ประชาชนเดินขบวนยื่นข้อเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ
2020.03.13
กรุงเทพฯ

ในวันศุกร์นี้ ประชาชนจำนวนกว่า 200 คน ได้ร่วมเดินขบวนไปยังอาคารรัฐสภา เพื่อรณรงค์ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยได้ยื่นหนังสือข้อเรียกร้องต่อ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งนายพีระพันธุ์รับปากว่า จะนำข้อเสนอเข้าสู่การพิจารณา
การเดินขบวนของประชาชน นักศึกษา อาจารย์มหาวิทยาลัย และนักเคลื่อนไหว เริ่มขึ้นในตอนเช้า จากองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) จตุจักร และเดินเท้าไปยัง สัปปายะสภาสถาน (รัฐสภา) เกียกกาย โดยระหว่างทางได้มีการถือป้ายรณรงค์ และตะโกนเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน “ต้องแก้ ต้องแก้ ถ้าไม่แก้ ออกไป ถ้ารัฐบาลประยุทธ์ไม่แก้ เราก็พร้อมจะลงถนน”
ซึ่งเมื่อถึงรัฐสภา ได้มีการแถลงข้อเสนอของ คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ต่อหน้า ส.ส. ที่มารอรับหนังสือเรียกร้อง
“รัฐธรรมนูญ คือ กติกาสูงสุดที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐ รับรองสิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของบุคคล รัฐธรรมนูญจึงจำเป็นจะต้องมาจากความเห็นพ้องต้องการของประชาชน แต่รัฐธรรมนูญ 2560 มีที่มาจากคณะบุคคลที่ก่อรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า แล้วก็ตั้งพรรคพวกของตนเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นเองโดยประชาชนไม่มีส่วนร่วม อีกทั้งกระบวนการทำประชามติก็ไม่ได้สะท้อนมติของประชาชน เพราะไม่ได้เปิดให้เกิดการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีตลอดกระบวนการ” แถลงการณ์ระบุ
“รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังเป็นเงื่อนไขให้วิกฤติการเมืองทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะเป็นที่มาของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไม่ได้อิงกับเสียงประชาชนส่วนใหญ่ ส่งผลให้สังคมไทยเผชิญวิกฤติครั้งใหญ่ จะมีก็แต่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วมเท่านั้น ที่จะพาสังคมไทยให้หลุดพ้นจากวิกฤติครั้งนี้ได้” แถลงการณ์ ตอนหนึ่ง
ทั้งนี้ แถลงการณ์มีข้อเสนอโดยสรุปดังนี้ 1. ออกพระราชบัญญัติเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2. ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีสาระ คือ 2.1 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญจากการเลือกตั้ง 2.2 แก้ไขมาตรา 256 ของรัฐธรรมนุญ ที่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2.3 ให้เขียนบทเฉพาะกาล ให้นำรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้ และจัดการเลือกตั้ง และให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการจัดการเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) 3. ให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่เขียนโดย ส.ส.ร.
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ผู้รับหนังสือได้กล่าวแก่ ประชาชน และสื่อมวลชนที่หน้ารัฐสภา โดยให้คำมั่นสัญญาว่า จะนำข้อเสนอที่ได้รับไปพิจารณา
“คณะกรรมาธิการชุดนี้ ตั้งใจอยู่แล้วว่าจะฟังเสียงประชาชน เพราะว่าเราเป็นคณะกรรมาธิการที่ต้องมาศึกษาความเห็นด้วย ขอให้มั่นใจนะครับว่า สิ่งที่ท่านนำมาเสนอวันนี้ จะถูกนำไปสู่การพิจารณาของกรรมาธิการ แล้วก็จะเป็นข้อมูลประกอบการศึกษาต่อไป ขอให้มั่นใจ” นายพีระพันธุ์ กล่าว
ด้าน นายอนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้ร่วมเดินขบวนในครั้งนี้ เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า เหตุผลที่ต้องรณรงค์ให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ เนื่องจากเชื่อว่า หากไม่ถูกกดดันจากประชาชน รัฐบาลนี้ไม่มีทางยอมแก้ไขรัฐธรรมนูญแน่นอน
“หากไม่มีเสียงของประชาชนเพื่อที่จะกดดัน เขาไม่แก้หรอก ถึงแก้ก็แก้เล็ก ๆ น้อย ๆ ในส่วนที่เขาได้ประโยชน์ ซึ่งมันน่าเศร้าตรงที่ประโยชน์ของชนชั้นนำในประเทศนี้ มันตรงกันข้ามกับประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่... เขาออกแบบมาเพื่อจะไม่ให้แก้ และอยู่ในอำนาจนานที่สุด” นายอนุสรณ์ กล่าว
ด้าน นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ผู้ร่วมจัดการรณรงค์ กล่าวว่า กระบวนการในการแก้ไขน่าจะใช้เวลา 1-2 ปี โดยต้องมีการรณรงค์ และติดตามอย่างต่อเนื่องในอนาคต
“ประชาชนมาร่วมขบวนมากกว่าที่คาดไว้ แสดงว่ามีความตื่นตัวว่ารัฐธรรมนูญต้องแก้ไข กว่าที่เราคาด วันนี้่เป็นวันทำงาน เดินกลางแดด มีสถานการณ์ไวรัส ก็น่าดีใจ มีข้อเสนอจะแก้ไขจากหลายกลุ่ม แต่ทุกกลุ่มรู้ว่า มันไม่ง่าย ตัวแปรหลักน่าจะอยู่ที่กรรมาธิการที่รับหนังสือว่า จะแก้ไปในทิศทางไหน” นายยิ่งชีพ กล่าว
