อานนท์ เดินหน้าปราศรัยเรื่องสถาบันกษัตริย์
2020.08.10
กรุงเทพฯ

นายอานนท์ นำภา ทนายความนักต่อต้านรัฐบาล ยืนยันต่อเบนาร์นิวส์ ในวันจันทร์นี้ว่า จะเดินหน้าปราศรัยเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อไป แม้ว่าศาลอาญาจะมีเงื่อนไขการประกันตัวว่า ห้ามผู้ได้รับการประกันตัวกระทำผิดซ้ำกับข้อหาเดิมที่นำไปสู่การถูกจับกุม เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เมื่อวันศุกร์ (7 สิงหาคม 2563) ที่ผ่านมา นายอานนท์ และ นายภานุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวและนำไปแจ้งข้อกล่าวหาที่ สน.สำราญราษฎร์ ก่อนที่จะถูกนำตัวไปสอบสวน และขออำนาจศาลอาญา รัชดาภิเษก เพื่อฝากขัง แต่ศาลไม่รับคำร้องจากนั้น จนเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องควบคุมตัวทั้งสองคนต่อที่ สน.ห้วยขวาง เป็นเวลา 1 คืน และศาลฯ ได้พิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวในวันเสาร์ โดยศาลระบุเงื่อนไขว่า ห้ามกระทำผิดซ้ำกับที่ถูกกล่าวหาอีก
ในวันจันทร์นี้ นายอานนท์ และ นายภานุพงศ์ จาดนอก ได้ขึ้นเวทีปราศัยต่อหน้านักศึกษาและประชาชน กว่า 5,000 คน ที่ “กลุ่มประชาชนปลดแอก” ได้จัดการชุมนุมที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่
“เหตุผลที่ผมต้องเคลื่อนไหวเรื่องสถาบันกษัตริย์ เพราะผมเห็นว่า ผมต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ซึ่งพูดในกรอบของกฎหมายด้วยความเคารพ และความมุ่งหมายที่ดีกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เห็นว่า การพูดเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาด้วยเหตุผล ดีกว่าการพูดแซะ” นายอานนท์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ก่อนขึ้นเวที
ในที่ชุมนุม มีนักศึกษาจำนวนหนึ่งถือป้ายภาพของ นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ชาวจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งหลบหนีการจับกุมของรัฐบาลไทยไปอยู่ในประเทศกัมพูชา แล้วถูกลักพาตัวโดยกลุ่มบุคคลติดอาวุธ จากหน้าคอนโดมิเนียมที่พัก ในกรุงพนมเปญ เมื่อต้นเดือนมิถุนายน พร้อมทั้งชูสามนิ้วเป็นสัญญลักษณ์การต่อต้านอำนาจรัฐ
“พวกเราอยากให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ ที่เปิดโอกาสให้คนมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและตรวจสอบได้ รัฐบาลนี้ไม่สนใจประชาชนที่อยู่ต่างจังหวัด คนยากจน ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เอาเปรียบ” นางสาวเชอร์รี่ (ชื่อเล่น-ขอสงวนนามสกุล) กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
ด้าน ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต ออกแถลงชี้แจง ขออภัยและน้อมรับผิดในสิ่งที่เกิดขึ้น เนื่องจากการจัดชุมนุมวันที่ 10 สิงหาคมนี้ ในนาม 'กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม' ที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และปรากฎว่าในช่วงท้ายของการชุมนุม มีผู้ปราศรัยบางคนแสดงออกในทางที่เลยขอบเขตไป จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก
ผศ.ดร.ปริญญา ระบุว่า การแสดงออกควรต้องอยู่ในขอบเขตของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยเฉพาะควรพึงระวังเรื่องละเอียดอ่อน และที่จะนำมาซึ่งความแตกแยกในสังคม
ทั้งนี้ นายอานนท์ และนายภานุพงศ์ เป็นสองผู้ต้องหาเกี่ยวกับการชุมนุมของกลุ่มประชาชนปลดแอก ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกหมายจับในความผิด มาตรา 116, มาตรา 215 และ มาตรา 385 ของประมวลกฎหมายอาญา, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ. โรคติดต่อฯ, พ.ร.บ.จราจรทางบก, พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ และ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่ได้ดำเนินคดีจับกุมผู้ต้องหารายอื่น
ด้าน นายวีรนันท์ ฮวดศรี ทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งว่าความให้ นายอานนท์ เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ ว่า ตนเห็นว่า ข้อเรียกร้องของการชุมนุม คือ ยุบสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ หยุดคุกคามประชาชน ไม่ขัดต่อกฎหมายและเงื่อนไขการประกัน ดังนั้น การร่วมชุมนุมของทนายอานนท์ และไมค์ จึงสามารถทำได้ ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังไม่ได้มีการนัดวันส่งตัวให้พนักงานอัยการ
นอกจากนั้น ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา หลังได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว นายอานนท์ ได้ไปร่วมการชุมนุม และปราศรัยเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมิได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าขัดขวาง หรือจับกุมตัว แต่นายอานนนท์ระบุว่า มีเจ้าหน้าที่ติดตามการเดินทางและถ่ายรูปตนเอง
