คณะราษฎรยืนยัน ประยุทธ์ต้องลาออก และจะไม่ร่วมคณะกก.ปรองดอง-สมานฉันท์

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2020.11.04
กรุงเทพฯ
201104-TH-protests-democracy-1000.jpg พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ท่ามกลางฝูงชนระหว่างการเยือนภูเก็ต เพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 วันที่ 3 พฤศจิกายน 2563
ทำเยียบรัฐบาล/เอเอฟพี

ในวันพุธนี้ คณะราษฎรแถลงการณ์เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง และยืนยันว่า จะไม่เข้าร่วมคณะกรรมการปรองดอง-สมานฉันท์ ซึ่งรัฐสภาจะจัดตั้งขึ้น ด้านศาลรัฐธรรมนูญได้นัดฟังคำวินิจฉัยกรณีคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันที่ 2 ธันวาคม 2563 จากกรณีการพักในบ้านพักทหารหลังเกษียณอายุราชการ

แกนนำจากหลายกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองในนามคณะราษฎร รวมตัวกันที่ท้องสนามหลวง และตั้งโต๊ะแถลงข่าวถึง ข่าวที่รัฐบาลพยายามจะตั้งคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ว่า คณะราษฎรไม่เห็นว่าการตั้งคณะกรรมการดังกล่าวจะสามารถแก้ปัญหาได้ และยืนยัน 3 ข้อเรียกร้องเดิม

“เราขอประกาศจุดยืนว่า จะไม่ยอมรับ และจะไม่สังฆกรรมกับคณะกรรมการที่ฝ่ายรัฐบาลจะจัดตั้งขึ้น และขอยืนยันว่าปัญหาทั้งปวงของประเทศชาติจะเริ่มต้นมิได้เลย หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ พวกเราขอยืนยันในข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อดังต่อไปนี้ 1. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2. ต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 3. ต้องมีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ… ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ” คณะราษฎร อ่านประกาศ

"ฝ่ายรัฐบาลได้เสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการปรองดอง-สมานฉันท์ขึ้น… พวกเราเห็นว่า การจัดตั้งคณะกรรมการดังกล่าวมิอาจนำมาซึ่งหนทางแก้ปัญหาใดๆดังที่กล่าวอ้างได้ เพราะแท้จริงแล้ว การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นอุปสรรคประการใหญ่ที่สุดที่ขัดขวางการแก้ไขปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมทั้งปวงของประเทศชาติ… คณะกรรมการดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงละครทางการเมืองของฝ่ายรัฐบาล เพื่อซื้อเวลาให้ พล.อ.ประยุทธ์เพียงเท่านั้น” ตอนหนึ่งของแถลงการณ์ ระบุ

นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน แกนนำคณะราษฎร ชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จำเป็นต้องลาออกก่อน การพูดคุยจึงจะเกิดขึ้น

“เราเห็นชัดแล้วว่า รัฐสภาที่เปิดที่ผ่านมาไม่ได้ปกป้องประชาชนเลย และสิ่งที่สำคัญคือเขาปกป้อง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพียงเท่านั้น เพราะฉะนั้นถ้าจะถอยคนละก้าวจริง ๆ หรือต้องการเจรจาจริง ๆ สิ่งแรกที่เขาต้องทำคือ ยอมรับข้อเสนอของพวกเรา เพราะถ้าประยุทธ์ ลาออกก็จะเกิดการเจรจาในรัฐสภา พูดถึงการแก้ไข ร่างใหม่ของรัฐธรรมนูญ เสียงบนท้องถนนจะเข้าไปสู่รัฐสภา ประยุทธ์ ส.ว. 250 เป็นอุปสรรคของสังคมไทยมาก” นายจตุภัทร์ กล่าว

ขณะที่ นายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือ ครูใหญ่ แกนนำกลุ่มขอนแก่น ระบุว่า ข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อให้เกิดความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

