตัวส่งรักษาที่โรงพยาบาลรือเสาะ แต่เสียเลือดมากจนเสียชีวิตในเวลาต่อมา
จากการตรวจสอบในที่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่ไม่สามารถตรวจสอบพบหลักฐานใดๆ ในเบื้องต้นของคนร้าย เนื่องจากพื้นที่และสภาพไม่เอื้ออำนวยในการตรวจสอบหาหลักฐาน และจะมาตรวจสอบหาหลักฐานอย่างละเอียดอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น
มาตาฮารี อิสมาแอ ในนราธิวาส มีส่วนในรายงานฉบับนี้