นายกรัฐมนตรีปฎิเสธข้อเสนอ “พร้อมเจรจาทุกรูปแบบ” ของนายทักษิณ
2016.02.23
กรุงเทพฯ

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บอกปัดการขอเจรจาของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่บอกผ่านสื่อต่างชาติ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
ในวันอังคาร (23 กุมภาพันธ์ 2559) นี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชน เกี่ยวการให้สัมภาษณ์ของนายทักษิณว่า ไม่ได้ให้ความสนใจกับการเคลื่อนไหว หรือการให้สัมภาษณ์ของอดีตนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด และปฎิเสธข้อเสนอการพูดคุย
“พูดด้วยกฎหมาย” พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเพียงสั้นๆ ซึ่งหมายความว่าจะใช้เพียงกระบวนการทางกฎหมายเท่านั้น ในการเจรจากับนายทักษิณ
บทสัมภาษณ์ทักษิณ
นายทักษิณ ชินวัตร กล่าวกับหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์ มีใจความว่า เขาเงียบมานาน หลายคนอาจจะมองว่า เขาต้องการที่จะกลับไปประเทศไทยเพื่อล้างแค้น แต่สำหรับตัวเขานั้นไม่ต้องการล้างแค้น เขาต้องการให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไป ดังนั้น จึงพร้อมที่จะเสนอให้มีการพูดคุยหรืออภิปรายร่วมกัน (ระหว่างตัวเขากับรัฐบาลทหาร) และจะไม่มีการวางเงื่อนไขใดๆ เพื่อประโยชน์ของตัวเขาเอง
"ผมไม่ได้พูดว่ารัฐบาลทหารจะอยู่ได้ไม่นาน แต่ระบบใดก็ตามที่ไม่เคารพประชาชนจะอยู่ไม่ยืด" นายทักษิณกล่าว
และบทสัมภาษณ์ของนายทักษิณ กับวอลสตรีทเจอร์นัลได้โจมตีท่าทีของรัฐบาลทหารว่า การวางแผนเลือกตั้งหรือการร่างรัฐธรรมนูญเป็นเพียงการเล่นละคร
"เป็นเหมือนการแสดงละครหลอกคนทั่วโลกว่า ประเทศไทยกำลังจะกลับคืนสู่ประชาธิปไตย แต่ในความเป็นจริง ไทยกำลังใช้ระบบเดียวกับประเทศพม่า ช่วงก่อนปฎิรูปการเมือง ซึ่งแม้จะมีนายกรัฐมนตรี แต่อำนาจยังอยู่กับผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งการปกครองแบบนี้จะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะรัฐบาลนานาชาติจะไม่อยากมีปฎิสัมพันธ์กับประเทศไทย”
การโต้ตอบของฝ่ายรัฐบาล
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การเรียกร้องว่าต้องเจรจาจนกลุ่มการเมืองทุกกลุ่มพอใจร่างรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการสำคัญตนเองผิด คิดว่านักการเมืองสำคัญกว่าประชาชน ที่ผ่านมาประเทศเสียหายทั้งจากการทุจริตคอร์รัปชั่น และการใช้กำลังก่อความวุ่นวาย ก็ล้วนมีนักการเมืองใหญ่บางคนเป็นต้นเหตุทั้งสิ้น
"การเรียกร้องเช่นนี้ถือเป็นตลกร้าย ที่ยอมรับไม่ได้ คล้ายทีมเชลซี จะแข่งขันกับทีมแมนฯซิตี้ ผู้จัดการทีมเชลซี ก็คงไม่เชิญทีมแมนฯซิตี้ มาร่วมฟังการวางแผนการเล่นด้วยฉันใด การร่างรัฐธรรมนูญเพื่อปราบคนโกง ก็ไม่ควรให้คนโกงมาร่วมร่างหรือเจรจา จนคนที่เคยโกงพอใจฉันนั้น" พล.ต.สรรเสริญกล่าว
ด้าน พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯ เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า รัฐบาลและกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญเปิดกว้างที่จะรับฟังความเห็นของทุกคน ดังนั้น หากอดีตนายกรัฐมนตรีมีข้อเสนอขอให้ทำตามขั้นตอน และเสนอมาเป็นลายลักษณ์อักษร แต่อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจสุดท้ายในเรื่องของร่างรัฐธรรมนูญต้องเป็นหน้าที่ของประชาชน
"คิดว่าท่านอยากคุย แต่หากคิดง่ายๆ ตำรวจคงคุยกับผู้ที่ติดคดีอยู่ลำบาก จึงต้องเข้าใจในจุดนี้ แต่จริงๆ มีผู้แทนจำนวนมากที่จะพูดคุย ซึ่งเวทีมันเปิดหลายเวที ฉะนั้นจะทำอย่างไรก็ได้ หรือส่งข้อความมาให้คณะกรรมการที่ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญพิจารณา" พล.อ.ธนะศักดิ์ กล่าวแก่สื่อท้องถิ่น
ข้อคิดเห็นจากพรรคการเมือง
ด้านพรรคเพื่อไทย นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ แสดงความคิดเห็นว่า การให้สัมภาษณ์ต่อสื่อครั้งนี้ของอดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่การยื่นเงื่อนไขเจรจากับ คสช. เพราะไม่ได้มีการเรียกร้องเงื่อนไขใดๆ เพื่อตัวนายทักษิณเอง และไม่ต้องการเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้ง โดยเชื่อว่าการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ เอาประโยชน์ของคนไทย 64 ล้านคน และประเทศเป็นตัวตั้ง
และนายนพดลทิ้งท้ายว่า หวังว่าผู้มีอำนาจจะรับฟังอย่างมีสติ และไม่ตอบโต้ทางการเมืองกลับมาแบบรุนแรง เพราะการพูดเกิดจากความหวังดีต่อประเทศ
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการให้สัมภาษณ์ของนายทักษิณว่า หากอดีตนายกรัฐมนตรีอยากเห็นบ้านเมืองเดินหน้าจริง ควรกลับมาประเทศไทย และยอมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
“ผมไม่แน่ใจว่าจะเกิดการพูดคุยระหว่างรัฐบาลกับนายทักษิณหรือไม่ แต่เห็นว่าการจะพูดคุยอะไรกับผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ขอให้กลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก่อน จากนั้นจะพูดคุยหรือเจรจากับใครก็จะมีความชอบธรรม” นายองอาจกล่าว ในเว็บไซต์ของพรรคประชาธิปัตย์
ผู้สันทัดกรณีที่ไม่ประสงค์จะออกนาม กล่าวว่า ในขณะนี้ทางศาลฎีกาแผนกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกำลังดำเนินคดีกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีในข้อหาไม่ยับยั้งการทุจริตการจำนำข้าว ในคดีหมายเลขดำ อม.22/2558 ที่มีโทษจำคุกหนึ่งถึงสิบปี ซึ่งทำให้มีการวิจารณ์ว่า นายทักษิณออกมาพูดเพื่อการต่อรองไม่ให้น้องสาวต้องถูกตัดสินลงโทษเท่านั้น