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ถูกร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) 21 คน ซึ่งแต่งตั้งโดยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ต่อมารัฐบาล คสช. ได้จัดให้มีการลงประชามติ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 มีประชาชนเห็นชอบ 16,820,402 หรือ 61.35% ของผู้ออกเสียง ขณะที่ประชาชนไม่เห็นชอบ 10,598,037 หรือ 38.65% และมีบัตรเสีย 936,209 ใบ โดยมีผู้ร่วมลงประชามติ 29,740,677 คน คิดเป็น 59.4% ของผู้มีสิทธิออกเสียง
ทั้งนี้ ในรัฐธรรมนูญมีบทเฉพาะกาลที่กล่าวถึงการให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภาร่วมลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งในการลงประชามติมีผู้เห็นชอบบทเฉพาะกาล 15,132,050 หรือ 58.07% และ ไม่เห็นชอบ 10,926,648 หรือ 41.93% และมีบัตรเสีย 3,681,979 ใบ
ต่อมาในวันที่ 6 เมษายน 2563 รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจึงถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการ แต่ในวันที่ 10 ธันวาคม 2560 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีรับสั่งให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับผ่านการลงประชามติ ในหมวดพระมหากษัตริย์ เรื่องพระราชอำนาจ
ทั้งนี้ก่อนการประชามติมีประชาชนที่เคลื่อนไหวรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ แต่ถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีในข้อหาต่างๆ โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รวบรวมข้อมูล และพบว่า มีประชาชนอย่างน้อย 212 คน ที่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการประชามติ การประชามติที่ห้ามการรณรงค์ให้ความรู้โดยประชาชน จึงถูกโจมตีว่า เป็นการประชามติที่ไม่อิสระและเสรี ขณะที่ การให้ คสช. เป็นผู้เลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และ ส.ว. มีสิทธิลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี ก็เป็นประเด็นที่ถูกกล่าวหาว่า เป็นความบกพร่องของรัฐธรรมนูญ
องค์กรสิทธิฯ เรียกร้องรัฐบาลยุติการฟ้องร้องอนาคตใหม่
ในวันเดียวกันนี้ องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ออกแถลงการณ์ เพื่อเรียกร้องให้ทางการไทยยกเลิกข้อกล่าวหากับอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกยุบพรรคไปแล้ว พร้อมทั้งขอให้รัฐบาลสหรัฐฯ สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และรัฐบาลอื่น ๆ เรียกร้องให้ทางการไทยยุติการฟ้องร้องและยุบพรรคอนาคตใหม่โดยไม่เป็นธรรม
เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 คณะกรรมการการเลือกตั้ง “ได้พิจารณาข้อเท็จจริง พยานหลักฐานและพฤติการณ์ในสำนวนการไต่สวน ประกอบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องดังกล่าวข้างต้นแล้ว เห็นว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งประกอบกิจการสื่อมวลชน อยู่ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 โดยเป็นวันที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นบัญชีรายชื่อ ผู้สมัครรับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง” เอกสารข่าว กกต.ระบุ
“กกต. จะยื่นหลักฐานเอาผิดทางอาญากับนายธนาธร ต่อพนักงานสอบสวน เนื่องจากเชื่อว่า นายธนาธรรู้ว่าตนเองไม่มีคุณสมบัติที่จะสมัครลงรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้แต่ยังฝ่าฝืน “พระราชบัญญติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 151”
ทั้งนี้ หากนายธนาธร ถูกตัดสินว่าผิดจริง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 2 หมื่น ถึง 2 แสนบาท และศาลอาจสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปีได้
“เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญได้ยุบพรรคอนาคตใหม่อย่างไม่ถูกต้อง นายธนาธรยังถูกดำเนินคดีทางกฎหมายโดยไม่เป็นธรรม จากหน่วยงานที่เต็มไปด้วยบุคลากรที่ถูกแต่งตั้งโดยทหาร” แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าว
“ด้วยการกำจัดพรรคฝ่ายค้านและคุกคามผู้นำของพวกเขาด้วยระวางโทษจำคุก รัฐบาลไทยกำลังทำตามประเทศเพื่อนบ้านที่ปกครองแบบเผด็จการ บริหารด้วยพรรคเดียว เป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย หรือหลักการเคารพสิทธิมนุษยชน”
“ประชาธิปไตยถูกคุกคามอย่างต่อเนื่อง และผู้นำประเทศประชาธิปไตยของโลกได้มองข้าม เนื่องจากความสัมพันธ์ที่มีกับประเทศไทยทางธุรกิจ ความมั่นคง และการข่าวกรอง” นายอดัมส์กล่าวในแถลงการณ์
“ระบบสองมาตรฐานเช่นนี้ควรยุติ”