องค์กรมาราปาตานี และคณะพูดคุยสันติสุข พร้อมพบปะเป็นครั้งที่สามของปีในวันที่ 25 สิงหาคม ที่มาเลเซีย
2015.08.21

อดีตแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนพูโล และผู้อำนวยการ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เปิดเผยในวันศุกร์ (21 ส.ค. 2558) นี้ว่า คณะพูดคุยสันติสุขของรัฐบาลไทย และ “กลุ่มผู้เห็นต่าง” ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มเจรจาที่ใช้ชื่อว่า สภาประชาชนปาตานี (MARA Patani) จะจัดให้มีการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการอีกครั้ง ในวันที่ 25 สิงหาคม ศกนี้ ในประเทศมาเลเซีย
อดีตแกนนำพูโลท่านหนึ่ง ที่ทำหน้าที่ในทีมประสานงานพูดคุยสันติสุข ได้กล่าวต่อเบนานิวส์ในวันนี้ว่า การพูดคุยสันติภาพ ที่มีประเทศมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกที่สะดุดลงไปใน ปี 2556 ในยุครัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชิณวัตร นั้น ได้ถูกรื้อฟื้น โดยทางคณะผู้พูดคุยของรัฐบาลไทย จะมีกำหนดพบปะกับกลุ่มผู้เห็นต่างในกรุงกัวลาลัมเปอร์ในวันที่ 25 สิงหาคม ศกนี้
“ล่าสุด มีกำหนดการร่วมประชุมระหว่าง คณะพลเอกอักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข กับสมาชิกกลุ่มมาราปาตานี ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในวันที่ 25 ส.ค. 2558 นี้” อดีตแกนนำพูโล ผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม กล่าว
“จากนั้น ในวันที่ 27 ส.ค. 2558 สมาชิกมาราปาตานี จะเปิดโอกาสร่วมพูดคุยแบบโต๊ะกลมกับคณะสื่อจากประเทศไทย ทั้งที่ประจำอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ ที่อยู่ส่วนกลางของกรุงเทพ ทั้งหมดรวม ประมาณ 10 คน” แหล่งข่าวท่านดังกล่าวได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติม
“กำหนดการสำหรับสื่อไทย ที่เข้าร่วมประชุมโต๊ะกลมครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงเช้า ทุกคนสามารถเข้าร่วมประชุมได้ แต่ห้ามพกมือถือกล้องถ่ายรูป รวมทั้ง ห้ามมีการบันทึกเสียง และรูปภาพใดๆ ในการประชุมสามารถนำสมุดและปากกา เพื่อจดข้อมูลได้ คาดว่าน่าจะใช้เวลา ไม่ต่ำกว่า 4-5 ชั่วโมง ส่วนช่วงบ่ายโมงกว่า ๆ สมาชิกขององค์กรมารา ปาตานี จะแถลงข่าวต่อหน้าสื่อมวลชนไทย และสื่อมวลชนมาเลเซีย รวมทั้งสื่อต่างประเทศ ที่อยู่ในประเทศมาเลเซีย”
ที่มาขององค์กร MARA Patani หรือ สภาประชาชนปาตานี
สภาประชาชนปาตานี หรือที่ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า MARA Patani (Majlis-ash-Shura Patani) เป็นชื่อองค์กรร่วมที่ก่อตั้งขึ้นมา เป็นองค์กรร่วมในการเจรจา หลังจากที่ดาโต๊ะ ซัมซามิน (Dato Sri Ahmad Zamzamin Hashim) สำนักงานเลขานุการของคณะทำงานร่วมกระบวนการพูดคุยสันติสุข (Joint Working Group—Peace Dialogue Process, JWG-PDP) ได้เป็นประธานประสานการประชุมของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐบาลไทย 6 กลุ่ม ในวันที่ 9-10 เดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา
สำหรับกลุ่มผู้เห็นต่างที่จะเข้าร่วมพูดคุยในครั้งนี้ ประกอบด้วย กลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมาลายู (BRN) กลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติปัตตานี (BIPP) ขบวนการมูจาฮิดีนแห่งชาติปัตตานี (GMIP) และกลุ่มย่อยขององค์กรปลดปล่อยรัฐปัตตานี (PULO) อีกสองหรือสามกลุ่มย่อย
ผศ.ดร. ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า เป็นการพูดคุยที่จะมีขึ้นในครั้งนี้ถือเป็นการพูดคุยเป็นครั้งที่สาม ในปีนี้ และองค์กรมาราปาตานี จะเป็นการเปิดตัว ให้กับสื่อมวลชนได้รู้จัก พร้อมทั้งจะได้แถลงข่าวหลังจากเสร็จสิ้นการพูดคุยในครั้งนี้สองวัน ในวันที่ 27 สิงหาคม นี้
“การพบปะของคณะพูดคุยไทยกับมาราปาตานี ครั้งนี้ จะเป็นการพูดคุยเรื่องของการประเมินสถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมา หลังจากทั้งสองฝ่ายได้มีความพยายามทำบรรยากาศให้เอื้ออำนวยต่อการพูดคุยก่อนหน้านี้” ผศ. ดร. ศรีสมภพ กล่าว
ขั้นตอนการพูดคุยสันติสุข
ในก่อนหน้านี้ พลตรีนักรบ บุญบัวทอง รองผู้อำนวยการ ศูนย์ประสานงานการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในฐานะเลขานุการคณะพูดคุยสันติสุข ได้อธิบายขั้นตอนการสร้างสันติสุขแก่เบนาร์นิวส์ว่า แบ่งขั้นตอนการพูดคุยเป็นสามขั้นตอน คือ การสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกัน สอง การตกลงร่วมกันในการแก้ไขปัญหาที่มีในทุก ๆด้าน ที่เห็นพ้องต้องกัน และ สาม ขั้นตอนการวางโร้ดแมป เพื่อทำการแก้ไขปัญหาในเรื่องต่างๆ ตามที่ได้ตกลงร่วมกันในขั้นตอนที่สอง
“หนึ่ง สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ขั้นที่สอง คือ เรื่องของข้อตกลงร่วม ว่าจะแก้ไขปัญหาอะไรบ้าง.. มันต้องไปดูอีกทีนึงว่าปัญหาที่เราจะต้องร่วมแก้ไขนี่ มันใหญ่ระดับไหน มันต้องไปดูอีกทีนึง ทีนี้มันยังไม่ถึงขั้นนั้น เราเลยยังไม่แน่ใจว่า จะออกมาในรูปใด” พลตรีนักรบ ให้สัมภาษณ์แก่เบนานิวส์ในเดือนกรกฎาคม
“ขั้นที่สาม วางโร้ดแมปในแต่ละเรื่อง เช่น เราเห็นว่าเรื่องการศึกษา เกิดมีปัญหากับเขาอย่างนี้ เราต้องแก้อย่างนี้ เราก็จะแก้กัน เราก็จะเขียนเรื่องการศึกษาเป็นโร้ดแมปการศึกษา เรื่องสังคมวัฒนธรรมก็เป็นโร้ดแมปเรื่องสังคมวัฒนธรรม การเมืองการปกครองมีไหม เราก็เขียนเป็นโร้ดแมปแต่ละเรื่อง”