ประเทศไทย: องค์กรสิทธิฯ ร้องรัฐสืบสวนการตายของเด็กสาวโรฮิงญา

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.11.10
กรุงเทพฯ
171110-TH-rohingya-620.jpg ชาวประมงให้น้ำดื่มแก่ชาวโรฮิงญาบนเรือที่ถูกปล่อยล่องลอย ใกล้เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2558
เอเอฟพี

ในวันศุกร์ (10 พฤศจิกายน 2560) นี้ องค์กรฟอร์ตี้ฟายไรท์ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องตรวจสอบการเสียชีวิตของผู้ต้องกักชาวโรฮิงญาวัย 16 ปี ซึ่งเสียชีวิตในสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จ.สงขลา เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ด้านตำรวจยืนยันจะมีการตรวจสอบการเสียชีวิตครั้งนี้แน่นอน

ฟอร์ตี้ฟายไรท์ เปิดเผยว่า น.ส.ไซนับ บีบี ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา อายุ 16 ปี ซึ่งถูกควบคุมตัวที่ห้องกัก สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จ.สงขลา ได้เสียชีวิตลงในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา หลังจากเป็นลม และมีเลือดออกที่ปากและจมูก ระหว่างการถูกควบคุมตัว ในวันที่ 27 ตุลาคม 2560 ซึ่งแม้เจ้าหน้าที่จะได้นำตัวส่งโรงพยาบาลอำเภอหาดใหญ่ แล้วแต่ไม่สามารถช่วยชีวิตไว้ได้ แต่เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้รับการชี้แจงอย่างเป็นทางการจากเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทย

น.ส.เอมี สมิธ ผู้อำนวยการบริหารฟอร์ตี้ฟายไรท์ ระบุผ่านแถลงการณ์ว่า น.ส.ไซนับมีอาการเลือดแข็งตัวผิดปกติ ส่งผลให้เกิดรอยฟกช้ำขนาดใหญ่ เลือดไหลได้ง่าย และเสียชีวิตจากการเลือดออกในสมอง จึงเรียกร้องให้รัฐไทยตรวจสอบและชี้แจงรายละเอียดการเสียชีวิตครั้งนี้

“การเสียชีวิตของไซนับ บีบี ไม่ควรเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและผ่านไปเฉยๆ ประเทศไทยต้องแก้ไขการปฎิบัติที่เลวร้ายต่อผู้ลี้ภัยทันที ไม่ควรต้องปล่อยให้ผู้ลี้ภัยต้องเสียชีวิตในห้องกัก ราวกับเป็นผู้กระทำความผิด” น.ส.เอมีระบุ

“การเสียชีวิตของไซนับ บีบี ถือเป็นโศกนาฎกรรม ซึ่งควรกระตุ้นให้ทางการไทยดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อยุติการควบคุมตัวผู้ลี้ภัย และแสวงหาการพักพิงให้แก่พวกเขาโดยไม่มีกำหนดเวลา ไซนับ บีบีควรที่จะได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด เนื่องจากเธอเป็นผู้ลี้ภัยเด็ก แต่กลายเป็นว่าเธอกลับต้องเสียชีวิตระหว่างการกัก” น.ส.เอมีกล่าว

น.ส.ไซนับ เป็นหนึ่งในเหยื่อการค้ามนุษย์ซึ่งถูกนำตัวออกจากประเทศเมียนมามายังประเทศไทย ในปี 2557 ก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่ทางการไทยควบคุมตัว และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ส่งต่อเธอมาควบคุมตัวในห้องกัก สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสะเดา โดยขณะนั้นเธออายุ 13 ปี และถูกควบคุมตัวต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบ 3 ปี ก่อนหน้าที่เธอจะเสียชีวิตหลายเดือน เธอต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นระยะ จากอาการเลือดแข็งตัวผิดปกติ จนกระทั่งเธอเสียชีวิตในต้นเดือนที่ผ่านมา

