ศาลตัดสินไม่ยุบพรรคอนาคตใหม่ คดีอิลลูมินาติ
2020.01.21
กรุงเทพฯ

ในวันอังคารนี้ ศาลรัฐธรรมนูญอ่านวินิจฉัยว่า พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ไม่มีความผิดในคดีล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือคดีอิลลูมินาติ (Illuminati) โดยศาลระบุว่า ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะระบุได้ว่า พรรคและสมาชิกล้มล้างการปกครอง ด้าน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ขอบคุณสมาชิกพรรคและ ส.ส. ขณะที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคฯ ระบุว่า คนทำรัฐประหาร คือ คนล้มล้างการปกครอง
องค์คณะตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย เมื่อเวลา 12.00 น. ในคดีที่นายณฐพร โตประยูร ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำของพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 1 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ผู้ถูกร้องที่ 2 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการ อนค. ผู้ถูกร้องที่ 3 และคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ผู้ถูกร้องที่ 4 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ และ พรรคอนาคตใหม่มีความเชื่อมโยงกับองค์กรลับอิลลูมินาติ หรือไม่
“ถ้าปรากฏข้อเท็จจริงในภายหลังว่า ข้อบังคับของพรรคอนาคตใหม่ ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบพรรคการเมือง มาตรา 14(1) และ มาตรา 15(2) และ (3) ก็เป็นหน้าที่และอำนาจของนายทะเบียนพรรคการเมือง ที่จะรายงานไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาและมีมติให้เพิกถอนข้อบังคับดังกล่าวได้ ซึ่งข้อเท็จจริงในกรณีนี้หาได้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นแต่อย่างใด และผู้ถูกร้องทั้ง 4 คน ก็ไม่ได้มีการกระทำอื่นใด นอกเหนือจากการจดทะเบียนจัดตั้งพรรค กรณีนี้จึงยังไม่ปรากฎข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะฟังว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 4 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ” นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ
“วินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 4 ไม่เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง” นายทวีเกียรติ ระบุ
คำวินิจฉัยศาล ยังได้ระบุถึงพฤติการณ์ แนวคิด ทัศนคติคลั่งไคล้ในปรัชญาตะวันตก ผ่านการแสดงความเห็น ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะฟังได้ว่าเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ แต่อย่างใด ส่วนกรณีการกระทำดังกล่าวจะเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่นหรือไม่นั้น ต้องไปว่ากล่าวกันตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
หลังฟังคำวินิจฉัย นายณฐพร โตประยูร ยื่นคำร้อง ได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า รู้สึกพอใจกับคำวินิจฉัย และไม่ได้หวังว่า พรรคต้องถูกยุบ
“วัตถุประสงค์ผม เพียงแต่อยากให้สาธารณชนได้รับรู้ว่า ปัจจุบัน มีพรรคการเมืองพรรคนึงที่ต้องการเปลี่ยนรูปแบบการปกครองของประเทศ และมีข้อบังคับพรรค ซึ่งไม่เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ส่วนการยุบพรรคไม่ยุบ ผมไม่สนใจ เพราะประเทศไทย พอยุบพรรคก็ตั้งใหม่ได้ ฉะนั้นตรงนี้ไม่ใช่ประเด็น” นายณฐพร กล่าว
นางรุ่งรวี เจริญผล หนึ่งในผู้สนับสนุนพรรคให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์ว่า “ไม่ยุบวันนี้ พรุ่งนี้ก็ยุบ ทำใจไว้แล้ว”
ด้าน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แถลงข่าว ณ ที่ทำการพรรค หลังทราบคำวินิจฉัยว่า ขอบคุณทุกคนที่เป็นกำลังใจให้พรรค
“วันนี้ขอบคุณประชาชนทุกคนที่มาสนับสนุนเรา การเดินทางนี้เพิ่งเริ่มต้น จากวันที่เราตั้งพรรคถึงวันนี้ยังไม่ถึง 2 ปี ยังมีหลายเรื่องที่เราอยากผลักดัน สัญญาจะว่าผลักดันนโยบายให้เป็นจริง และเป็นตัวแทนความฝันของประชาชนที่ต้องการเห็นประเทศไทยไปข้างหน้า ขอขอบคุณทุกกำลังใจ” นายธนาธร กล่าว
ขณะที่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวหลังทราบคำวินิจฉัยของศาล ระบุว่า ตนเองและพรรคอนาคตใหม่ ไม่ได้คิดล้มล้างการปกครอง แต่การทำรัฐประหารต่างหากที่เป็นการล้มล้างการปกครอง
"ผมยืนยันว่าตัวผมเอง คุณธนาธร พรรคอนาคตใหม่ ไม่ได้มีความคิดล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข... การรัฐประหารต่างหาก ที่เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การยึดอำนาจประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ฉีกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ตั้งตนเองเป็นรัฎฐาธิปัตย์ต่างหาก คือการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” นายปิยบุตร กล่าว