“ขอเชิญชวนพี่น้องทุกฝักทุกฝ่ายร่วมปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เป็นประชาธิปไตย เพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่คู่กับสังคมไทยได้อย่างยั่งยืน และสง่างาม การกระทำใดที่รัฐบาล ศาล หรือรัฐสภา ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ออกห่างจากการเป็นประชาธิปไตย ย่อมเป็นการกระทำอันชั่วช้า สิ่งนั้นจึงต้องถูกกำจัดออกไป” นายอรรถพล กล่าว

วานนี้ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในฐานะประธานรัฐสภา เปิดเผยหลังจากการประชุมร่วมตัวแทนฝ่ายต่างๆในรัฐสภา ระบุว่า รัฐสภาจะเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการปรองดอง-สมานฉันท์เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเบื้องต้นได้ทาบทามอดีตนายกรัฐมนตรีมาเข้าร่วมปรึกษาหารือแล้ว

“รูปแบบที่หนึ่ง ก็เป็นไปตามที่เสนอ ของท่านรองนายกรัฐมนตรีจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ ก็การที่มีผู้แทนจากฝ่ายต่าง ๆ จากผลประชุมทั้งเจ็ดฝ่าย ฝ่ายผู้แทนราษฎร ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ตัวแทนรัฐบาล ตัวแทนวุฒิสภา และตัวแทนขององค์กรอื่น ซึ่งรูปแบบดังกล่าวนี้ ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งปฏิเสธไม่รับองค์ประชุมก็จะไม่ครบ รูปแบบที่สองเป็นรูปแบบมีคนกลาง ซึ่งมาจากการเสนอโดยฝ่ายต่างๆ หรือประธานรัฐสภาเป็นผู้สรรหา หรือ ประเทศรัฐสภาเป็นผู้แต่งตั้งประธานกรรมการแล้วประธานผู้นั้นไปสรรหากับประเทศมา ทั้งสองแบบมันมีจุดอ่อนจุดแข็งของการทำงานอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น” นายชวน ระบุ

นายชวนระบุว่า สำหรับการดำเนินการโครงการปรองดอง-สมานฉันท์ เป็นแนวทางที่รัฐสภาได้มอบหมายให้สถาบันพระปกเกล้าเป็นผู้ออกแบบและเสนอมายังรัฐสภา โดยเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการชุดละ 7-9 คน โดยกรรมการจะประกอบด้วย 2 รูปแบบ คือ ตัวแบบที่ 1 เป็นผู้แทนจากฝ่ายต่าง ๆ จากผลการประชุมของรัฐสภา คือ 5 ฝ่าย แต่ไม่รวมผู้ชุมนุม และผู้ต่อต้านการชุมนุม เพื่อลดการเผชิญหน้า หรือ 7 ฝ่ายซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจ หรือ 7 ฝ่ายซึ่งไม่ใช่ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจ แต่ได้รับการยอมรับจากแต่ละฝ่าย

ตัวแบบที่ 2 เป็นผู้แทนคนกลาง ซึ่งถูกเสนอโดยทุกฝ่าย มีประธานรัฐสภาเป็นผู้คัดสรร หรือประธานรัฐสภาเป็นผู้แต่งตั้งประธานคณะกรรมการ และให้ประธานคณะกรรมการเป็นผู้คัดเลือกกรรมการเองเบื้องต้นได้ ติดต่อไปยัง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีแล้ว

โดยในวันพุธนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในการแถลงข่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า รัฐบาลจำเป็นต้องใช้รัฐสภาในการแก้ไขปัญหา

“ผมรับฟังความคิดเห็นทุกคน ทุกคน ทุกพวกทุกฝ่าย แต่รัฐบาลก็จำเป็นต้องใช้กลไกในการบริหารปกติของรัฐบาล กลไกของรัฐสภาในการแก้ปัญหา นั่นคือสิ่งที่รัฐบาลทุกรัฐบาลจำเป็นต้องยึดมั่น ก็อาศัยกระบวนการยุติธรรมต่างๆที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ก้าวล่วงซึ่งกันและกันมิได้… ทุกอย่างมันต้องเริ่มต้นด้วยความสงบเรียบร้อย มันถูกต้อง มีวัฒนธรรมมีอัตลักษณ์ มีประเพณี สิ่งเหล่านี้มันจะทำให้ประเทศชาติเราเข้มแข็งต่อไปในอนาคต” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ต่อการตั้งคณะกรรมการปรองดอง-สมานฉันท์ นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เชื่อว่า ทางออกที่ง่ายที่สุดของรัฐบาลคือ แสดงเจตจำนงให้ชัดเจนว่าจะแก้รัฐธรรมนูญเรื่องอำนาจ ส.ว.