ด้าน พ.ต.อ.สังคม ตัดโส ผู้กำกับการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จ.สงขลา เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ผ่านทางโทรศัพท์ว่า ในการเสียชีวิตอย่างผิดธรรมชาติจะมีการสอบสวนการเสียชีวิตและตรวจสอบสภาพศพอยู่แล้ว แต่จะเป็นการดำเนินการโดย เจ้าหน้าที่ตำรวจเจ้าของพื้นที่ซึ่งในกรณีนี้เป็นพื้นที่ของสถานีตำรวจภูธร อ.หาดใหญ่ ซึ่งจะได้มีการทำรายงานการตรวจสอบในอนาคต

“การตายโดยผิดธรรมชาติต้องมีการสอบสวนอยู่แล้ว โดยเป็นอำนาจของตำรวจ สภ.หาดใหญ่ ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ การชันสูตรพลิกศพเขาทำเป็นปกติอยู่แล้ว ไม่ว่าใครจะตายที่ไหน ตำรวจจะตรวจอยู่แล้ว

หมอเขาคิดว่าเป็นมะเร็งในเม็ดเลือด ทำให้เขาป่วยไม่นานแล้วก็เสียชีวิต” พ.ต.อ.สังคมกล่าว

“ชาวโรฮิงญารายนี้ไม่สบายแล้วก็ถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาล โดยที่โรงพยาบาลมีน้องสาวซึ่งถูกกักอยู่ด้วยกันไปเฝ้า และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยเฝ้าด้วย ที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ รักษาในห้องธรรมดา พออาการดีแล้วเราก็มาไว้ที่ทำการต่อ แต่ปรากฎว่าระยะหลังเขาก็มีอาการอีก ตอนหลัง หมอเขาสงสัยว่าทำไมเป็นแล้วไม่หาย เขาเลยตรวจอาการ ซึ่งสุดท้ายเขานอนโรงพยาบาลหลายคืนแล้วก็เสียชีวิต” พ.ต.อ.สังคมกล่าวเพิ่มเติม

ฟอร์ตี้ฟายไรท์เผยแพร่แถลงการณ์ครั้งนี้เพื่อเรียกร้องให้ รัฐบาลไทยหามาตรการที่เหมาะสมในการดูแลผู้ลี้ภัย หรือผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยชี้ว่า การให้ผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ในห้องกัก ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเป็นระยะเวลายาวนานนั้น ไม่เหมาะสม และสภาพของห้องกักไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับการใช้ชีวิตอยู่เป็นระยะเวลานาน รัฐบาลไทยจำเป็นต้องหาวิธีดูแลผู้ลี้ภัยที่เหมาะสม เช่น อาจให้พวกเขาได้ออกมาอยู่กับคนในชุมชนแทนการควบคุมในห้องกัก หรือหาวิธีอื่นๆที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล เป็นต้น

“เป็นที่รู้กันดีว่าสถานที่ควบคุมตัวคนต่างด้าวในประเทศไทย มีสภาพไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำ ในห้องขังขาดความปลอดภัยหรือไม่มีพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับผู้ลี้ภัยที่เป็นเด็ก” น.ส.เอมีกล่าว

ปัจจุบัน มีชาวโรฮิงญาที่ถูกกักตัวในห้องกักแห่งนี้ 16 คน เป็นหญิง 7 คนและชาย 9 คน ตามรายงานในปี 2559 ของฟอร์ตี้ฟายไรท์พบว่า ห้องกักผู้ลี้ภัย ในสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสะเดา มีสภาพที่ย่ำแย่ เพราะขัดต่อหลักสุขลักษณะ ห้องน้ำไม่เหมาะสมกับสุขอนามัย ผู้ต้องกักต้องถูกควบคุมอย่างแออัดตลอด 24 ชั่วโมง และได้รับอาหารที่ไม่เพียงพอ

ในต้นปี 2560 มีผู้ลี้ภัยชาวปากีสถานรายหนึ่งเสียชีวิตจากอาการหัวใจล้มเหลวในห้องกักของ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ซอยสวนพลู กรุงเทพฯ โดยมีการรายงานว่า มีผู้ต้องกักอย่างน้อยที่สุด 3 ราย ที่เสียชีวิต ขณะถูกกักในห้องกักแห่งนี้เฉพาะปี 2560

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง