สื่อร้อง สปท. ยกเลิกการพิจารณาร่างกฎหมายสื่อฯ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.01.30
กรุงเทพฯ
TH-press-620 สื่อมวลชนติดตามรายงานข่าวการขอพื้นที่คืนของทหารจากฝ่ายต่อต้านรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2552
แฟ้มภาพ เรดิโอฟรีเอเชีย

ในวันจันทร์ (30 มกราคม 2560) นี้ องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 30 องค์กร ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนพ.ศ. ..... (ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพสื่อฯ) โดยให้เหตุผลว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้หากมีผลบังคับใช้ จะกลายเป็นเครื่องมือของภาครัฐในการควบคุมสื่อมวลชน และเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ผู้ทำหน้าที่พิจารณายุติกระบวนการ

นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า การตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติที่มีอำนาจทางกฎหมายในการลงโทษสื่อมวลชน โดยมีปลัดกระทรวง 4 คน เป็นกรรมการอาจทำให้เกิดการแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนโดยฝ่ายการเมือง

“มันเป็นร่างที่คิดจากพื้นฐานที่จะควบคุมสื่อ โดยให้อำนาจต่อสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ซึ่งอาจมีนักการเมืองเข้ามาแทรกแซง เนื่องจากให้ปลัดกระทรวงเข้าไปเป็นกรรมการสภาวิชาชีพ โดยสามารถใช้อำนาจทางปกครองมาลงโทษสื่อ และเพิกถอนใบอนุญาตสื่อ ซึ่งไม่มีใครเขาทำกันในประเทศประชาธิปไตย มีแต่ประเทศคอมมิวนิสต์เขาทำกัน” นายชวรงค์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์

ตามร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพสื่อฯ สภาวิชาชีพสื่อมวลชน จะมีกรรมการ 13 คน โดย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และปลัดกระทรวงวัฒนธรรม จะเข้าเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง อีก 5 คน มาจากการสรรหาของสื่อมวลชนด้วยกัน และ 4 คนที่เหลือ จะสรรหาจากผู้ทรงคุณวุฒิในวิชาชีพอื่น ซึ่งสื่อมวลชน มองว่า ปลัดกระทรวง จำเป็นต้องเป็นบุคคลที่ถูกสื่อตรวจสอบ ไม่ควรมีตำแหน่งเป็นกรรมการควบคุมสื่อ

ต่อคำถามที่ว่า หากเกิดสถานการณ์ที่สื่อทำหน้าที่อย่างไม่เหมาะสม สื่อจะสามารถควบคุมกันเองได้อย่างไร หากไม่มี พ.ร.บ.วิชาชีพสื่อฯ และสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ นายวันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ระบุว่า องค์กรสื่อที่มีอยู่ในปัจจุบัน สามารถกำกับดูแลกันเองได้ ขณะเดียวกันประชาชนก็สามารถตรวจสอบสื่อและลงโทษสื่อที่ทำหน้าที่ไม่เหมาะสมได้เช่นกัน

“กฎหมายหมิ่นประมาท กฎหมายความมั่นคง กฎหมายความรุนแรงในครอบครัว กฎหมายเรื่องสิทธิเด็ก ซึ่งถ้าสื่อทำหน้าที่ของตัวเองผิดไปจากกรอบของกฎหมาย ประชาชนสามารถใช้กฎหมายเหล่านี้ดำเนินการกับสื่อได้อยู่แล้ว ส่วนการกำกับดูแลกันเองของสื่อมีไว้เพื่อให้สื่อทำหน้าที่โดยความรับผิดชอบในลักษณะการว่ากล่าวตักเตือน การแทรกแซงกันเอง และการเรียกร้องให้สังคมช่วยกำกับสื่อด้วย” นายวันชัย กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา 30 องค์กรวิชาชีพสื่อ ได้ออกแถลงการณ์ร่วมเพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนพ.ศ. ....... ซึ่งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กำลังพิจารณาอยู่ในขณะนี้

โดยองค์กรวิชาชีพสื่อ 30 องค์กร ซึ่งนำโดยสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และอื่นๆ ได้ระบุเหตุผลที่ไม่เห็นด้วย และข้อเรียกร้องต่อร่างกฎหมายฉบับนี้โดยสรุปดังนี้

1. ร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานหลักการของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน โดยใช้อำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน และไม่สอดคล้องกับหลักการของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ผ่านการลงประชามติ

2. สปท. ต้องยกเลิกการพิจารณาร่างกฎหมายกฎหมายฉบับนี้ และกลับไปทบทวนความจำเป็นในการออกกฎหมายดังกล่าว

3. หาก สปท. เดินหน้ารับรองร่างพระราชบัญญัตินี้โดยไม่ฟังเสียงทักท้วง องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั่วประเทศ จะยกระดับมาตรการในการคัดค้านร่างกฎหมายนี้ต่อไปจนถึงที่สุด

4. ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนได้พัฒนาระบบการกำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อยกระดับความรับผิดชอบของสื่อมวลชน และตอบสนองความเปลี่ยนแปลงของสังคม รวมทั้งมุ่งมั่นที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป

ต่อประเด็นนี้ พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า แม้จะมีการเรียกร้องของสมาคมสื่อมวลชนให้ สปท. ยกเลิกการพิจารณา พ.ร.บ.วิชาชีพสื่อฯ แต่ส่วนตัวระบุว่า การเรียกร้องนี้จะไม่มีผลให้เกิดการชะลอการพิจารณาแต่อย่างใด

“ประเด็นของร่างกฎหมายที่เปิดโอกาสให้รัฐเข้าแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชนนั้น ต้องเข้าใจว่าเมื่อประเทศมีรัฐ และรัฐต้องทำหน้าที่ดูแลร่วมกับภาคเอกชน เพื่อความเรียบร้อย ซึ่งในร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพฯ นั้น กำหนดให้มีสภาวิชาชีพ ที่มีตัวแทนทั้งจากภาครัฐ และภาคองค์กรสื่อสารมวลชน เป็นสัดส่วนครึ่งต่อครึ่ง โดยตัวแทนของสื่อมวลชนนั้น เปิดโอกาสให้มาจากการคัดเลือกกันเองขององค์กรสื่อสารมวลชน ดังนั้น ถือเป็นความสมดุลที่เหมาะสม ดังนั้น ความเห็นต่างที่มี ต้องทำอย่างไรให้อยู่ร่วมกันได้” พล.อ.อ.คณิต กล่าว

พล.อ.อ.คณิต เพิ่มเติมว่า จะนำเสนอ พ.ร.บ.วิชาชีพสื่อฯ ต่อวิป สปท. ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้ ส่วนการบรรจุในวาระการประชุมของ สปท. ก็ขึ้นกับการพิจารณาของวิป สปท. ต่อไป

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง