นายกรัฐมนตรี:ปรองดองไม่นิรโทษกรรม ไม่สัญญาเลิกรัฐประหาร
2017.02.14
กรุงเทพฯ

ในวันอังคาร (14 กุมภาพันธ์ 2560) นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยต่อสื่อมวลชนถึงการดำเนินการตามแผนปรองดองว่า รัฐบาลจะไม่ทำการนิรโทษกรรมให้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เนื่องจากไม่ต้องการละเว้นการใช้กฎหมาย และทหารจะไม่มีการเซ็นสัญญาเลิกทำรัฐประหาร โดยในวันเดียวกันที่กระทรวงกลาโหม ประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง โดยเชิญตัวแทนพรรคการเมือง 3 พรรคแรก มาพูดคุยใน 10 ประเด็นสำคัญ
“การปรองดองไม่ใช่เรื่องนิรโทษ แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง ต้องไปพูดว่าสาเหตุมาจากไหน ไปแก้ปรองดองตรงโน้น ทุกคนมองปลายเหตุหมด ปลายเหตุมาถึงตรงนี้ ทำให้ทหารต้องปฎิวัติ มันเกิดจากอะไร ไปแก้ตรงโน้น เขาเรียกการปฎิรูป การเดินยุทธศาสตร์ชาติ เรียกการปรองดองทุกมิติ และการปรองดองที่ต้นเหตุ เรื่องระบบประชาธิปไตยที่มีปัญหา เรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม เรื่องของการศึกษาที่มันไม่มีหลักคิด” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ส่วนเรื่องการที่มีพรรคการเมืองบางพรรคเรียกร้องให้ทหารเซ็นบันทึกความเข้าใจว่า จะไม่ทำรัฐประหารอีกนั้น พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า
“ไม่ต้องจับทหารไปทำสัญญาอะไรกับใคร ท่านทำสัญญากับท่านเองกับประชาชนให้ได้ว่า จะไม่ทำให้บ้านเมืองเสียหายอีก ผมไม่ได้หมายความว่าจะมีหรือไม่มีนะ (มีรัฐประหาร) ผมยืนยันว่าไม่มีใครอยากทำ มันเสี่ยงอันตราย ถ้าไม่สำเร็จก็เดือดร้อนกันหมด... การปรองดองขณะที่ยังใช้กฎหมายเต็มรูปแบบมันค่อนข้างจะยาก แต่ผมก็จะทำให้ได้ แต่ผมก็ละเว้นกฎหมายไม่ได้”
ด้าน พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ได้เชิญพรรคการเมืองมาร่วมพูดคุยเป็นครั้งแรกโดยเรียกตามตัวอักษรชื่อพรรค ในวันนี้มีตัวแทนจากพรรคความหวังใหม่ เครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทย และพรรคคนธรรมดาแห่งประเทศไทย เข้าร่วมพูดคุยภายใต้กรอบกฎหมายรัฐธรรมนูญและแนวทาง 10 ด้าน ที่คณะกรรมการ ป.ย.ป. ได้กำหนดคือ 1. ด้านการเมือง 2. ด้านความเหลื่อมล้ำ 3. ด้านกฎหมาย 4. ด้านสังคมเศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุข 5. ด้านสื่อมวลชน 6. ด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 7. ด้านการต่างประเทศ 8. ด้านป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น 9. ด้านการปฏิรูป และ 10. ด้านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นอกจากนี้ ยังเพิ่มเติมในเรื่องการเสนอความเห็นเกี่ยวกับวิธีแก้ปัญหา และการหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติในอนาคตด้วย
โดยภายหลังจากการพูดคุย พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหมเปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ยังไม่มีการเปิดเผยความคืบหน้าอย่างเป็นทางการในวันนี้ แต่จะมีการแถลงผลการพูดคุยทุกวันพุธ และวันศุกร์ และห้ามตัวแทนพรรคการเมืองให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนในพื้นที่กระทรวงกลาโหม เพื่อความเรียบร้อย
ทางด้านนายชิงชัย มงคลธรรม หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ เปิดเผยต่อสื่อมวลชนหลังการพูดคุยว่า ทหารฟังความคิดเห็น ทำให้บรรยากาศพูดคุยเป็นไปอย่างดี แต่ตนเองเชื่อว่า การปรองดองจะเกิดขึ้นได้ ต้องคืนอำนาจประชาธิปไตยโดยเร็ว และสร้างความสามัคคีในชาติด้วยประชาธิปไตย หากเป็นเผด็จการก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และยืนยันว่าการนิรโทษกรรมไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหา เพราะเป็นการกระทำความผิดเฉพาะคน และเฉพาะกลุ่ม และความผิดทางอาญาไม่สามารถนิรโทษกรรมได้
ความคิดเห็นนักวิชาการต่อการปรองดอง
รศ.ดร.โคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า เห็นด้วยกับแนวทางที่รัฐบาลจะเชิญทุกฝ่ายเข้าพูดคุยเพื่อแสวงหาความปรองดอง แต่เชื่อว่ารัฐบาลต้องเชิญให้ครอบคลุมทุกกลุ่มอย่างแท้จริงจึงจะเกิดผล
“อยากจะเสนอแนะเพิ่มเติมว่าการดำเนินการ 1. ต้องเชิญให้ครบทุกฝ่าย 2. ดำเนินการในหลายระดับ ระดับชาติ ระดับกลาง และให้คนระดับรากหญ้าได้พบปะพูดคุยกัน กระบวนการน่าจะเป็นกระบวนการสื่อสารสองทาง แต่ไม่ใช่สื่อสารกันคนละที มันควรจะมีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นไขว้กันไปมาจากกลุ่มที่มีความหลากหลาย” รศ.ดร.โคทมกล่าว
ขณะเดียวกัน ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรองดองผ่านเบนาร์นิวส์ว่า ไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อหาแนวทางปรองดอง
“ผมไม่เห็นด้วยกับการที่จะมีกิจกรรมปรองดอง หรือเอ็มโอยูปรองดอง เห็นว่ามันเป็นสิ่งไม่จำเป็น เพราะประเทศจะอยู่ได้ด้วยการยอมรับความแตกต่าง ความขัดแย้งจะแก้ด้วยตัวของมันเอง ผมมองว่าการที่จะมีกรรมการปรองดอง เป็นสิ่งที่ซ้ำซ้อนที่เราเคยทำมาแล้ว อย่างรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ ก็มีคณะอาจารย์คณิต(ดร.คณิต ณ นคร)ก็ใช้งบไปพันกว่าล้านบาท เราทำไมจะต้องกลับไปจุดนั้นอีก มองว่าข้อมูลปัญหาความขัดแย้งมีอยู่แล้ว” ดร.ฐิติพลกล่าว
“การยอมรับความแตกต่าง การบังคับใช้กฎหมายที่เท่าเทียมกัน มองว่าเป็นสิ่งสำคัญกว่าการตั้งกรรมการปรองดอง ทำเอ็มโอยูไม่ปฎิวัติ ให้นักการเมืองทำเอ็มโอยู ถ้าจะแก้ปัญหาความขัดแย้งจริงๆ น่าจะกลับไปสู่กระบวนการประชาธิปไตย และกระบวนการศึกษาต้องให้ข้อมูลที่เป็นกลาง เพราะข้อมูลประวัติศาสตร์ค่อนข้างเอนเอียง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่” ดร.ฐิติพลกล่าวเพิ่มเติม