ประวิตร โรจนพฤกษ์ รับทราบข้อหายุยงปลุกปั่น
2017.08.08
กรุงเทพฯ

นายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ข่าวสดภาคภาษาอังกฤษ ได้เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในวันอังคาร (8 สิงหาคม 2560) นี้ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่น ตามความผิดในมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา และความผิดตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ จากการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและคณะรักษาความมั่นคง
นายประวิตร ได้เดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) พร้อมด้วยทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จากการโพสต์ข้อความที่หมิ่นเหม่ทางเฟซบุ๊คส่วนตัว
“โดนข้อหา ม.116 กับ พรบ.คอมฯ ไป 2 คดี ตำรวจแจ้งโทษรวมสองคดีหนัก 14 ปี คดีที่สอง 5 กรรม ม.116 กับ พรบ.คอมฯ แต่คดีสองเพิ่มเรื่องว่า เรานำเข้าข้อมูลเท็จ แต่ตำรวจไม่สามารถบอกได้ว่าเท็จอย่างไร เขาจึงต้องไปสอบปากคำตำรวจผู้กล่าวหาเพิ่มเติม จึงต้องไปรับทราบข้อกล่าวหาคดีที่ 2 อีกทีในวันที่ 18 สิงหา เวลาบ่ายโมง” นายประวิตร กล่าวทางเฟซบุ๊คส่วนตัว หลังได้รับการปล่อยตัว
ในการมอบตัวครั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่สหภาพยุโรป สถานทูตอังกฤษ เยอรมนี สวีเดน ฝรั่งเศสและเนเธอแลนด์ รวมทั้ง สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และตัวแทนจากคณะกรรมการสากลเพื่อปกป้องนักข่าว (Committee for Protection Journalists หรือ CPJ) ร่วมให้กำลังใจ ก่อนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว
ซึ่งในเวลาต่อมา คณะกรรมการสากลเพื่อปกป้องนักข่าว ซึ่งมีสำนักงานในกรุงวอชิงตันดีซี ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ปล่อยตัวนายประวิตรโดยไม่มีเงื่อนไขในทันที
“ทางการไทยควรยกเลิกการตั้งข้อหานายประวิตร โรจนพฤกษ์ คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ข่าวสดภาคภาษาอังกฤษ โดยไม่มีเงื่อนไขในทันที และควรให้นายประวิตรทำหน้าที่สื่อมวลชนอย่างอิสระโดยไม่ถูกคุกคาม” เนื้อความส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุ
รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เชิญตัวนายประวิตร เพื่อปรับทัศนคติหลายครั้ง นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปี 2557 เนื่องจากบทบาทการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล
ตามรายงานของมติชนสุดสัปดาห์ นางสาวเยาวลักษณ์ อนุพันธุ์ ทนายความสิทธิมนุษยชนของนายประวิตร เปิดเผยว่า ความผิดมาตรา 116 มีโทษสูงสุดคือ 7 ปี ในขณะที่นายประวิตรโดนกล่าวหากระทำผิด 5 กรรม จึงอาจจะถูกรวมโทษเป็น 35 ปี ในขณะเดียวกัน นายประวิตร หากมีความผิด พรบ.คอมพิวเตอร์ ด้วย ซึ่งในทางกฎหมายอาญา มีบทกำหนดว่า หากการกระทำเดียวกันแต่ผิดหลายบท จะถูกลงโทษตามบทหนักสุด คือ ม.116 และต้องรวมกันแล้ว ต้องได้รับโทษไม่เกิน 20 ปี
หลังการยึดอำนาจของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีประชาชนถูกเรียกไปรายงานตัว-เยี่ยมบ้าน อย่างน้อย 1,319 คน ถูกจับกุมในยุคคสช.อย่างน้อย 597 คน, ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 อย่างน้อย 82 คน, ถูกตั้งข้อหามาตรา 116 อย่างน้อย 64 คน, พลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร อย่างน้อย 300 คน มีกิจกรรมถูกปิดกั้น-แทรกแซง อย่างน้อย 152 ครั้ง