ขณะเดียวกัน ในช่วงเย็นวันอาทิตย์ เฟซบุ๊กแฟนเพจ “พิษณุโลกคนกล้าไม่ก้มหน้าให้เผด็จการ” เขียนข้อความระบุว่า คณะผู้จัดการชุมนุมที่พิษณุโลก ถูกกลุ่มบุคคลที่อ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเข้าควบคุมตัว ยึดโทรศัพท์มือถือ และเกลี้ยกล่อมให้ยกเลิกการจัดการชุมนุม ซึ่งแต่เดิมกำหนดจะจัดในเย็น วันที่ 9 สิงหาคม 2563 ต่อมา คณะผู้จัดงาน 5 คนได้รับการปล่อยตัวในช่วงเวลาประมาณ 21.00 น. อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยในวันจันทร์ว่า ได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวแล้ว และยืนยันว่า ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการดังที่แฟนเพจดังกล่าวระบุ
อาชีวะฯ ชุมนุมหน้ารัฐสภา เรียกร้องรัฐปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์
ในช่วงเช้าวันจันทร์ มีกลุ่มผู้ชุมนุมสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเป็น ประชาชนหลายสิบคนจาก ศูนย์กลางประสานนักศึกษาอาชีวะ ประชาชนปกป้องสถาบัน (ศอปส.) ได้จัดการชุมนุมที่หน้ารัฐสภา เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการกับกลุ่มบุคคลที่จาบจ้วงล่วงเกินสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยจะจัดตั้ง ศอปส. ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อแจ้งเตือนปัญหาดังกล่าวโดยสันติวิธีทั่วประเทศ
“มีบุคคลกลุ่มนึง ยุยงให้เด็กที่ยังไม่ได้บรรลุนิติภาวะ ออกมาเคลื่อนไหวโจมตีทหารและรัฐบาล โดยนำสถาบันพระมหากษัตริย์เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย การกระทำแบบนี้ นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นถึงขนาดจะล้มล้างระบอบการปกครอง.. กลุ่มนักเรียนอาชีวะที่ยังศึกษาอยู่ และที่สำเร็จการศึกษาไปแล้ว และประชาชน เห็นว่าถึงเวลาที่ต้องรวมตัวกันออกมาทักท้วงบุคคลเหล่านั้น ที่ใช้เยาวชนเป็นเครื่องมือทำลายชาติ.. ให้เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการตามกฎหมายต่อบุคคลที่หมิ่นสถาบัน” นายสุเมธ ตระกูลวุ่นหนู ผู้ประสานงาน ศอปส. กล่าว
ส่วนอีกฝ่ายหนึ่ง ที่ตั้งคณะอยู่ไม่ห่างกันเท่าไร คือ คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ก็จัดการชุมนุมที่หน้ารัฐสภา เช่นเดียวกัน โดยยื่นร่าง พ.ร.บ.ประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้แก่รัฐสภา และระบุว่า รัฐธรรมนูญจำเป็นต้องเขียนขึ้นใหม่ทั้งฉบับ ไม่ใช่เพียงแค่แก้ไขบางมาตรา เช่นที่รัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาล ระบุก่อนหน้านี้
เจ้ากระทรวงดีอีเอส หาทางปิดกั้นข้อมูลออนไลน์
ด้าน นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) เปิดเผยแก่สื่อมวลชน ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า การชุมนุมของทุกกลุ่มสามารถทำได้บนพื้นฐานของกฎหมายและความสันติ ขณะเดียวกัน ดีอีเอส กำลังดำเนินการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ที่หมิ่นสถาบันและเรื่องอื่น ๆ อยู่
“ถ้าไม่ได้ผิดกฎหมายหรือละเมิด ก้าวล่วงถึงสถาบันหลัก ผมก็ติดตามเฉย ๆ แต่ถ้าไปล่วงเกินผมยืนยันว่า เราดำเนินคดีแน่นอน” นายพุทธิพงษ์ กล่าว
“ตอนนี้ เราเปิดช่องทางออนไลน์ให้ประชาชนส่งข้อมูล... 7 วัน ที่ผ่านมา มีประมาณหลายพันเรื่อง เราส่งศาลไป 700 กว่าเรื่อง เมื่อศาลมีคำสั่งออกมา เราก็จะดำเนินการส่งให้กับแพลตฟอร์มต่างประเทศ ช่วยปิดหรือลบ ใช้กฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 27 ถ้าเฟซบุ๊ก ยูทูบ ทวิตเตอร์ ภายใน 15 วัน ไม่ดำเนินการ ก็จะเริ่มดำเนินคดี ซึ่งวันนี้จะเป็นวันแรกที่ส่งจดหมายเตือน” นายพุทธิพงษ์ กล่าว
การชุมนุมของประชาชนที่เรียกร้องให้รัฐบาล หยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และยุบสภา เริ่มขึ้นครั้งแรก โดยกลุ่มเยาวชนปลดแอก ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ซึ่งการชุมนุมครั้งแรกมีประชาชนเข้าร่วมกว่า 2 พันคน ต่อมาเกิดการชุมนุมในลักษณะเดียวกันในหลายจังหวัด และหลายสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ต่อเนื่องกันจนถึงปัจจุบัน โดยจะมีการจัดชุมนุมใหญ่อีกครั้งที่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันที่ 16 สิงหาคม 2563
ในอดีต ประเทศไทยเคยมีการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองมาแล้วหลายครั้ง เช่น ช่วงเดือนตุลาคม 2516 และ ตุลาคม 2519 โดยกลุ่มนิสิต-นักศึกษา, พฤษภาคม 2535 โดยกลุ่มประชาชน นิสิต นักศึกษา รวมถึงนักการเมือง, ปี 2548 และปี 2551 โดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.), ปี 2552-2553 โดยแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.), ปี 2556-2557 โดยสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และช่วงระหว่าง ปี 2557-2562 โดยกลุ่มนักศึกษา และประชาชน คนอยากเลือกตั้ง ซึ่งในการชุมนุมแต่ละครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต จากการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ร่วมชุมนุม และภายหลังได้มีการดำเนินคดีกับผู้ร่วมชุมนุมในหลายกรณี
นนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพฯ มีส่วนร่วมในรายงาน