คดีนี้ นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นผู้ยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 โดยกล่าวหาว่า พรรคอนาคตใหม่มีแนวคิด และเจตนาล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ รวมทั้งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของนายธนาธร และนายปิยบุตร รวมถึงกรรมการบริหารพรรค ซึ่งต่อมาในวันที่ 19 กรกฎาคม 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณา และไม่ได้ดำเนินขั้นตอนการไต่สวน
หนึ่งในข้อกล่าวหาที่นายณฐพรใช้คือ สัญลักษณ์ของพรรคอนาคตใหม่มีลักษณะสามเหลี่ยมด้านเท่ากลับหัว ซึ่งมีความเหมือนกับสมาคมอิลลูมินาติ (Illuminati) ซึ่งเป็นองค์กรลับซึ่งถูกก่อตั้งขึ้นในประเทศเยอรมนี เมื่อปี พ.ศ. 2319 โดยมีเป้าหมายหลัก คือการล้มล้าง หรือปฏิวัติความเชื่อใหม่ ๆ ทั้งในเรื่องระบอบการปกครอง และศาสนา
โดยในคำร้องยังได้บรรยายพฤติกรรมหลายพฤติกรรมของผู้ถูกร้อง ที่ผู้ร้องเชื่อว่ามีแนวคิดที่ต้องการจะล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เช่น คำสัมภาษณ์ของนายธนาธร หรือนายปิยบุตรต่อสื่อมวลชน นิตยสาร หรือการแสดงออกผ่านการเขียนบทความในอดีต เป็นต้น
เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 พรรคอนาคตใหม่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ขอไต่สวนพยานในคดีดังกล่าว อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2562 เอกสารข่าวศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่ข้อมูลระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องดังกล่าวของพรรคอนาคตใหม่ เนื่องจากเห็นว่า มีหลักฐานเพียงพอแล้ว
พรรคอนาคตใหม่ยังมีคดีสำคัญ เสี่ยงโดนยุบพรรค
นายฐิติพล ภักดีวานิช คณะบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ถึงผลคำวินิจฉัยดังกล่าวว่า พรรคอนาคตใหม่น่าจะยังถูกใช้คดีความในการสกัดกั้นต่อไป แม้จะไม่ถูกตัดสินยุบพรรคในวันนี้
“การไม่ยุบไม่น่าจะส่งผลอะไรกับการเมืองไทย เพราะก็คงมีการสกัดกั้นพรรคอนาคตใหม่ต่อไป ยังมีคดีเงินกู้อยู่ ซึ่งน่าจะเป็นคดีสำคัญ และถ้าสมมติว่า คดีกู้ยืมเงินก็ไม่ยุบ พรรคอนาคตใหม่ก็ยังถูกการใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือในการทำลายอยู่เรื่อยๆ จากกลุ่มอำนาจเดิม” นายฐิติพล ระบุ
ส่วน นายชาร์ล ซานติอาโก (Charles Santiago) สมาชิกรัฐสภามาเลเซีย และประธานกลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (ASEAN Parliamentarians for Human Rights - APHR) กล่าวในวาระที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำตัดสินเกี่ยวกับพรรคอนาคตใหม่ว่า
“แม้ว่าเราจะยินดีกับคำตัดสินของศาลวันนี้ แต่พรรคอนาคตใหม่ยังอยู่ในจุดที่เสี่ยงโดนยุบพรรค และกำลังเผชิญการดำเนินคดีที่มีจุดประสงค์ทางการเมืองจำนวนมาก.. หากรัฐบาลไทยยังอยากสร้างความเชื่อมั่นให้กับสิ่งที่เรียกว่า “หนทางกลับสู่ประชาธิปไตย” รัฐบาลควรยกเลิกการดำเนินคดีที่มีจุดประสงค์ทางการเมืองทุกชนิดที่มีต่อพรรคอนาคตใหม่ และนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย ถึงเวลาแล้วที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องเข้าใจว่า ประเทศนี้โหยหาประชาธิปไตย และประชาชนควรได้รับอนุญาตให้วิพากษ์วิจารณ์กฎหมายและนโยบายที่ปกครองพวกเขา”
ทั้งนี้ พรรคอนาคตใหม่ยังมีอีกคดีที่อาจนำไปสู่การยุบพรรค นั่นคือ คดีที่เกี่ยวข้องกับการที่พรรคได้กู้ยืมเงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค เป็นเงินจำนวน 191,200,000 บาท เพื่อนำมาใช้ดำเนินกิจกรรมพรรค ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ เห็นว่าเป็นการรับเงินโดยมิชอบ
โดย เมื่อวันพุธที่ 25 ธันวาคม 2562 ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำสั่งรับคำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย เพื่อมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ เป็นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 72 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 จึงมีมติด้วยคะแนนเสียงข้างมาก ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 93 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 โดยคดีนี้ พรรคอนาคตใหม่มีเวลาส่งหลักฐานเพิ่มเติมต่อศาลถึงวันที่ 27 มกราคม 2563