สาการียา แวกาจิ แกนนำอาร์เคเค เข้ามอบตัวต่อทางการ
2016.11.15
ยะลา

ในวันอังคาร (15 พ.ย. 2559) นายสาการียา แวกาจิ แกนนำอาร์เคเคระดับสั่งการ ได้เดินทางเข้ามอบตัวที่สำนักงานตำรวจภูธรจังหวัดยะลา โดยได้กล่าวว่า หลังจากถูกออกหมายจับตั้งแต่หลายปีก่อน ซึ่งทำให้ตนเองและครอบครัวได้รับความลำบากในการใช้ชีวิต เมื่อปรึกษาสมาชิกครอบครัวจึงได้ตัดสินใจเข้ามอบตัวเพื่อเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย
นายสาการียา แวกาจิ อายุ 33 ปี แกนนำอาร์เคเคระดับสั่งการ (กลุ่มกำลังติดอาวุธขนาดเล็ก) เป็นผู้ต้องหาในหมายจับ ป.วิอาญา ที่ จส.381/2550 ลงวันที่ 26 กันยายน 2550 และหมายจับที่ จส. 122/2552 ลงวันที่ 27 มีนาคม 2552 ในข้อหาร่วมกันก่อการร้าย วางเพลิงสถานที่ราชการ มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่ทางราชการไม่สามารถออกใบอนุญาตได้
นายสาการียา ได้เดินทางเข้ามอบตัวในวันอังคารนี้ โดยการประสานงานของนายยะฟาร์ ยะโก๊ะ กำนันตำบลบาละ และมี พ.ต.อ.กฤษฎา แก้วจันดี รักษาราชการแทน ผู้บังคับการสำนักงานตำรวจภูธร จังหวัดยะลา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ทหารและฝ่ายปกครอง เป็นผู้รับมอบตัว
นายสาการียา ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ใน ต.บาละ อ.กาบัง จ.ยะลา เปิดเผยหลังการมอบตัวว่า ตนตัดสินใจเข้ามอบตัวครั้งนี้ หลังจากได้ปรึกษากับสมาชิกครอบครัว โดยหวังว่า หากเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายจะทำให้ตนเองสามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติ และไม่ต้องหลบซ่อนอีกต่อไป
“ผมต้องอยู่อย่างหลบซ่อนตัวตลอด หลังตกเป็นผู้ต้องหามีเจ้าหน้าที่ติดตามตัวมาตลอด ก็ได้หนีออกนอกพื้นที่ไปอยู่กับเพื่อน ที่ผ่านมาต้องเจอกับความยากลำบาก อดมื้อกินมื้อ ทางครอบครัวได้หารือร่วมกันให้มอบตัว ก็ตกลงและ ติดต่อนายยะฟาร์ ยะโก๊ะ กำนันตำบลบาละ ช่วยประสานเจ้าหน้าที่” นายสาการียา กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว
ต่อการมอบตัวของนายสาการียาครั้งนี้ เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองซึ่งปฎิบัติการในพื้นที่กล่าวต่อเบนาร์นิวส์ว่า สมาชิกกลุ่มขบวนการบางรายเริ่มมีความคิดที่จะเข้ามอบตัว เพื่อให้หลุดพ้นจากความยากลำบากในการดำเนินชีวิต
“ทุกคนที่อยู่ในขบวนการเริ่มเข้าใจชีวิตในสภาพความเป็นจริงมากขึ้น เมื่อต้องมาเห็นครอบครัวลำบาก เจอกับปัญหาหลายๆ อย่าง ในขณะที่ตัวเองต้องหนีไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้ ในขณะที่ผู้สั่งการที่เขาพอรู้จักกลับอยู่บ้านใหญ่โต มีเงินมากมายเชิดคอชูตาในสังคมก็ทำให้คิดได้ อยากให้เด็กรุ่นใหม่ดูเป็นตัวอย่าง” เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวระบุ
จากสถิติพบว่า การมอบตัวของสมาชิกกลุ่มขบวนการต่อเจ้าหน้าที่รัฐ เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2550 ในอำเภอยะหา จังหวัดยะลา มีกลุ่มแนวร่วมทั้งชายและหญิง ในพื้นที่ตำบลปะแต เข้ามอบตัว 126 คน ต่อมาในวันที่ 11 มกราคม 2551 กลุ่มแนวร่วมจากบ้านอุเบง มาแบ ตำบลปะแต เข้ารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ 122 คน และ ในวันที่ 7 มีนาคม 2551 แนวร่วมจาก ม.1 บายอ กว่า 80 คน จากกลุ่มอุลาเมาะ (แกนนำศาสนา) อาเยาะ (แกนนำระดับหมู่บ้าน) และอาร์เคเค (หน่วยจรยุทธ์) ได้เดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่ เฉพาะ 3 ครั้งดังกล่าว รวมกันได้ 328 คน
จากข้อมูลของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาค 4 ส่วนหน้า ในช่วงที่ผ่านมา มีสมาชิกกลุ่มขบวนการในหลายพื้นที่ ได้เข้าพบเจ้าหน้าที่อีกจำนวนหนึ่ง และมีผู้เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน ซึ่งเป็นโครงการที่กองทัพบกร่วมมือกับคนในชุมชนเพื่อชักชวนให้ผู้ที่เป็นผู้ต้องสงสัยหรือผู้ที่มีหมายจับ เข้ารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่แล้วไม่ต่ำกว่า 4,000 ราย
ทั้งนี้ ทางการไทยได้ประมาณตัวเลขกองกำลังขบวนการปฏิบัติการของฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบไว้ที่ 9,000 ราย