พลเอกประยุทธ์ ปกป้องการเก็บดีเอ็นเอทหารเกณฑ์ชายแดนใต้
2019.04.17
ปัตตานี

ในวันพุธนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปกป้องการเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรม หรือดีเอ็นเอจากผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหารในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เป็นปีแรกว่า เป็นการเก็บไว้เป็นฐานข้อมูลด้านความมั่นคง โดยไม่ได้มีการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลใดๆ เพราะต้องได้รับความยินยอมจากผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหาร หลังจาก ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ออกแถลงการณ์แสดงความคิดเห็นขัดแย้ง เพราะละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
ทั้งนี้ ในระหว่างการเกณฑ์ทหารในสามจังหวัดชายแดนใต้ ในช่วงครึ่งแรกของเดือนเมษายนนี้ เจ้าหน้าที่ได้จัดโต๊ะเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอจากกระพุ้งแก้มผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหาร ซึ่งเจ้าหน้าที่กล่าวว่า มีผู้ยินยอมถึง 99 เปอร์เซ็นต์ มีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่ยินยอม
ซึ่ง น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ตั้งข้อสงสัยถึงความเหมาะสมของโครงการนำร่องการเก็บดีเอ็นเอ ในจังหวัดชายแดนใต้
“นายกฯ ตอบได้ครบถ้วนตามโพยที่ได้มา แต่ถูกต้อง จำเป็น สมควรหรือไม่ แล้วแต่ประชาชนไทยจะคิด เพราะเป็นโครงการนำร่องที่เยาวชนชาย อายุ 21 ปี จะถูกเก็บดีเอ็นเอในขณะตรวจเข้ารับเป็นทหารฯ ดีเอ็นเอของทุกคนลงชื่อกำกับไว้หน้ากล่อง แทนที่จะเป็นระบบเก็บแบบรหัสลับ เก็บไว้เป็นความลับตามขั้นตอนที่เป็นอิสระต่อกัน... ข้ามขั้นตอนของห่วงโซ่พยานหลักฐานทางอาญาหรือไม่” น.ส.พรเพ็ญ กล่าวทางเฟสบุ๊ค
โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาโต้ตอบในวันนี้เช่นกัน
“การเก็บดีเอ็นเอในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น รัฐเคารพสิทธิต่างๆ ทุกคน ก็เป็นครั้งแรกในการตรวจดีเอ็นเอในการคัดเลือกเกณฑ์ทหาร ก็ถือว่าเป็นปีแห่งการนำร่อง โดยจะเริ่มในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะมีปัญหาเรื่องความมั่นคงอยู่” พลเอกประยุทธ์ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว
“ส่วนจะขยายไปจังหวัดอื่นนั้นก็ไม่ได้บังคับ ก็ได้แจ้งให้ผู้เข้ารับการเกณฑ์ทราบก่อนทั้งหมด ขึ้นอยู่กับความสมัครใจและยินยอมของแต่ละคน ส่วนใหญ่ก็ให้ความร่วมมือดี เข้าใจเหตุผล ไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิ ส่วนเหตุผลของการเก็บดีเอ็นเอไว้ ก็เพื่อเป็นฐานข้อมูลเรื่องความมั่นคงเพราะว่า เขารับราชการทหารแค่ 2 ปีเท่านั้นเองใช่ไหม” พลเอกประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม
ด้าน เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้นายหนึ่ง กล่าวว่า แม้ว่าจะไม่สามารถบังคับบุคคลเพื่อการเก็บดีเอ็นเอได้ แต่ทางการไทยได้พยายามรวบรวมฐานข้อมูลดีเอ็นเอของบุคคล ในสามจังหวัดชายแดนใต้ไว้ในฐานข้อมูลกว่าหนึ่งแสนรายแล้ว เพื่อป้องปรามและอำนวยความสะดวกในการติดตามตัวผู้ร้ายที่ก่อเหตุรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีมานานกว่า 15 ปี ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วประมาณ 7,000 คน
เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงผู้ไม่ประสงค์ออกนามอีกนายหนึ่ง กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ดีเอ็นเอ เป็นหลักฐานที่หนักแน่นที่ใช้ในการดำเนินคดี และมีความแม่นยำ ในการระบุตัวคนร้ายที่ก่อเหตุในพื้นที่ที่มีสมาชิกของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนก่อเหตุรุนแรงอย่างต่อเนื่อง
ด้านพลโทพรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า จากทหารกองเกินที่เข้ารับการตรวจเลือกเป็นทหารกองประจำการในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสี่อำเภอของจังหวัด สงขลา มีจำนวนทั้งสิ้น 17,646 นาย
ทั้งนี้ ผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหารที่ไม่ยอมรับการตรวจเก็บดีเอ็นเอ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ตนไม่อนุญาตให้เก็บดีเอ็นเอ เพราะไม่ไว้ใจทางการ
"ที่ไม่ให้ตรวจ เพราะเขาชอบใส่ร้ายชาวบ้าน แล้วเขาจะยัดข้อหาว่าเราเป็นคนร้าย คนแถวบ้านหลายคนแล้วที่โดน ผมก็เลยกลัว" ผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหารรายเดียวกันกล่าวโดยไม่ขอเปิดเผยชื่อ
ส่วนผู้ที่ยินยอมเช่น นายมารูวรรณ วาเด็ง ชายไทยที่เข้ารับการเลือกทหารที่จังหวัดยะลา กล่าวว่า ตนเองไม่มีความกังวลใจต่อการตรวจเก็บดีเอ็นเอ
“ปีนี้ มีการตรวจดีเอ็นเอด้วย เห็นว่าครั้งแรกด้วยที่ทำ ตรวจกันเฉพาะใน 3 จังหวัดและ 4 อำเภอ จังหวัดสงขลาเท่านั้น ที่รู้ก็เฉยๆ คิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร อาจเป็นผลดีก็ได้” นายมารูวรรณ ซึ่งจับฉลากได้ใบดำและไม่ต้องเข้าประจำการ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์