“วิธีการที่จะลดความตึงเครียดของสถานการณ์ได้ดีที่สุดคือ รัฐควรแสดงความชัดเจนว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องอำนาจ ส.ว. ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าจะง่ายที่สุดและเบาที่สุดที่สามารถทำได้ และเพื่อทำให้การเมืองเป็นระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น ตามที่กลุ่มผู้เรียกร้องต้องการ” นายฐิติพล กล่าว

ขณะที่ นายอนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับรัฐบาล คือ พล.อ.ประยุทธ์ จำเป็นต้องลาออก

“ทางออก คือ พลเอกประยุทธ์ต้องลาออก เพื่อรับผิดชอบปัญหาที่ตนเองทำให้มาถึงตรงนี้… ผู้ชุมนุมเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีต้องลาออก ก่อนหน้านี้ รัฐสภา ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็น คือ การคลี่คลายปัญหาด้วยการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้คนรู้สึกว่าปัญหาไม่สามารถคลี่คลายได้” นายอนุสรณ์ กล่าวเพิ่มเติม

ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังวินิจฉัยคุณสมบัติ นายกฯ และรมว. กลาโหม ของพล.อ.ประยุทธ์ 2 ธ.ค. 63

ในวันเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสารนัดประชุมพิจารณาคำร้องของประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ

จากผลการพิจารณา ศาลเห็นว่า คดีนี้มีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวน และกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติ และอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟัง ในวันพุธที่ 2 ธันวาคม 2563 เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป

การนัดวินิจฉัยดังกล่าว สืบเนื่องจากการที่ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส. จังหวัดเชียงใหม่ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยกับคณะ ได้ยื่นคำร้องต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการเป็นนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ เนื่องจากเมื่อดำรงตำแหน่ง ยังอยู่บ้านพักทหารทั้งที่ไม่มีสิทธิ์การพักอาศัย เพราะเกษียณอายุราชการไปแล้ว ซึ่งอาจเป็นการกระทำขัดกันแห่งผลประโยชน์

ด้าน สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้ชี้แจงผ่านเว็บไซต์ cofact.org ปฏิเสธข่าวลือที่ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ เขียนข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจส่วนตัว อ้างว่า สำนักงานข่าวกรองกลางของสหรัฐอเมริกา (CIA) ดำเนินการเรื่องการลี้ภัยให้กับแกนนำคณะราษฎร เพื่อให้ลี้ภัยไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาว่า เรื่องราวดังกล่าวไม่เป็นความจริง

“ขณะนี้มีการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนจำนวนมาก ที่กล่าวหาว่า สหรัฐอเมริกามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองของไทย เมื่อเร็ว ๆ นี้มีข้อกล่าวอ้างเกี่ยวกับการลี้ภัยทางการเมืองในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นข้อมูลเท็จโดยสิ้นเชิง ข้อกล่าวอ้างดังกล่าว ยังแสดงให้เห็นถึงการขาดความเข้าใจอย่างแท้จริงเกี่ยวกับกระบวนการลี้ภัยในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากผู้แสวงหาที่ลี้ภัยจะต้องอยู่ในสหรัฐฯ แล้วเท่านั้น จึงจะขอสถานะผู้ลี้ภัยได้ หน่วยงานที่รับผิดชอบกระบวนการรับรองสถานะผู้ลี้ภัย คือ หน่วยงานสัญชาติและตรวจคนเข้าเมืองอเมริกา (U.S. Citizenship and Immigration Services) โดยหน่วยงานอื่น ๆ ของสหรัฐฯ ไม่อาจดำเนินการดังกล่าวได้” สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ระบุ

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ มีส่วนร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง