กัปตันเรือไทยและลูกเรือเมียนมา ถูกตั้งข้อหานำพาคนต่างด้าว
2019.06.13
ปัตตานี

ในวันนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจในจังหวัดสตูล ได้แจ้งข้อหากัปตันเรือชาวไทยและลูกเรือชาวพม่าอีก 5 คน ตามข้อกล่าวหาว่ามีความผิดในการลักลอบนำพาชาวโรฮิงญา 65 คน มาเกยหาดหินที่เกาะระวี นอกชายฝั่งจังหวัดสตูล เมื่อวานนี้ โดยเจ้าหน้าที่ได้สอบสวนผู้ต้องหาทั้งหกราย และชาวโรฮิงญา เพื่อหาข้อมูลว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายการค้ามนุษย์ด้วยหรือไม่
หลังจากการสอบสวนในชั้นต้นในวันนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจในจังหวัดสตูล ได้นำตัวนายสมพงศ์ พาพันธ์ ชาวจังหวัดระนอง ผู้ต้องหา และผู้ต้องหาชาวเมียนมา อีก 5 คน ซึ่งยังไม่เปิดเผยชื่อ ไปฝากขังที่ศาลจังหวัดสตูล โดยได้คัดค้านการประกันตัว
พลตำรวจตรี ศุภวัฒน์ ทับเคลียว ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสตูล และ พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ จเรตำรวจ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อหานำพาบุคคลต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร แก่บุคคลทั้งหกเป็นที่เรียบร้อย
“เราได้แจ้งข้อกล่าวหาเพียงผู้นำพาผู้ต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรเท่านั้น” พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ จเรตำรวจแห่งชาติ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว
"มันก็ต้องดูหลักฐานอะไรเพิ่มเติมอีกหลายอย่าง เช่น ตั้งแต่จุดที่เรือประสบอุบัติเหตุ รวมทั้งผู้ต้องหาที่น่าจะเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด เรื่องนี้มี 6 รายด้วยกัน ซึ่งคัดแยกเป็นพม่า 5 คนไทย 1 คน มันจะเป็นขบวนการใหญ่หรือไม่ เราก็ยังไม่สามารถที่จะสรุปได้ในตอนนี้ แต่ดูจากข้อมูลที่ทางผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสตูลได้ทำการสอบสวนในเบื้องต้น น่าจะเป็นในรูปของขบวนการ" พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ กล่าวเพิ่มเติม
ด้าน พลตำรวจตรีศุภวัฒน์ กล่าวเสริมว่า "ขณะนี้ ได้มีการทำงานเกินร้อยละห้าสิบแล้ว หากพบว่ามีการเข้าค่ายขบวนการค้ามนุษย์ก็จะมีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมอีกครั้ง"
เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองสตูล กล่าวถึงการจัดการชาวโรฮิงญาอีก 65 คน ว่าได้นำกลุ่มผู้หญิงและเด็กจำนวน 21 คน นำมาฝากดูแลในพื้นที่ชั้นสองของสถานีตำรวจภูธรเมืองสตูล และกลุ่มโรฮิงญาในกลุ่มผู้ชาย นำไปดูแลที่สถานีตำรวจภูธรฉลุง และสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสตูล รวมทั้งหมดสามจุด ซึ่งมีทางเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสตูล ฝ่ายควบคุมโรค และเจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดสตูล มาช่วยดูแล คัดกรองสอบถามด้วย
และหลังจากนั้นได้นำชาวโรฮิงญาทั้ง 65 คน ที่เจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสตูล คัดกรองแล้ว ไปยังที่พักพิง ซึ่งตั้งอยู่ที่กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 436 ต.คลองขุด อ.เมือง จ.สตูล พร้อมทำประวัติส่วนตัวไว้เป็นหลักฐาน
ในเรื่องนี้ นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล กล่าวว่า ยังไม่เปิดศูนย์พักพิงโรฮิงญาอย่างเป็นทางการ
การโยกย้ายถิ่นฐานชาวโรฮิงญายังไม่ยุติ
เจ้าหน้าที่องค์กรฟอร์ติฟายไรส์ แห่งสหรัฐอเมริกา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ โดยอ้างอิงถึงญาติของหนึ่งในกลุ่มชาวโรฮิงญาว่า ชาวโรฮิงญาชุดนี้ เดินทางมาจากค็อกซ์ บาซาร์ ในประเทศบังกลาเทศ ซึ่งมีชาวโรฮิงญาหลบหนีการทำร้ายโดยชาวเมียนมาไปอยู่ในค่ายพักพิงหลายแสนคน ในขณะที่เจ้าหน้าที่ไทยระบุว่า นายสมพงศ์ พาพันธ์ กัปตันเรือได้รับค่าจ้างในการเดินเรือไปยังประเทศมาเลเซีย ในอัตรา 100,000 บาท แต่เรือที่เป็นลักษณะเรือประมงขนาด 30 ตันกรอส กลับมาเกยหาดหินที่เกาะระวี ในเขตอุทยานเกาะตะรุเตาเสียก่อน
ในเรื่องนี้ พล.ต.ต.ศุภวัฒน์ ทับเคลียว ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสตูล กล่าวว่า ขณะนี้ ได้มีการตั้งชุดคณะกรรมการมาสืบสวนสอบสวนหาข่าวเพิ่มเติม โดยมีการบูรณาการทำงานหลายฝ่ายว่ายังมีชาวโรฮิงญาหลงเหลืออยู่ตามเกาะแก่งต่างๆ หรือไม่ โดยตนเป็นหัวหน้าชุดสืบสวนสอบสวน
ทั้งนี้ องค์กรฟอร์ติฟายไรท์ เปิดเผยข้อมูลเรื่องปัญหาอพยพย้ายถิ่นของชาวโรฮิงญาว่า นับตั้งแต่การที่ชาวโรฮิงญาหนีออกมาจากรัฐยะไข่ ในเมียนมา หรือจากค็อกซ์ บาซาร์ ในประเทศบังกลาเทศ เมื่อห้วงปี 2558 และมีการยุติไประยะหนึ่ง มีชาวโรฮิงญาเริ่มหนีออกจากถิ่นฐานเดิมมายังประเทศไทยโดยทางเรืออีกครั้ง ในตอนต้นปี 2561 นี้ หลังจากที่รัฐบาลเมียนมาเริ่มกวาดล้างชาวโรฮิงญาอย่างขนานใหญ่ ในเดือนสิงหาคม 2560 จนมีชาวโรฮิงญาอพยพไปยังประเทศบังกลาเทศ ราว 600,000 ถึง 700,000 คน
ในเดือนพฤษภาคม 2558 ประเทศไทยค้นพบศพกว่าสามสิบศพ ที่บริเวณเขาแก้ว ในอำเภอปาดังเบซาร์ สงขลา ซึ่งเชื่อว่าเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาและชาวบังกลาเทศ ที่ถูกขบวนการค้ามนุษย์นำพามา โดยมีจุดหมายปลายทางที่มาเลเซีย จนนำไปสู่การเปิดโปงขบวนการค้ามนุษย์ ที่มีทั้งนายหน้าต่างชาติ เช่น ชาวโรฮิงญา พม่า รวมทั้ง เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน และนักการเมืองท้องถิ่นไทยร่วมด้วย ซึ่งล่าสุด ศาลอาญาได้ตัดสินจำคุกจำเลยสำคัญ เช่น พลโทมนัส คงแป้น และจำเลยอีก 61 คน เมื่อเดือนกรกฏาคม 2560